ฟังเสียงคนริมคลองแม่ข่า พร้อมเปลี่ยนแปลงหากให้โอกาสเติบโตพร้อมเมือง

ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ จ.เชียงใหม่ ยืนยัน ต้องพัฒนาคลองควบคู่ชุมชน ย้ำ ยังไม่มีนโยบายไล่รื้อชุมชน ด้าน “ตัวแทนชุมชน” เห็นพ้อง ต้องพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วย รับ ยังห่วงเรื่องค่าเช่า แต่ก็พร้อมเปลี่ยนแปลง

วันนี้ (23 ก.ค. 2565) ที่ วัดนันทาราม จ.เชียงใหม่ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส (The Active) ร่วมกับศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จัดเวทีสาธารณะ “คลองแม่ข่าที่ถูกลืม” ชวนสะท้อนความสำคัญของการพัฒนาเมือง ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตคนในชุมชน

เวทีช่วงเช้าเริ่มขึ้นราว 9.00 น. เปิดข้อมูล 4 ด้าน ของโอกาสการพัฒนาเมือง พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับตัวแทนชุมชน 23 ชุมชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่

ข้อมูลจากเวทีสาธารณะ ระบุว่า ที่ผ่านมาคลองแม่ข่าได้รับการปรับปรุงจัดระเบียบอยู่แล้ว เช่น ภูมิทัศน์ น้ำเสีย ปกป้องโบราณสถาน ปกป้องการบุกรุก การใช้ที่ดินให้ถูกกฎหมาย การจัดทำแผนแม่บท การจัดการที่อยู่อาศัย การจัดการคุณภาพชีวิต และการสร้างจิตอาสาทำงานร่วมกัน แต่ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำตามภาระหน้าที่ ทำให้การพัฒนาภาพรวมอย่างเป็นระบบไม่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะการจัดการที่อยู่อาศัยซึ่งมีความยากซับซ้อนในตัวกฎหมายในการจัดการที่ดินและการใช้ประโยชน์ ภูมิทัศน์ที่สวยงามและปรับเปลี่ยนไปก่อนหน้านี้จึงเป็นเพียงการพัฒนาที่ยังไม่ครอบคลุมชุมชนริมคลอง

คลองแม่ข่า

รศ.ชูโชค อายุพงศ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การพัฒนาคลองมีมานานกว่า 10 ปี โดยตั้งใจเริ่มต้นที่การบำบัดน้ำเสียก่อน เนื่องจากมีอาการสาหัสมาก ซึ่งปัจจุบันถือว่าดีขึ้นแต่ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด และเห็นว่าการพัฒนาชุมชนริมคลองก็มีความสำคัญที่ต้องทำควบคู่กัน แต่ที่ผ่านมาเนื่องจากขอบเขตที่ไม่ชัดเจน การใช้ประโยชน์ที่ดินซ้อนทับหลายหน่วยงาน การบังคับใช้กฎหมายมีความซับซ้อน

“เราจะพัฒนาคลองและชุมชนคู่ขนานกัน เริ่มทำจริงจังถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ยืนยันว่าภาครัฐไม่มีนโยบายที่จะไล่รื้อชุมชน”

ด้าน อัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ระบุว่า การพัฒนาทางเดิน คลอง ที่ชุมชนหัวฝายเป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่เกิดขึ้นได้จากการถอยของชาวบ้าน และการปรับปรุงครั้งนี้มีชาวบ้านร่วมแรงและลงขันกันเองด้วย นี่เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว

ขณะที่ตัวแทนชุมชนระแกงที่เข้าร่วมเวทีเสวนาครั้งนี้ บอกว่า เมืองเจริญเติบโตมากขึ้น แต่คนฐานรากไม่ได้โตตาม มีปัญหาด้านเศรษฐกิจรายได้ โดยเฉพาะช่วงสามปีให้หลัง ถ้าหากจะต้องมีภาระการผ่อนเช่าบ้านจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหรือไม่ แต่หากจะปรับปรุงให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นก็ยินดี แต่อยากอยู่ที่เดิม ยินดีให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน

“จะอยู่ที่ดินเดิม และจะร่วมมือกับทุกหน่วยงานอย่างเป็นระบบ แต่ขอจะทำอะไรก็ให้เข้ามาหาชุมชนก่อน”

เช่นเดียวกับตัวแทนชุมชนฟ้าใหม่ บอกว่าที่ผ่านมาพวกเขาดูแลคลองมาตลอด ทำระบบบำบัดน้ำเสียด้วย ชุมชนไม่ได้อยู่เฉย ๆ และอยากอยู่ในที่ดินเดิมเช่นกัน

ด้าน ชุมชนทิพย์เนตร บอกว่าแต่ละชุมชนไม่เหมือนกัน ความเว้าโค้งของลำน้ำ บ้านไม่เหมือนกัน พวกเขายินดีพัฒนาเปลี่ยนแปลง แต่ขอให้ชัดเจนเรื่องที่ดิน การเช่าที่ดิน 30 ปี เป็นเรื่องดี

“พร้อมจะปรับเปลี่ยน ผ่านโครงการบ้านมั่นคง ขอให้มั่นคงเรื่องที่ดินก่อน อยากให้หยุดมองว่าเป็นผู้บุกรุก ใช้ความรุนแรง หน่วยงานท้องถิ่นมาพูดคุย อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงการพัฒนา เข้าสู่ระบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อลูกหลาน”

สำหรับคลองแม่ข่า ในอดีตเป็นคลองระบายน้ำและใช้เพื่อการเกษตร แต่ปัจจุบันเป็นคลองที่ต้องรับน้ำเสียและส่วนใหญ่ไม่ผ่านการบำบัด ซึ่งรับน้ำจากทั่วทั้ง 8 อปท. ในจังหวัดเชียงใหม่ มีชุมชนริมคลองอาศัยอยู่ 23 ชุมชน ไม่ต่ำกว่า 1,700 ครัวเรือน อยู่อาศัยบนที่ดินทั้งที่มีโฉนด เช่าที่ดินราชพัสดุปีต่อปี เทศบาลฯ และที่ดินสาธารณะ การพัฒนาคลองแม่ข่าตามแผนแม่บทฉบับใหม่ที่กำลังจัดทำอยู่ขณะนี้ จะมีการปรับปรุงที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองอย่างจริงจัง โดยมี พอช. และกลุ่มสถาปนิกใจบ้าน ร่วมสำรวจข้อมูลและจัดวางผังใหม่ ออกแบบเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนริมคลอง ให้มีที่อยู่อาศัยมั่นคง มีที่ดินทำกินและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส