ไฟไหม้กุฏิ คร่าชีวิต ‘เด็กวัด’ บทเรียน ‘ทักษะความปลอดภัย’ ที่ต้องรู้

‘หมออดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์’ ชวนตั้งคำถาม เด็กวัดถูกไฟคลอกคากุฏิ เพราะขาด ‘ทักษะความปลอดภัย’ หรือไม่ ? เสนอ บ้าน วัด โรงเรียน เรือนนอน ติดตั้งระบบตัดไฟ หวั่นเหตุซ้ำรอย

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยกับ The Active ถึงความปลอดภัยในชีวิตประจำวันของเด็ก โดยยกกรณีไฟไหม้กุฏิ วัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี จนส่งผลให้มีเด็กวัดเสียชีวิต 3 คน ซึ่งผู้ดูแลให้ข้อมูลว่า เด็ก ๆ แอบหนีออกจากหอนอนไปเล่นในกุฏิ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบหาสาเหตุว่า เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรหรือไม่ และเด็กเสียชีวิตจากการถูกไฟช็อต หรือ ขาดอากาศหายใจจากการสำลักควัน

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์

ประเด็นที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว รศ.นพ.อดิศักดิ์ จึงขอแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลัก คือ กรณีการเลี้ยงดูเด็กกำพร้า และ ความปลอดภัยของสถานที่ โดยประเด็นแรก ไม่ว่าจะเด็กคนไหน ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ทุกคนต้องได้รับการดูแลทั้งหมด 5 ด้าน  คือ

  • การดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพใจ
  • การดูแลด้านโภชนาการ
  • การดูแลความปลอดภัย (ซึ่งคนมักหลงลืมเรื่องนี้ไป)
  • การมีความสัมพันธ์เชิงบวก ให้ความรัก ความอบอุ่น
  • การส่งเสริมการเรียนรู้

“สำหรับในกรณีเด็กกำพร้า หรือ เด็กที่ผู้ปกครองไม่สามารถเลี้ยงดูได้ เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องการเลี้ยงดู เพื่อให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ซึ่งการดูแลในวัยเด็กจะเป็น Long Life หรือ ผลระยะยาว เช่น หากเขามีสุขภาพกายใจไม่ดี ศักยภาพการเรียนรู้ไม่ดี พฤติกรรมสังคมไม่ดี จะส่งผลให้เขาโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีคุณภาพ

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์

เด็กแต่ละช่วงวัย ผู้ปกครองต้องใส่ใจอะไรบ้าง ?

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ระบุว่า ช่วงอายุ 0-6 ขวบ คือ ช่วงวัยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องอยู่ในระยะมองเห็น คว้าตัวได้ จัดให้อยู่ในสถานี่ที่ปลอดภัย ช่วงอายุ 6-12 ปี เด็กควรได้รับการสอน สาธิตให้ดู ให้เกิดการเรียนรู้ในการดูแลตัวเอง สอนวิธีการทางสังคม ให้เรียนรู้ว่าอะไรปลอดภัย อะไรไม่ปลอดภัย และจัดพื้นที่ปลอดภัยให้เขาอยู่

แต่เมื่อเด็กไม่ได้มีพ่อแม่ หรือผู้ปกครองดูแล หน้าที่เหล่านี้ หากอยู่ในสถานสงเคราะห์ จะเป็นของเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก หรือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และอาจจะมีเป็นมูลนิธิ หรือวัด ที่ได้รับการรับรองทางสังคม ซึ่งวัดสวนแก้วก็คือสถานที่ที่สังคมให้การรับรองเช่นกัน

เหตุไฟไหม้กุฏิวัดสวนแก้ว (22 พ.ค. 67) เป็นเหตุให้เด็กวัด 3 คนเสียชีวิต

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ระบุว่า จากกรณีไฟไหม้ที่วัดสวนแก้ว พบว่าเป็นเด็กอายุ 9 – 11 ปี ที่เสียชีวิต หากได้รับการเลี้ยงดูตามหลักที่ควรได้ โดยเฉพาะทักษะความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น ทางน้ำ ทางถนน ไฟฟ้า ไฟไหม้ อาจจะสามารถเอาตัวรอด หรือไม่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่อาจเกิดอันตรายได้

ต่อมาคือประเด็นเรื่องสถานที่ รศ.นพ.อดิศักดิ์ มองว่า จากข้อสังเกตที่มีการตั้งคำถามว่าเด็ก ๆ อาจถูกไฟฟ้าช็อตหรือไม่นั้น เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดเหตุร้ายกับสถานที่ต่าง ๆ จึงควรติดตั้งสายดิน คัตเอาท์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย แต่จากการสำรวจ มักพบว่า โรงเรียน บ้าน วัด มักไม่มีสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเทียบเคียงกรณีไฟไหม้หอพักนักเรียนที่ จ.เชียงราย จนมีเด็กเสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้นโรงนอน เรือนนอน ควรติดตั้งระบบตัดไฟ และที่สำคัญเด็กต้องได้ซ้อมแผนหนีไฟเพื่อการเอาตัวรอดด้วย

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ชี้ว่า ต้องย้อนกลับไปดูประเด็นที่มาของเด็ก ที่ไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้ถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร เพราะพวกเขาเพิ่งมาอาศัยอยู่ที่วัดไม่นาน จึงเสนอว่า กรณีเช่นนี้ควรให้เด็กเข้ารับการประเมินพฤติกรรม อารมณ์ พัฒนาการ ว่า เทียบเท่ากับเด็กวัยเดียวกันหรือไม่ ซึ่งหากไม่ ผู้ดูแลอาจจะต้องให้ความใส่ใจเขาเหมือนเด็กเล็ก หรืออาจจะต้องให้จิตแพทย์ใช้ยาช่วยรักษา ปรับพฤติกรรม ให้พัฒนาตามวัย 

“แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเด็กชายแฝดคนพี่ อายุ 9 ขวบ ที่เพิ่งสูญเสียแฝดน้อง เขาเริ่มใกล้ช่วงเข้าสู่วัยรุ่น เด็กเริ่มรู้จักความสูญเสีย รู้จักนามธรรมมากขึ้น ควรมีกลไกลนักจิตวิทยาเข้าไปดูแลด้านจิตใจ”

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active