แรงงานกัมพูชา ทยอยข้ามแดนกลับบ้านต่อเนื่อง – ศบ.ทก. ประณามทหารกัมพูชา ไม่จริงใจหยุดยิง!

ศบ.ทก. แถลงยัน กัมพูชายังใช้อาวุธหนัก ยิงใส่ไทย อย่างไร้มนุษยธรรม พร้อมปฏิเสธเจรจามาตลอด ใช้กระแสชาตินิยมปลุกปั่นความขัดแย้งแก่ประชาชน 2 ประเทศ วอนชาวไทยใช้สติ ขณะที่ ก.คมนาคม หนุนภารกิจ ขนส่ง ขนย้ายประชาชน กำลังพล เต็มที่

09.00 น.

วันนี้ (27 ก.ค. 68) ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า ชาวกัมพูชา บริเวณด่านถาวรบ้านแหลม ต.เทพนิมิต อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี นับ 10,000 คน มาพร้อมสัมภาระเพื่อรอคอยข้ามแดน โดยบางคนต้องลากสัมภาระที่ขนมาด้วยตัวเอง แต่บางคนก็จ้างรถรับจ้างนำของข้ามแดนไปส่ง ซึ่งขณะนี้ก็สามารถระบายคนออกไปได้เป็นจำนวนมาก 

สำหรับมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยทางฝั่งบ้านแหลม เจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินจันทบุรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี รวมถึงเจ้าหน้าที่จากสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนจังหวัดจันทบุรี ต่างก็จัดพื้นที่อำนวยความสะดวก และจัดเตรียมหน่วยพยาบาลค่อยดูแลประชาชนชาวกัมพูชาเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม ถึงแม้สถานการณ์ในขณะนี้ทั้ง 2 ประเทศจะมีความขัดแย้งกันก็ตาม เบื้องต้นจากการคาดการณ์ของเจ้าหน้าที่ คาดว่าชาวกัมพูชาที่เดินทางผ่านข้ามแดนที่ด่านบ้านแหลม จะอยู่ที่ 12,000 คน แต่ก็ยังคงมีชาวกัมพูชาทยอยเดินทางอย่างต่อเนื่อง

12.00 น.

ศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์เรือนชายแดนไทย -กัมพูชา (ศบ.ทก.) โดย พล.ร.ต. สุรสันต์ คงสิริ โฆษก ศบ.ทก.ด้านความมั่นคง พร้อมด้วย มาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงสรุปสถานการณ์ชายแดนไทยกัมพูชา ในประเด็นด้านความมั่นคง จากประเด็น การเรียกร้องของหลายประเทศให้ไทย-กัมพูชาหยุดยิง ซึ่งไทยเห็นด้วยในหลักการแต่จะทำได้ กัมพูชาจะต้องมีความจริงใจและเข้าร่วมในขั้นขั้นตอนและรายละเอียดต่างๆ รวมทั้งหยุดยิงเป็นที่ประจักษ์ แต่กัมพูชายังส่งกำลังปะทะในพื้นที่บริเวณชายแดน เขาพระวิหารเวลา 02:10 น. และยิงจรวด BM-21 ในช่วงเช้าเวลา 6.10 น.ที่ผ่านมาในพื้นที่บ้านตาโส อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ทำให้บ้านเรือนเสียหาย

และเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2568 เวลา 15:30 น. กระสุนปืนใหญ่ของกัมพูชาพุ่งเป้าใส่โรงพยาบาลในพื้นที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศรีสะเกษ และโรงพยาบาลบ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ยังใช้ประชาชนกัมพูชาเป็นโล่ห์กำบังตั้งอาวุธยิง ถือเป็นการใช้ประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างไร้มนุษยธรรม ถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวาอย่างชัดเจน และขอประณามเรื่องของความไม่จริงใจในการพูดคุยจากฝ่ายกัมพูชา ที่ผ่านมาฝ่ายกัมพูชาได้ปฏิเสธและเลื่อนการพูดคุยในเวทีทวิภาคีหลายครั้ง ทั้งเวที JBC GBC หรือ RBC ซึ่งมองว่าการประชุมต่าง ๆ สามารถนำประเด็นที่เป็นปัญหาข้อขัดแย้ง สามารถพูดคุยได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่

พล.ร.ต. สุรสันต์ คงสิริ โฆษก ศบ.ทก.ด้านความมั่นคง

“สังเกตได้ว่าที่ผ่านมากัมพูชามีการเสริมกำลังทางทหาร มีการเตรียมที่มั่นดัดแปลงในพื้นที่ชายแดนอย่างต่อเนื่อง มีการวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาออตตาวา และการแสดงท่าทียั่วยุส่งเสริมการปลุกระดมมวลชนชาวกัมพูชา ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าสู่ความตึงเครียดบริเวณแนวชายแดน พร้อมทั้งใช้กระแสชาตินิยมปลุกปั่น หวังยกระดับให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ตลอดจนการแสดงออกท่าทีความพร้อมในการใช้กำลังทหาร ผ่านช่องทางสื่อสารสังคมออนไลน์ ด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริง กล่าวหาประเทศไทยอย่างไร้หลักฐานที่เป็นชนวนของความไม่พอใจและนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในเวลาต่อมา” 

โฆษก ศบ.ทก. ยังสรุปสถานการณ์ที่ผ่านมา ตามที่ผู้แทนเหล่าทัพในพื้นที่รายงานมาคือฝ่ายกัมพูชายังคงดำเนินการใช้อาวุธหนัก ทั้งปืนใหญ่ ปืนใหญ่กระสุนวิถีโค้ง จรวดหลายลำกล้อง MB-21 ข่าวสารความเคลื่อนไหวว่าอาจมีการใช้อาวุธที่มีประสิทธิภาพ เช่น PHL03 RM70 และBM21 จรวดหลายลำกล้อง 

ส่วนยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในวันนี้ (27 ก.ค. 68) นับตั้งแต่เวลา 09:00 น. เป็นต้นมา เสียชีวิตทั้งหมด 13 คนยังคงเดิม บาดเจ็บสาหัสเพิ่ม 1 คน เป็นจำนวน 11 คน บาดเจ็บปานกลาง 12 คน และบาดเจ็บเล็กน้อย 13 คน รวมยอดทั้งหมด 49 คน  พร้อมกันนี้ได้กล่าวชื่นชมหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ในการช่วยเหลือประชาชนในการอพยพจากพื้นที่โดยเร่งด่วน ให้อยู่ในที่ที่ปลอดภัย

สำหรับปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน  ชี้ว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาลกัมพูชา ไม่ใช่เกิดจากปัญหาโดยประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ จึงขอวอนให้ประชาชนชาวไทยหยุดแสดงความรุนแรงด้วยการใช้ถ้อยคำหรือใช้กำลัง หรือการดูหมิ่นเหยียดหยาม ชาวกัมพูชาที่อยู่ในไทยอย่างสุจริต เช่น ผู้ใช้แรงงาน นักเรียน นักศึกษาชาวกัมพูชา หรือผู้ประกอบการในทุกสาขาวิชาชีพ เว้นกรณีที่ชาวกัมพูชาแสดงกิริยาก้าวร้าวขอให้ใช้สติและเหตุผล พูดจาตักเตือนโดยหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงหากเหตุสุดวิสัยขอให้แจ้งเจ้าที่บ้านเมืองในการดำเนินการทางกฎหมาย

ก.คมนาคม พร้อมสนับสนุนภารกิจเคลื่อนย้ายประชาชน-กำลังพล

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม ได้ออกมาตรการใน 5 มิติ เพื่อให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการรักษาอธิปไตยของประเทศในพื้นที่ชายแดนไทย – กัมพูชา ดังนี้ 

มิติที่ 1 การอพยพประชาชนและการเคลื่อนย้าย ให้จัดเตรียม และระดมยานพาหนะภาครัฐ เช่น รถโดยสาร รถบรรทุก หรือรถไฟ เพื่อใช้ในการอพยพประชาชนจากพื้นที่เสี่ยง พร้อมจัดตั้งจุดพักคอยหรือสถานีรับ – ส่งที่ปลอดภัยบริเวณใกล้ชายแดน โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดตารางการบินเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของเครื่องบินกองทัพอากาศให้เกิดความปลอดภัยทางด้านการบินสูงสุด และเกิดความรวดเร็วในการดำเนินภารกิจ 

มิติที่ 2 การดูแลโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ให้ตรวจสอบและประเมินความเสียหายของโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่ปะทะ ดำเนินการซ่อมแซมฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย และสนับสนุนการลำเลียงสิ่งของหรือการเคลื่อนย้ายประชาชน ปิดกั้นหรือเบี่ยงเส้นทางที่ไม่ปลอดภัย พร้อมติดตั้งป้ายแจ้งเตือนล่วงหน้า และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของทุกระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ 

มิติที่ 3 การสนับสนุนด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง ให้จัดระบบลำเลียงสิ่งของบรรเทาทุกข์ และความช่วยเหลือจากส่วนกลางสู่พื้นที่ชายแดน ตลอดจนสนับสนุนการขนส่งอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ และวางแผนเส้นทางสำรองสำหรับการขนส่งสินค้า เพื่อลดผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์ 

มิติที่ 4 การสื่อสารข้อมูลและการประสานงาน โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านคมนาคมในภาวะฉุกเฉิน ภายใต้การกำกับของกระทรวงคมนาคม พร้อมเปิดช่องทางติดต่อสายด่วนตลอด 24  ชั่วโมง สำหรับสอบถามการเดินทาง การขนส่ง เส้นทางที่ปลอดภัย และเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน และโชเชียลมีเดียของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมอย่างต่อเนื่อง

ส่วนมาตรการในมิติที่ 5 คือ การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและเครื่องจักรกล โดยเตรียมเจ้าหน้าที่จากกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยง จัดเตรียมเครื่องจักรกลหนัก เช่น รถบรรทุก รถขุด พร้อมเข้าดำเนินการเมื่อมีความจำเป็น และสนับสนุนหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (Mobile Units) สำหรับช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน ทั้งนี้ ขอให้ ทุกหน่วยงานจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมงจนกว่าสถานการณ์จะสงบ

ขณะที่ อรรถวิท รักจำรูญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า บขส. ร่วมบรรเทาความเดือดร้อน จากเหตุการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา โดย เปิดศูนย์รับ – ส่ง สิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค และของใช้จำเป็น เช่น น้ำดื่ม อาหารกระป๋อง และยารักษาโรค เป็นต้น ไม่คิดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยชายแดนไทย – กัมพูชา 

โดย บขส. จะเป็นสื่อกลางในการรวบรวมสิ่งของบริจาค และจะทำการขนส่งสิ่งของไปยังสถานีเดินรถในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ อุบลราชธานี หลังจากนั้นจะประสานเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับสิ่งของบริจาค เพื่อนำไปแจกจ่ายให้พี่น้องประชาชนที่ศูนย์อพยพในแต่ละพื้นที่ต่อไป 

ผู้ที่มีจิตศรัทธาสามารถฝากส่งสิ่งของฯ ได้ที่ ศูนย์รับ – ส่งพัสดุภัณฑ์ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือ หมอชิต 2 ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป ในเวลา 08.30 – 16.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ศูนย์รับ – ส่งพัสดุภัณฑ์ (จตุจักร) โทร. 02 – 537 – 8480

นอกจากนี้ บขส. ยังมีความพร้อมที่จะเป็นหน่วยงานสนับสนุน ภารกิจของประเทศไทย โดยการจัดรถโดยสาร รับ – ส่ง ประชาชน และกำลังพล ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชนอีกด้วย 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active