ชาวบ้านในศูนย์อพยพยังหวั่นใจ วอนทุกฝ่ายหยุดยิง – ยอดอพยพทะลุ 1.3 แสนคน

บรรยากาศเมืองสุรินทร์เงียบเหงา หลังผู้ว่าฯ เตือนระวังภัยจากชายแดน ฝั่ง ชาวบ้านในศูนย์อพยพ สะท้อน “คิดว่าที่นี่จะปลอดภัยที่สุดแล้ว” กลับต้องอยู่อย่างหวาดระแวง ขณะที่ สธ.เผย โรงพยาบาลได้รับผลกระทบ 19 แห่ง ยอดผู้อพยพ สะสมทะลุ 1.3 แสนคน

วันนี้ (27 ก.ค. 68) The Active ลงพื้นที่ในตัวเมือง จ.สุรินทร์ พบว่า บรรยากาศเงียบเหงาอย่างเห็นได้ชัด ร้านสะดวกซื้อ และสถานีบริการน้ำมันหลายแห่งเริ่มทยอยปิดให้บริการ หลังมีคำเตือนจากผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เตือนประชาชน เลี่ยงพื้นที่รัศมี 120 กม. จากแนวชายแดน หลังพบความเคลื่อนไหวกองทัพกัมพูชา นำจรวด PHL-03 และ KS-1C ซึ่งมีพิสัยยิงไกลถึง 120 กิโลเมตร เข้าประจำการในจังหวัดอุดรมีชัย ตรงข้ามจังหวัดสุรินทร์ ให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เมื่อวานนี้

ในขณะที่ ประชาชนจำนวนมากเริ่มอพยพออกจากพื้นที่ด้วยความกังวล แต่ยังมีกลุ่มชาวบ้านที่หนีภัยจากเขตชายแดนบริเวณ อ.พนมดงรัก อ.กาบเชิง เข้ามาพักยังศูนย์อพยพ ในตัวเมืองสุรินทร์ ตั้งแต่ ช่วง 3 – 4 วันที่ผ่านมา ต่างก็ตกใจและรู้สึกไม่มั่นใจในความปลอดภัยของพื้นที่

“นึกว่าจะปลอดภัยที่สุดแล้ว” เสียงสะท้อนจากหลายชีวิตในศูนย์อพยพ

รัง สมเสร็จ ชาวบ้านตำบลบักได อ.พนมดงรัก วัย 85 ปี เล่าว่า ตนและครอบครัว 5 คน อพยพมายังตัวเมืองสุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม โดยทิ้งให้ลูกหลานผู้ชายอยู่เฝ้าบ้านและสัตว์เลี้ยงที่บ้าน แม้มีหน่วยงานรัฐและเอกชนเข้าช่วยเหลือที่ศูนย์อพยพ แต่สภาพความเป็นอยู่ก็ยังห่างไกลจากคำว่าสะดวกสบาย

รัง สมเสร็จ ชาวบ้านตำบลบักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์

“เมื่อคืนฝนก็ตก ยุงก็เยอะ ยายแทบนอนไม่หลับ ถ้าแค่ปืนเล็กยายไม่กลัวหรอก แต่ถ้าเป็นปืนใหญ่เสียงมันดังกว่า ยายกลัว ก็เลยยกกันออกมา เพราะมีข่าวว่าใช้ปืนใหญ่ อยากให้สถานการณ์คลี่คลายเร็ว ๆ จะได้กลับบ้าน เพราะไม่รู้จะอพยพไปที่ไหนอีก”

รัง สมเสร็จ

ขณะที่ วันทอง ผมพุ่ย ชาวบ้านจากตำบลบักได อีกคนที่พาครอบครัวซึ่งมีหลานเล็กวัย 2 ขวบ และหลานชายวัย 13 ปี มาอยู่ในศูนย์อพยพ เปิดเผยความกังวลเช่นกัน โดยเฉพาะหลังได้ยินคำเตือนจากผู้ว่าฯ ว่า ขีปนาวุธสามารถยิงไกลได้ถึง 130 กิโลเมตร

วันทอง ผมพุ่ย ชาวบ้านตำบลบักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์

“เราหนีมาจากแนวชายแดน ก็คิดว่าที่นี่จะปลอดภัย แต่ถ้ามันยิงมาถึงตรงนี้ได้จริง แล้วจะให้พวกเราอพยพไปไหนต่อ ? ครอบครัวผู้หญิงล้วนมาอยู่ที่นี่ ส่วนผู้ชายยังอยู่เฝ้าบ้าน และหากเกิดเหตุร้ายขึ้น ศูนย์อพยพก็ไม่แน่ว่าจะรอด”

วันทอง ผมพุ่ย

ชาวบ้าน ยังแสดงความเห็นใจผู้คนฝั่งกัมพูชาเช่นกัน โดยมองว่า ก็คงได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการสู้รบ และหันหน้าเจรจาอย่างสันติ

กองทัพภาค ที่ 2 ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก

ทั้งนี้จากกระแสข่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ ที่อ้างว่ากัมพูชาจะยิงขีปนาวุธมายังไทย กองทัพภาคที่ 2 ได้ออกประกาศชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานยืนยันจากหน่วยราชการหรือหน่วยงานด้านความมั่นคงแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือประชาชนงดแชร์หรือส่งต่อข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ พร้อมแนะนำให้ติดตามข่าวสารผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการ เช่น เพจ “กองทัพบก Royal Thai Army” และ “กองทัพภาคที่ 2” เพื่อป้องกันความตื่นตระหนกจากข่าวปลอม

สธ.เผยสถานการณ์ชายแดนยังวิกฤต!
พลเรือนเสียชีวิต 13 คน รพ. 19 แห่ง ได้รับผลกระทบ

ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงความห่วงใยต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-กัมพูชา พร้อมสั่งการระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบ

จากรายงานล่าสุดเมื่อเวลา 11.30 น. พบว่า มีพลเรือนเสียชีวิต 13 คน บาดเจ็บสาหัส 11 คน บาดเจ็บปานกลาง 12 คน และบาดเจ็บเล็กน้อย 13 คน รวม 49 คน ขณะนี้ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 15 คน และมีผู้ที่อาการดีขึ้นกลับบ้านแล้ว 8 คน

สำหรับสถานพยาบาลที่ได้รับผลกระทบรวม 19 แห่ง โดยต้องปิดให้บริการทั้งหมด 11 แห่ง เพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง ได้แก่

• โรงพยาบาลนาจะหลวย จ.อุบลราชธานี

• โรงพยาบาลบัวเชด และโรงพยาบาลสังขะ จ.สุรินทร์

• โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์

ขณะที่อีก 8 แห่งต้องปิดบริการบางส่วน รวมถึงโรงพยาบาลละหานทราย จ.บุรีรัมย์

ยอดผู้อพยพทะลุ 1.3 แสนคน – กลุ่มเปราะบางเกือบ 2.1 หมื่นคน

ข้อมูลจากศูนย์พักพิงชั่วคราวใน 6 จังหวัดชายแดน ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ตราด และสระแก้ว ระบุว่า ขณะนี้มีผู้อพยพอยู่ภายในศูนย์รวม 138,152 คน จากความสามารถในการรองรับสูงสุด 358,410 คน โดยจังหวัดศรีสะเกษมีผู้อพยพมากที่สุดถึง 62,691 คน

สำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง มีจำนวนรวม 21,076 ราย โดยศรีสะเกษมีมากที่สุด 8,267 ราย รองลงมาคือสุรินทร์ 4,988 ราย

แม้หน่วยงานภาครัฐจะเร่งระดมกำลังดูแล แต่สถานการณ์ยังคงตึงเครียดและต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ขณะที่เสียงจากชาวบ้านสะท้อนความหวังเดียวกันว่า อยากให้เสียงปืนหยุดลงโดยเร็ว เพื่อที่พวกเขาจะได้กลับบ้านอีกครั้ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active