วิกฤต! ค่ายลี้ภัย จ.พะอัน รัฐกะเหรี่ยง เด็กนับร้อยขาดอาหาร-น้ำสะอาด

ทีมแพทย์ รพ.ท่าสองยาง จ.ตาก ลงพื้นที่ช่วยเหลืออาหาร ฉีดวัคซีน วางระบบน้ำประปา เพื่อสุขอนามัยค่ายอพยพ พบเด็กหลายคนพลัดหลงพ่อแม่ระหว่างหนีภัยสงคราม หวั่นกลายเป็นเด็กกำพร้า หวังยกระดับ ‘ระเบียงมนุษยธรรม พื้นที่ปลอดการสู้รบ’  

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 67 The Active ลงพื้นที่ ต.เซ้หม่อกู้​ อ.ลาบอย​ จ.พะอัน​ รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา บริเวณชายแดนติดกับประเทศไทย พร้อมกับทีมบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดยข้ามแม่น้ำเมย และนั่งรถต่อเข้าไปอีกกว่า 2 กิโลเมตร เพื่อไปยัง โรงเรียนคริสตจักรมอโพเก๊ะ ซึ่งกลายเป็นค่ายอพยพรองรับเด็ก ๆ ที่พ่อแม่นำมาฝากไว้กับบาทหลวง หลังจากที่ต้องหนีภัยการสู้รบภายในเมียนมา

ที่นี่มีครู 20​ คน และเด็กอายุ 2-19 ปี ราว ๆ 300 คน อพยพมาจากหลายเมือง ทั้งรัฐฉาน มอญ ฯลฯ กำลังอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหาร น้ำสะอาด อาศัยอยู่ในเพิงพักด้วยความแออัด ไม่มีมุ้งกันยุง ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อระบาด

นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง ระบุว่า ได้ตัดสินใจใช้งบประมาณจาก มูลนิธิโรงพยาบาลท่าสองยางเพื่อชนชายขอบ ซื้ออาหารสด จากฝั่งประเทศไทย ข้ามมายังฝั่งยังค่ายอพยพแห่งนี้เป็นครั้งแรก หลังสำรวจพบว่า เด็ก ๆ ภายในค่ายฯ ร่างกายผอมโซ ขาดสารอาหาร โปรตีน และเสี่ยงที่จะท้องร่วงเนื่องจากน้ำไม่สะอาด และไม่มีน้ำใช้อุปโภค จึงวางแผนว่าจะพัฒนาระบบน้ำประปา สูบน้ำขึ้นมาจากแม่น้ำเมยที่อยู่ด้านข้างขึ้นมาใช้

น้ำสะอาดดื่มได้ช่วยยกระดับสุขอนามัย ป้องกันโรคท้องร่วง แต่ยังขาดแคลนในค่ายลี้ภัยแห่งนี้

“ผมมองว่าเป็นโจทย์ใหม่สำหรับสาธารณสุขชายแดน ซึ่งแม้ที่ผ่านมาจะมีการสู้รบกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้หนักกว่าทุกครั้ง จนมีเด็กๆอพยพมารวมกันอยู่ที่บริเวณนี้ ซึ่งเห็นแล้วน่าสงสารและน่าเป็นห่วงมาก” 

นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์
นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผอ.โรงพยาบาลท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ผู้ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ประจำปี 2562 และ 2563

นอกจากอาหารแล้ว ทีมบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลท่าสองยาง ยังจัดเตรียมวัคซีนพื้นฐาน เช่น วัคซีนโปลิโอ, หัด, บาดทะยัก, ไอกรน รวมถึงวัคซีนมะเร็งปากมดลูก หรือ HPV มาฉีดให้กับเด็ก ๆ เพื่อป้องกันโรคระบาด​ ขณะนี้เป็นห่วง โรคไข้มาลาเรียที่มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทั้งฝั่งไทย และเมียนมาจากหลักร้อยเป็นหลักพัน ในช่วงปี 2565 เป็นต้นมา คาดว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการอพยพโยกย้าย 

หวังระเบียงมนุษยธรรม-พื้นที่ปลอดการสู้รบเกิดขึ้นจริง

ขณะที่การผลักดัน นโยบายระเบียงมนุษยธรรม จากรัฐบาลไทยนั้น นพ.ธวัชชัย มองว่า เห็นความพยายามการผลักดัน แต่สำหรับพื้นที่ อ.ท่าสองยาง ยังไม่มีมีความเคลื่อนไหว แต่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลซึ่งเป็นด่านหน้าอยู่แล้ว ก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ อย่างไม่รอช้า 

เมื่อถามว่ากังวลท่าทีการให้ความช่วยเหลืออาจถูกมองว่าสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งถือเป็นประเด็นอ่อนไหวที่กระทรวงการต่างประเทศระมัดระวังอย่างมากนั้น นพ.ธวัชชัย ยืนยันว่า ไม่คิดเช่นนั้น เพราะไม่ว่ากลุ่มใดที่เดือดร้อน ก็พร้อมจะให้ความช่วยเหลือทุกกลุ่ม แต่กลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่ใกล้กับโรงพยาบาล ซึ่งตามหลักการสาธารณสุขไม่มีการแบ่งแยกอยู่แล้ว มองว่าเป็นการช่วยเพื่อนบ้านของเรา 

ผอ.โรงพยาบาลท่าสองยาง บอกด้วยว่า หากสถานการณ์การสู้รบในเมียนมายืดเยื้อ การให้ความช่วยเหลือก็ยังจำเป็นต้องช่วยกันต่อเนื่อง ขณะที่ยอมรับว่างบประมาณที่ใช้ดำเนินงานมาจากมูลนิธิโรงพยาบาลฯ ซึ่งมีจำกัด จึงอยากฝากผ่านสื่อไปยังพี่น้องประชาชนชาวไทย ที่ได้รับทราบข่าวนี้สามารถ บริจาคเข้ามาที่มูลนิธิของโรงพยาบาลฯ ซึ่งพร้อมจะเป็นสะพานส่งต่อความช่วยเหลือ โดยสามารถบริจาคได้ทั้งเงินอาหารและสิ่งของต่าง ๆ ที่จำเป็น มาที่โรงพยาบาล หรือ โอนเข้าบัญชีมูลนิธิโรงพยาบาลท่าสองยาง เพื่อชนชายขอบ ธนาคารกรุงไทย เลขบัญชี 6040501294 และธนาคารออมสิน เลขบัญชี 020186196646

“หากสถานการณ์เลวร้ายลง เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด การโจมตีรุกคืบเข้ามาถึงบริเวณนี้ แน่นอนว่าเมื่อตรงนี้อยู่ไม่ได้ เด็กๆทุกคนก็คงจะข้ามไปฝั่งไทย” 

นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์
บาทหลวงเมี๊ยะโส ผู้อำนวยการโรงเรียนคริสตจักรมอโพเก๊ะ จ.พะอัน​ รัฐกระเหรี่ยง

เมี๊ยะโส​ บาทหลวง​โรงเรียนคริสตจักรมอโพเก๊ะ จ.พะอาน​ รัฐกระเหรี่ยง​ เปิดเผยว่า พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุด ที่ยังไม่ถูกโจมตี ผู้ปกครองจึงนำเด็ก ๆ มาฝากไว้ แต่สถานการณ์ตอนนี้มีแนวโน้มอาจถูกโจมตีได้ในอนาคต จึงทำให้มีผู้ปกครองบางส่วนพาลูกกลับไป หนีไปอยู่ที่อื่นไม่ทราบว่าเป็นที่ใด ขณะที่เด็กบางส่วนที่หนีการสู้รบจากในของเมียนมา ก็หนีขึ้นรถมาพลัดหลงจากผู้ปกครองไม่สามารถติดต่อได้ซึ่งน่าเป็นห่วงมากเด็กกลุ่มนี้บาทหลวงอาจจะต้องดูแลไปจนเติบโต เพราะคงทิ้งไปไม่ได้ 

เมี๊ยะโส ไม่รู้ว่าพื้นที่ใดกันแน่ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดจากการสู้รบ หากเป็นไปได้เขาอยากให้พื้นที่ค่ายอพยพแห่งนี้ได้รับการผลักดัน ให้เป็นระเบียงมนุษยธรรม ที่การันตีได้ว่าจะปลอดภัย​ และความช่วยเหลือเข้ามาถึง 

“วันนี้อยากขอบคุณทีมคุณหมอที่เข้ามา ให้ความช่วยเหลือ เด็ก ๆ ที่นี่กินอาหารแค่วันละ 2 มื้อ คือมื้อเช้ากับมื้อเย็น ถ้าไม่มีใครนำของมาบริจาคก็จะได้กินข้าวกับต้มมะเขือเทศ และต้มข้าวโพด ไม่มีเนื้อสัตว์ เพราะไม่มีเงินซื้อและก็ต้องแบ่งกันให้พอกิน เด็กบางคนตกกลางคืนก็ฝันร้าย เพราะภาพบ้านถูกเผาติดตา” 

เมี๊ยะโส
ครูต้องตักข้าวให้เยอะกว่ากับ เพื่อเฉลี่ยแบ่งกันกินให้เพียงพอ และอิ่มท้อง โดยมื้อนี้เป็นมื้อที่ดีที่สุดในรอบหลายวัน
เพราะได้เนื้อไก่สดจาก รพ.ท่าสองยาง

พอลีมู​ นักเรียนหญิง​ อายุ 19 ปี อยากให้สงครามจบลงเร็ว ๆ ทุกวันนี้ไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป พ่อแม่ก็ไม่ได้เจอกัน การเรียนก็ต้องสะดุดลง เธออยากไปทำงานที่ฝั่งประเทศไทย เพราะเมียนมาไม่มีงานทำ 

พอลีมู

พอลีมู พาทีมข่าว The Active ดูที่นอนของเธอซึ่งอยู่เกือบจะติดพื้นดิน รองด้วยแผ่นไม้กระดาน ต้องนอนกับเพื่อนอีก 3 คน โดยที่ไม่มีมุ้งกันยุง ขณะที่ทั้งชั้นบน และชั้นล่างของอาคารหลังนี้ ซึ่งแยกเป็นหอพักหญิง เพื่อน ๆ ก็นอนแออัดกันอยู่แล้ว จึงต้องออกมานอนข้างนอก แม้จะต้องเผชิญกับความยากลำบาก แต่เธอก็ยังขอบคุณพระเจ้าที่ทำให้ที่เธอยังปลอดภัย และยังมีชีวิตอยู่ ก็ยังมีความหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active