ผู้หญิง คนแก่ ชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ ไม่ใช่ “คนอื่น” ลดอคติอย่างเข้าใจ

ภาคประชาสังคม ชี้ อย่าผลักประชากรกลุ่มเฉพาะให้กลายเป็นคนอื่น ขอให้สังคมลดอคติ ทำความเข้าใจก่อนจะสายเกินเแก้

วันนี้ (23 พ.ย. 67) Mutual ร่วมกับ สสส. จัดเวทีเสวนา “Face the Changer : ฟัง 4 เสียงเปลี่ยนอคติให้เป็นโอกาส“ โดย ถอดบทเรียนจาก 5 นักขับเคลี่อนระดับนโยบาย ส่งเสียงแทนกลุ่มคนเปราะบางเพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายในกิจกรรม “ FACE THE VOICE’ มองด้วยตา ฟังด้วยใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ณ มิวเซียมสยาม (Museum Siam) กรุงเทพฯ

โดยอคติต่อกลุ่มคนที่เกิดขึ้นในสังคมที่หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นมากตอนนี้ ได้แก่ กลุ่มชาติพันธ์ุ ผู้หญิง แรงงานข้ามชาติ และผู้สูงวัย ซึ่ง นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ประธานกรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส และอดีต ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ชี้ว่า เหตุที่สังคมมองด้วยสายตาเช่นนี้ เพราะมีที่มาที่ไปจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน

“สมัยก่อน อาณาจักรแต่ละแห่งจะวัดความรุ่งเรืองจากการที่มีคนหลากหลายชาติพันธุ์มาอยู่ร่วมกัน เพราะนั่นหมายถึงเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ คนจากแต่ละที่จึงต้องมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลพวงของจักรวรรดินิยม

แต่เมื่อมีการเกิดขึ้นของ ‘รัฐ’ ก็ผลักดันให้คนที่ไม่ใช่ ‘คนไทย’ กลายเป็น ‘คนอื่น’ เมื่อมีการแบ่งเขา-แบ่งเราแล้ว ก็นำมาสู่ความขัดแย้ง และสร้างภาพลักษณ์และตีตราต่อคนกลุ่มนี้”

นพ.โกมาตร เสริมว่า ต้องยอมรับว่าการตีตราของพี่น้องชาติพันธ์ุถูกตีตราจากวาทกรรมจากสื่อด้วย เช่น เวลามีปัญหาเรื่องค้ายาเสพติด ตัดไม้ หรือบุกรุกป่า เราจะคิดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ก่อนเป็นลำดับแรก โดย สิ่งนี้จะผลิตซ้ำ ตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเมื่อเกิดการเรียกร้องสิทธิขึ้น คนในสังคมบางกลุ่มจึงคิดว่าไม่ควรได้รับ

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
ประธานกรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส และอดีต ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร (องค์การมหาชน)

ขณะที่หากมองในระดับนโยบาย รศ.สุชาดา ทวีสิทธิ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำงานขับเคลื่อนเรื่องความรุนแรงในผู้หญิง ก็ย้ำว่า ตอนนี้ไทยมีการออกนโยบายที่มีการคำนึงถึงกลุ่มเปราะบางอยู่แล้ว แต่กลับหลงลืมไปว่าในทุกกลุ่มเปราะบางยังมี ‘ผู้หญิง’  ซ่อนอยู่ในนั้นเสมอ

“ตอนนี้การออกแบบนโยบายในบ้านเรามีลักษณะแบบเหมารวม ไม่ได้มองผู้หญิงเป็นกลุ่มเฉพาะ จึงเห็นบริบทของผู้หญิงเป็นแบบแบนราบ ขาดมิติ ทั้งที่ในผู้หญิงเองก็มีเงื่อนไขที่พบเจอต่างกันในแต่ละบริบท ทั้งชาติพันธุ์ แรงงาน หรือแม้กระทั่งสายจิตวิญญาณ (เช่น แม่ชี)“

รายงานของ World Economic Forum เปิดเผยว่า จากการประเมินเปรียบเทียบช่องว่างความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง จาก 145 ประเทศทั่วโลก พบว่าไทยอยู่ในอันดับ 65 โดยมีฟินแลนด์ครองอันดับ 1 โดยมีคะแนนความเท่าเทียมกันทางเพศโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 67.9% เป็น 68.1%

การวิจัยดังกล่าว ใช้ตัวชี้วัด ได้แก่ การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา โอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสในการประกอบอาชีพ และโอกาสในการมีชีวิตรอดและการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข ซึ่งโดยภาพรวม ไทยได้คะแนนสูงกว่าในปีที่ผ่านมา

และแม้ช่องว่างของความเสมอภาคทางเพศในไทยจะอยู่ในลำดับที่ดีขึ้น แต่แท้จริงแล้วความรุนแรงต่อผู้หญิงบ้านเราไม่ได้ลดลงเลย สอดคล้องกับตัวเลขของ พม. ที่ชี้ว่า เมื่อปี 2566 มีผู้หญิงที่เผชิญความรุนแรง 38 รายต่อวัน แต่ปีนี้กลับเพิ่มเป็น 42 รายต่อวัน

”เพราะคนยังเห็นว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นปัญหาส่วนตัว เรามักได้ยินคำพูดว่า เรื่องของบ้านใครบ้านมัน หรืออย่าไปยุ่งเรื่องในครอบครัวคนอื่น

“และยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ตอนนี้มีการแก้ไขกฎหมายให้มีการไกล่เกลี่ยคดีในครอบครัว เพื่อรักษาความเป็นครอบครัวไว้ วิธีการเช่นนี้เป็นวิธีคิดแบบจารีตที่ให้ผู้หญิงต้องอดทนต่อความรุนแรง จนสุดท้ายก็นำมาสู่ความรุนแรงในที่สุด” รศ.สุชาดา อธิบาย

ศ.สุชาดา ทวีสิทธิ์
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

และที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นคือกลุ่มผู้หญิงชาติพันธุ์ โดย รศ. สุชาดา ยกตัวอย่างกลุ่มหญิงชาติพันธุ์ม้ง ที่ต้องเผชิญกับจารีตในสังคมอย่างสูง และหากแต่งงานออกไปจากครอบครัวแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่สังคมจะยอมรับให้กลับเข้ามาในครอบครัวเดิม

“ลูกสาวชาวม้งที่แต่งงานออกไปแล้วก็จะถือว่าเป็นสมบัติของครอบครัวอื่น ม้งมีจารีตว่าหากแต่งงานแล้วห้ามกลับมาอยู่บ้านเดิม เวลากลับมาเยี่ยมบ้านก็เป็นแค่แขกคนหนึ่งเท่านั้น ต่างจากลูกชายที่ยังถือว่าเป็นลูกตลอดไป และหากลูกสาวหย่าและกลับมาอยู่บ้าน จะถือว่าเป็นกาลกิณีของครอบครัว ทำมาหากินไม่ได้ และจะล้มละลาย เมื่อหญิงม้งเจอความรุนแรงในครอบครัวจึงต้องได้แต่อดทนเพราะไม่มีบ้านให้กลับ”

ด้านผู้ก่อตั้งเพจมนุษย์ต่างวัย อย่าง ประสาน อิงคนันท์ ที่ขับเคลื่อนเรื่องสังคมสูงวัยมาตลอด ชี้ให้เห็นว่า ‘ผู้สูงวัย’ ก็เป็นอีกกลุ่มที่สังคมไทยมีอคติมาโดยตลอด

“สังคมสูงวัยไม่ใช่เรื่องของ ‘คนแก่’ เท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องของทัศนคติและอคติของคนในสังคมต่างหาก ในช่วงที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองหนัก ๆ เราเห็นคำว่า ‘ไดโนเสาร์’ ที่เอาไว้เรียกคนแก่ ถ้ายังมีอคติที่แยกคนเป็นกลุ่มใครกลุ่มมันแบบนี้ สังคมจะไปต่อได้อย่างไร ?”

นอกจากอคติที่คนแต่ละเจเนอเรชันมีต่อกันแล้ว ยังมีเรื่อง ‘อคติ’ ที่ผู้สูงอายุมีแต่ตนเองด้วย ประสาน ย้ำว่า ผู้สูงอายุส่วนมากมักมองว่าตัวเองมีศักยภาพจำกัด และไม่สามารถทำอะไรได้มากอีกแล้ว แต่แท้จริงมีกิจกรรมมากมายที่ผู้สูงอายุยังสามารถทำได้ สื่อเองควรช่วยกันทลายอคตินี้

ชูวงศ์ แสงคง นักขับเคลื่อนด้านแรงงาน (ซ้าย)
ประสาน อิงคนันท์ ผู้ก่อตั้งเพจมนุษย์ต่างวัย (ขวา)

ในขณะที่อีกหนึ่งกลุ่มที่ถูกคนในชาติมองด้วยสายตาแห่งอคติมาโดยตลอด นั่นคือ ‘แรงงานข้ามชาติ’ ชูวงศ์ แสงคง นักขับเคลื่อนด้านแรงงาน ชี้ว่า ข้อมูลในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมานี้ มีแรงงานข้ามชาติกว่า 3 ล้านคนในประเทศไทย (ที่มีการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงานโดยไม่รวมจำนวนผู้ติดตาม เช่น เด็ก) และปฏิเสธไม่ได้ว่าคนในชาติเราเองก็มองคนกลุ่มนี้ด้วยอคติ ไม่ว่าจะเป็น การเข้ามาแย่งงานคนไทย และการเข้ามาใช้ทรัพยากรในประเทศแต่ไม่จ่ายภาษี

ชูวงศ์ ชี้ว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในบ้านเรานั้น ล้วนเข้ามาทำงานที่คนไทยไม่ยากทำ นั่นคือ งานยาก งานสกปรก และงานเสี่ยง แต่ภาคธุรกิจยังมีความต้องการอยู่

และการที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องเข้ามาทำงานในไทยประกอบด้วยหลายปัจจัย เช่น การประกาศเขตอุตสาหกรรมใหม่ หรือภัยพิบัติในภาคใต้ รวมถึงการวางแผนครอบครัวที่ขาดประสิทธิภาพ ด้วยบริบทเช่นนี้ คนไทยจึงควรเปิดใจให้กว้าง เห็นใจ และมองเขาในสภาพความเป็นจริง เพราะหากไม่มีแรงงานอย่างพวกเขา ภาคธุรกิจเราก็ลำบากเช่นกัน

“ในเรื่องการจ่ายภาษี แรงงานเหล่านี้มีสิ่งที่ต้องจ่ายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใบอนุญาต ประกันสุขภาพ หรือวีซ่า โดยเฉลี่ย 4 พันบาทต่อปี และหากคำนวณราคาที่พวกเขากว่า 3 ล้านชีวิตในไทยที่ต้องจ่าย ก็ถือว่าเป็นจำนวนเงินไม่น้อย”

ส่วนเรื่องการเสียภาษี ชูวงศ์ ย้ำว่า เป็นสิ่งที่นายจ้างต้องให้ความสำคัญและดูแล

สุดท้ายแล้ว สังคมควรมองกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยสายตาแบบใหม่ คือ สายตาที่ปราศจากอคติและเข้าใจที่มาที่ไปของเขา ผ่านบริบทสังคม วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ความเป็นมา นี่จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขเสียแต่วันนี้ ก่อนที่จะกลายเป็นอคติของชาติที่ติดตัวพวกเขาตลอดไป

“ในช่วงโควิด เราเห็นอคติที่ประชากรโลกมีต่อคนเอเชียว่าเป็นผู้แพร่เชื้อหรือพวกขี้โรค แต่มีนักวิชาการท่านหนึ่งพูดไว้ว่า อย่างไรเสียวันหนึ่ง เชื้อโควิดก็ต้องหายไปจากโลก แต่สิ่งที่จะไม่หายไปเลยคืออคติที่ซ่อนตัวอยู่ในสังคม และสิ่งนี้ต่างหากที่รอวันฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งเมื่อโอกาสมาถึง” นพ.โกมาตร กล่าวทิ้งท้าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active