สภาองค์กรของผู้บริโภค พบผู้สูงอายุถูกหลอกบนเฟซบุ๊ก ส่วนใหญ่เป็นเหยื่อสินค้าออนไลน์ หน่วยงานรัฐเห็นพ้อง การลดราคามาก ๆ ข้อความโฆษณาเกินจริง ดึงดูดผู้สูงวัยหลงเชื่อ แนะ ผู้สูงอายุปรึกษาลูกหลานก่อนตัดสินใจซื้อ ตรวจสอบข้อมูลผู้ขาย
สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเวทีสัมมนาออนไลน์ เรื่อง “สูงวัยรู้เท่าทันโลกออนไลน์” ให้ข้อมูลผู้สูงอายุ รวมไปถึงครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ให้รู้เท่าทันโลกออนไลน์ เพื่อจะไม่ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในรูปแบบต่าง ๆ โดยพบว่า ช่องทางที่ผู้สูงอายุถูกหลอกลวงมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก (Facebook) มากถึง 44% รองลงมาคือ ไลน์ (Line) 31.25% และ อินสตาแกรม (Instagram) 5.25%
จารุวรรณ ศรีภักดี ผู้อำนวยการกลุ่มคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักใช้โซเชียลมีเดียท่องโลกออนไลน์เพื่อหาข้อมูลข่าวสาร พบปะเพื่อนฝูง และซื้อขายสินค้าทางออนไลน์โดยพบว่าผู้สูงอายุในไทยยังพบปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลให้ปลอดภัย เพราะข้อมูลบนออนไลน์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้มีหลายคนถูกหลอกหรือถูกโกงมากขึ้น
ทั้งนี้ กรมกิจการผู้สูงอายุ มีการจัดทำแอปพลิเคชัน ที่ใช้ชื่อว่า GOLD by DOP สำหรับให้ความรู้กับผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุ รวมทั้งแจ้งข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์และสวัสดิการของผู้สูงอายุที่จะได้รับ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย (OPPY) ส่งเสริมความรู้ในเรื่องการซื้อขายออนไลน์ และมีการพัฒนาข้อมูลทุกด้านเตรียมรับสังคมสูงวัย ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES)
ด้าน ประภารัตน์ ไชยยศ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายดูแลบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. : ETDA) กล่าวว่า จากข้อมูลเรื่องร้องเรียนปี 2564 พบว่า มีผู้ร้องเรียนปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์มากว่า 50,000 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 20% ซึ่งปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง คือ การซื้อขายออนไลน์ ทั้งได้รับของไม่ตรงตามที่โฆษณา หรือหลอกขายสินค้าออนไลน์ โดยช่วงอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไปเป็นช่วงอายุที่พบปัญหานี้มากที่สุด คาดว่ามาจากการที่มีอำนาจในการซื้อสูง แต่ยังขาดข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจ
“โฆษณาในปัจจุบันมักนำเสนอราคาที่ถูก มีระยะเวลาจำกัดในการซื้อ มีการสร้างเรื่องให้คนเชื่อและต่อมาจึงหลอกลวง รวมถึงมีการใช้ผู้สูงอายุมาเป็นพรีเซ็นเตอร์มากขึ้นเพื่อดึงดูดผู้สูงอายุ ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ยาทาแก้ปวดเข่าที่นำเสนอให้เห็นว่าหากผู้สูงอายุใช้ยาตัวนี้ ต่อมาก็จะปวดเข่าน้อยลง เดินได้คล่องแคล่วขึ้น”
ประภารัตน์ กล่าวต่อไปว่า หากพบโฆษณาในลักษณะนี้แนะนำให้ผู้สูงอายุปรึกษากับลูกหลานก่อนตัดสินใจซื้อและควรตรวจสอบชื่อผู้ขาย ที่อยู่ หรือลองนำชื่อบัญชีผู้ขายค้นหาบนเว็บไซต์ตรวจสอบประวัติผู้ขายที่ควรระวัง เช่น เว็บไซต์แบล็กลิสต์ เซลเลอร์ (blacklistseller.com) หรือค้นหาชื่อผ่านกูเกิล (google)
สอดคล้องกับ พศวัตน์ จุมปา หัวหน้าฝ่ายเฝ้าระวังตรวจสอบโฆษณา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า การโฆษณาในปัจจุบัน มักใช้วิธีการลดราคาที่มาก ๆ เพื่อดึงดูดใจ รวมถึงมักมีการใช้ความที่เกินจริง อาทิ ผลิตภัณฑ์นี้ขายดีเป็นอันดับหนึ่ง ยายี่ห้อนี้ป้องกันโควิดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นต้น ซึ่งการอ้างข้อมูลที่เป็นสถิติจะต้องมีงานทดสอบหรืองานวิจัยจากสถาบันที่น่าเชื่อถือมารองรับ หากไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือพิสูจน์ได้ก็ไม่ควรที่จะซื้อ
“อยากให้ผู้สูงอายุมองว่าไม่ใช่เรื่องน่าอายในเรื่องซื้อขายออนไลน์ จนไม่กล้าบอกลูกหลาน เพราะยังไงลูกหลานก็พร้อมช่วยเหลือเพราะคือคนในครอบครัว หากพบว่ามีการตั้งจนถูกลงมาก ๆ อาจมองว่าหลอกขาย หรือขายของไม่มีคุณภาพให้เรา รวมทั้งต้องระวังว่าถ้าไม่ได้บอกแหล่งที่มาว่าเอาข้อมูลมาจากไหนให้เชื่อไว้ว่าเป็นเท็จ”
ขณะที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่มีการกำหนดสิทธิผู้บริโภคว่ามีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วน และมีสิทธิในการเลือกใช้สินค้าและบริการ หรือหากพบปัญหาก็สามารถได้รับการชดเชยเยียวยาตามสิทธิที่มี นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.บ.ผู้สูงอายุพ.ศ. 2546 ที่กำหนดให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือในทางคดีด้วย
ดังนั้น จึงอยากฝากผู้สูงอายุทุกคนว่า หากพบปัญหาเกี่ยวกับภัยออนไลน์ต่าง ๆ ต้องตั้งสติ และโทรไปขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ เพราะผู้สูงอายุก็เป็นผู้บริโภคที่ต้องได้รับการช่วยเหลือตามสิทธิผู้บริโภคที่กำหนด อาทิ สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคมของกระทรวง พม. เบอร์ 1300 ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ออนไลน์ของETDA เบอร์ 1212 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเรื่องถูกหลอกลวง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรมเบอร์ 1202 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เบอร์ 1556 สายด่วนบัตรทอง เบอร์ 1330 หรือสายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เบอร์ 1669