จากดรามาเด็กมอแกน สู่ปัญหาที่ซับซ้อนและทับถม

ผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยาชนเผ่า ชี้โพสต์ ‘ทราย สก๊อต’ ปมเด็กมอแกน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่ซับซ้อน เหตุชาวมอแกนถูกละเลยคุณค่าทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา

วันนี้ (5 พ.ค.2568) โลกออนไลน์ได้จุดประเด็นคำถามต่อจากโพสต์เฟซบุ๊กของ ทราย สก๊อต เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกับวิถีชีวิตของชาวมอแกนโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มชาติพันธุ์มอแกนที่อาศัยอยู่ในแถบ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จากประเด็นการถูกเอาเปรียบเรื่องค่าแรง หรือการใช้แรงงานเด็กในธุรกิจการท่องเที่ยว

เพื่อทำความเข้าใจประเด็นนี้มากยิ่งขึ้น The Active ได้พูดคุยกับ รศ.นฤมล อรุโณทัย อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยาชนเผ่าและมีงานวิจัยเกี่ยวกับชุมชนมอแกนมาอย่างยาวนาน ถึงประเด็นเรื่องสิทธิและความเป็นอยู่ของชาวมอแกน ไม่เพียงแต่ธุรกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ ที่ส่งผลกระทบ เอาเปรียบกับกลุ่มมอแกน แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของกลุ่มมอแกนไปเรื่อย ๆ

ประเด็นร้อนจากโซเชียล: เมื่อ ทราย สก๊อต เปิดประเด็น ชาวมอแกนโดนเอาเปรียบ

ความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ทราย สก๊อต ได้โพสต์ข้อความผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก แสดงความกังวลใจเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเรียกว่า “การใช้แรงงานเด็กชาวมอแกน” บนเกาะสุรินทร์ โดยระบุว่ามีการจ้างเด็กชาวมอแกนมาทำงานเป็นไกด์ดำน้ำและพนักงานให้บริการนักท่องเที่ยว 

ทราย สก๊อต ชี้ถึงการได้รับค่าตอบแทนที่ต่ำและต้องทำงานหนักของแรงงานชาวมอแกน นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงพฤติกรรมที่เขามองว่าไม่เหมาะสม เช่น การให้เด็กผู้ชายถอดเสื้อเพื่อถ่ายภาพร่วมกับนักท่องเที่ยวหญิง

ไม่นานหลังจากโพสต์ดังกล่าว ทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด พร้อมยืนยันว่าการจ้างงานที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยจ้างเฉพาะแรงงานผู้ใหญ่ในอัตราค่าจ้างที่เหมาะสม และมีสวัสดิการด้านอาหารให้ทุกวัน ส่วนเด็ก ๆ ที่พบในพื้นที่นั้นเป็นเพียงการติดตามพ่อแม่หรือญาติมาทำงาน

เจาะลึกวิถีมอแกนผ่านมุมมองนักวิชาการ

รศ.นฤมล อรุโณทัย อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยาชนเผ่าทางทะเลและการอนุรักษ์ชุมชน ให้มุมมองเพิ่มเติมต่อกรณีนี้ว่า ประเด็นของทราย สก๊อต เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่ซับซ้อนและทับถมกันมานานที่กลุ่มมอแกนต้องเผชิญ

“ปัญหานี้ไม่ได้ใหม่ เพียงแค่คนที่พูดครั้งนี้มีคนติดตาม มีชื่อเสียง เลยเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา” อาจารย์นฤมลกล่าว “เราไม่ค่อยเข้าใจวิถีชีวิตแบบนี้ เราใช้กฎหมายนโยบายตามสังคมใหญ่ และสังคมใหญ่เป็นสังคมอยู่ติดที่”

รศ.นฤมล อธิบายว่า ชาวมอแกนแต่เดิมเป็นกลุ่มชนที่มีวิถีชีวิตที่โยกย้ายไปตามฤดูกาล อาศัยอยู่บนเรือ และไม่มีที่อยู่ถาวร จึงนับเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม “ชาวเล” ที่มีความเชื่อมโยงกับทะเลอย่างลึกซึ้ง แต่หลังจากเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 ชาวมอแกนได้เริ่มตั้งหลักแหล่งถาวรมากขึ้น

“พี่คิดว่าวิถีชีวิตของชาวมอแกนนี้มีคุณค่าในตัวเอง พวกเขาอยู่กับทะเลมาร้อยปี”

มอแกนเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวเล ที่อาศัยอยู่ในเรือ โยกย้ายมากที่สุด แต่พอพื้นที่ที่เคยเป็นบ้าน ที่ทำมาหากินถูกประกาศเป็นอุทยาน แปลว่าเขาต้องมีกรอบข้อกำหนด แต่กรอบนี้มันใส่ใจวิถีเขาแค่ไหน

หนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญของชาวมอแกนคือเรือ “ก่าบาง” ซึ่งเป็นเรือประมงพื้นบ้านที่สร้างขึ้นด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม ไม่ใช้ตะปูสักตัวเดียว แต่สามารถทนทานต่อคลื่นลมได้ดีเยี่ยม อาจารย์นฤมลยกตัวอย่างเรือก่าบางนี้ เป็นวัฒนธรรมของกลุ่มมอแกนที่ไม่สามารถสร้างใหม่ได้แล้ว ภายใต้ “กรอบ” ที่ครอบคลุมเขาไว้

“พื้นที่อุทยานมันตัดไม้ไม่ได้ เรือก่าบางรู้จักกันในชื่อเรือที่ไม่มีวันจม เราสนใจไหมว่าภูมิปัญญาทำให้เขาอยู่เรือนานแค่ไหน ไม้แปดเก้าชนิดที่รวบรวมมา เป็นการพึ่งพากันระหว่างคนในชุมชน สิ่งเหล่านี้มันค่อย ๆ หายไป เมื่อเราเอาวัฒนธรรมอะไรจากข้างนอกมาใส่” รศ.นฤมลกล่าวอย่างเป็นห่วง

รศ.นฤมล ยังเล่าถึงศักยภาพของชาวมอแกนในการเข้าใจธรรมชาติ “เรื่องทะเล ภูมิปัญญา ทำไมไม่ทำให้เกิดการท่องเที่ยวแบบที่เอามอแกนเป็นตัวตั้ง สร้างการจัดการและการพึ่งพาในชุมชน สลับเอาเรือก่าบาง อนุโลมให้มีการสร้าง อนุโลมให้เห็นภูมิปัญญาของพวกเขา เพราะในตอนนี้ ข่าวสะท้อนออกไปก็มองเห็นมอแกนเป็นแค่แรงงาน”

การท่องเที่ยวที่อนุรักษ์ วัฒนธรรมและภูมิปัญญา

รศ.นฤมลเน้นย้ำว่า การมองชาวมอแกนเป็นเพียงแรงงานรับจ้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นการละเลยคุณค่าทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของพวกเขา

“เรื่องการจ้างงานนั้นละเมิดสิทธิเขาไหม จริง ๆ ต้องมองอีกประเด็นว่าชาวมอแกนเขามีทางเลือกอะไรในชีวิตบ้าง เงินที่เขาได้นั้นเอาไปทำอะไร เพียงพอไหม วิถีชีวิตของเขา มันอยู่ได้ไหม” อาจารย์นฤมล ตั้งคำถาม “นักท่องเที่ยวในอุทยาน ก็เห็นมอแกนเป็นแค่แบคกราว เป็นแค่แรงงานรับจ้าง ทั้งที่เราคิดได้ไกลกว่านั้น เขาอยู่ในพื้นที่มาร้อยกว่าปี รู้จักเกาะมากกว่าเราเยอะเลย”

รศ.นฤมล ได้นำเสนอแนวคิดการท่องเที่ยวทางเลือกที่ให้ชาวมอแกนเป็น “ตัวตั้ง” ไม่ใช่เพียงแค่แรงงานรับจ้าง แต่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมและเจ้าบ้านที่แท้จริง

เราต้องเข้าใจด้วยว่ามอแกนเขาไม่ได้เห็นโลกมากนัก เรื่องธุรกิจ การจัดการ ก็อาจจะไม่ได้เก่งเท่าคนนอก ฉะนั้นตอนนี้ การท่องเที่ยวทั้งหมดจัดการโดยคนนอก จะทำยังไงให้เกิดการบ่มเพาะ ให้ชาวมอแกนจัดการได้เอง

พร้อมเล่าถึงโครงการนำร่องที่เคยทำ เดิมมีโปรเจกต์เล็ก ๆ ที่ทำเรื่อง “มอแกนพาเที่ยว” ที่พวกเขาพาเที่ยวได้เองเลย ส่วนเรื่องธุรกิจหรือการบริการนักท่องเที่ยว ต้องค่อย ๆ เรียนรู้กัน เพราะเขาไม่ได้รู้มาก่อน ที่เขารู้อย่างดีคือหมู่บ้านเขา ทำไมไม่ให้เขาจัดการธุรกิจเอง

ธุรกิจชุมชนพื้นเมืองคือธุรกิจเอื้อเฟื้อกัน ทำไมไม่ให้เกิดแบบนั้นในพื้นที่เล็ก ๆ ให้ภูมิปัญญาเป็นไกด์ คนออกทะเลดูปะการัง อธิบายโดยเชื่อมกับวิถีชีวิตเขาได้ นโยบายการท่องเที่ยวมาจากชุมชน ค่อย ๆ พลิก” อาจารย์ให้ความเห็นตรงกับคอนเสปต์ Community-led Tourism หรือการท่องเที่ยวที่นำชุมชนมาเป็นจุดหลัก

วิถีชีวิตที่กำลังสูญหาย

นอกจากเรื่องของสิทธิ หรือการเอารัดเอาเปรียบชาวมอแกนในการจ้างงานส่วนการท่องเที่ยวที่เป็นข่าว ระบบทุนนิยมหรือโครงสร้างตลาดการท่องเที่ยวของเมืองไทย ก็ส่งผลกระทบต่อชาวมอแกนแบบที่วัดค่าไม่ได้ และในแบบที่หลายคนอาจไม่รู้ตัว

รศ.นฤมล ตั้งข้อสังเกตว่าระบบตลาดทุนนิยมได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวมอแกน ตอนนี้พอถูกผลักดันเข้าไปในระบบตลาด ชาวมอแกนเริ่มที่จะต่างคนต่างอยู่ เห็นคนนอกมา นักท่องเที่ยวเข้ามามีโทรศัพท์ใหม่ก็อยากใช้บ้าง แม้ขณะนี้จะสายเกินไปที่จะฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิมทั้งหมดของชาวมอแกน แต่ก็ยังมีสิ่งที่สามารถทำได้

“ถึงตอนนี้มันเหมือนจะสายเกินไปแล้ว แต่ทำอย่างไรให้เราถอยกลับมาได้ เช่น สมมุติด้านการท่องเที่ยว เราสามารถดึงเอามอแกนมาพัฒนาเป็นไกด์ ใครเข้าหมู่บ้านมอแกนต้องทำความเข้าใจก่อน ถ้าจะเข้าต้องมีปฐมนิเทศให้ทราบประวัติความเป็นมาและวิถีชีวิตของชาวมอแกนและรับรู้สิ่งที่ควรและไม่ควรทำในชุมชนและกับชาวมอแกน (code of conduct) แต่ในปัจจุบันหมู่บ้านมอแกนเปิดให้เข้าไปเมื่อไหร่ก็ได้”

สมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการดำรงชีวิต

รศ.นฤมล ยังชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างแนวคิดการอนุรักษ์แบบสมัยใหม่กับภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวมอแกน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขา

การอนุรักษ์เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชนพื้นเมือง การอนุรักษ์ของกฎหมายนโยบายเป็นการอนุรักษ์ตามตำรา เราแบ่งพื้นที่เป็นอนุรักษ์ใช้สอย จริง ๆ แล้วชาวมอแกนก็มีการแบ่งพื้นที่ในแบบของเขา อย่างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่ที่จะไม่ตกปลาช่วงฤดู เราไม่ได้ต่อยอดจากสิ่งที่เขามีอยู่ แต่เรากลับเอาความคิดแนวการอนุรักษ์ใหม่ๆ ไปครอบเลย

แต่เชื่อว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวมอแกนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน แต่วัฒนธรรมเมืองอยู่ไม่ได้หรอก แต่วัฒนธรรมเดิมที่อยู่ได้ มีคุณประโยชน์มากกว่าเสียอีก มีคนเฝ้าระวัง รัฐไม่ต้องกังวลว่าไม่มีคน ทำไมเราไม่ต่อยอดจุดนี้

ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

รศ.นฤมลเน้นย้ำว่า การแก้ไขปัญหาของชาวมอแกนไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

อุทยานก็ไม่ใช่เป็นหน่วยนโยบายหน่วยเดียว มันยังมีมิติของกระทรวงท่องเที่ยว กระทรวงศึกษา อำเภอ จังหวัด อบต. แม้จะอยู่ในพื้นที่อุทยาน แต่ผู้เล่นมีอีกหลายคนมาก ที่สามารถกระทำอะไรสักอย่าง มันมีแรงมีพลังจากหลายส่วนที่ช่วยเหลือกันได้

โดยมองว่ากรณีของทราย สก๊อต เป็นโอกาสให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นนี้ สังคมจะได้เริ่มทำความเข้าใจ คุณทรายอาจจะมีส่วนถูก

วัฒนธรรมที่สูญหายคือการสูญเสียอย่างถาวร

สิ่งที่ รศ.นฤมล เป็นห่วงมากที่สุดคือการสูญเสียวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวมอแกน ซึ่งเมื่อสูญหายไปแล้วยากที่จะฟื้นฟูกลับมา

“ความน่ากังวล คนอาจจะคิดว่า วิถีวัฒนธรรม ชนพื้นเมือง คนคิดว่าพอเปลี่ยนไปก็อยู่ได้ ทั้งเรื่อง วัฒนธรรม ประเพณี ภาษา ความรู้ มันหายไปแล้วมันหายไปเลย ไม่สามารถกู้มาได้ มีหลายชุมชนที่ชีวิตเปลี่ยนไป ไปทำอย่างอื่น สิ่งที่เป็นนามธรรม หรือเรื่องความผูกพันกับธรรมชาติ ความเอื้ออาทรที่ค่อย ๆ หายไป มันวัดเป็นตัวเลขไม่ได้ มันมองไม่เห็น”

พร้อมสรุปว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และเน้นย้ำว่าการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวมอแกนไม่ควรเป็นเพียงการแสดงให้นักท่องเที่ยวชม แต่เป็นความจำเป็นที่จะให้คงอยู่ ในฐานะส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตประจำวันของชาวมอแกน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active