‘หมอท่าสองยาง’ เตือน ปลาย ก.ค.นี้ เจอวิกฤตศูนย์พักพิงของจริง!

แนะทางออก รัฐออกบัตรทำงาน หนุนผู้ลี้ภัยได้ทำงานเลี้ยงตัวเอง หลังงบฯ ช่วยเหลือสิทธิมนุษยชนจากสหรัฐฯ ถูกตัดเกลี้ยง IRC – TBC ยุติบทบาท ใน 9 ศูนย์พักพิงชายแดน ขณะที่ รพ.รัฐ ชายแดน หวั่นรับภาระหนัก จากวิกฤตสุขภาพ

จากกรณีที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ยุติการสนับสนุนงบประมาณด้านสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้ 2 องค์กรหลัก คือ The Border Consortium (TBC) และ International Rescue Committee (IRC) ต้องยุติการให้ความช่วยเหลือในศูนย์พักพิงชั่วคราว 9 แห่งใน จ.ตาก บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ภายในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ลี้ภัยกว่า 100,000 คน ทั้งในด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

วันนี้ (16 ก.ค. 68) นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งมีศูนย์พักพิงชัวคราวบ้านแม่หละฯ​ อยู่ในพื้นที่ เปิดเผยกับ The Active ว่า สถานการณ์เริ่มส่อเค้าวิกฤตตั้งแต่ช่วงต้นปี 2568 โดย IRC ได้ระงับการสนับสนุนด้านสาธารณสุขเป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างกุมภาพันธ์-เมษายน ก่อนจะประกาศยุติบทบาททั้งหมดในเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้โรงพยาบาลต้องเข้าไปดูแลแทนในหลายภารกิจ โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่ไม่รวมถึงบริการวางแผนครอบครัวซึ่งถูกตัดไปตั้งแต่ต้น

แม้เจ้าหน้าที่ภายในศูนย์พักพิงจำนวนกว่า 400 คน จะยังคงปฏิบัติงานได้ในเดือนสิงหาคม ภายใต้เงินเดือนจาก IRC ที่จ่ายต่ออีกระยะหนึ่ง แต่หลังจากนั้นยังไม่มีความชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้สนับสนุนต่อ โรงพยาบาลจึงเตรียมปรับแผนเพื่อรับมือกับภาระที่อาจเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการดูแลผู้ป่วย การส่งต่อ และระบบสุขภาพชุมชนที่เกี่ยวข้อง

“เรามีกรณีเด็กแรกเกิดที่น้ำหนักตัวกว่า 5 กิโลกรัม ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนหากคลอดเองไม่ได้ ต้องผ่าตัดโดยทีมแพทย์ในโรงพยาบาล กรณีแบบนี้สะท้อนว่าระบบส่งต่อจากศูนย์ยังจำเป็นอย่างมาก” 

นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์

นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่า การตัดงบฯ สนับสนุนอาหารที่เริ่มมีผลตั้งแต่กรกฎาคม จะเร่งให้ผู้ลี้ภัยออกไปหางานทำภายนอกศูนย์มากขึ้น โดยข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ลี้ภัยในศูนย์ฯ ราว 28,000 คน โดยกว่า 20,000 คนอยู่ในวัยแรงงาน ซึ่งหากไม่มีแผนจัดการที่ชัดเจน อาจทำให้เด็กต้องออกจากโรงเรียนเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว และเกิดปัญหาสังคมตามมา

เสนอออกบัตรอนุญาต ‘ผู้ลี้ภัย’ ทำงานในพื้นที่

นพ.ธวัชชัย จึงเสนอว่า รัฐบาลไทยควรกำหนดทิศทางที่ชัดเจนว่าจะบริหารจัดการศูนย์พักพิงเหล่านี้อย่างไรในระยะยาว หากจะคงไว้ก็ควรมีแผนสนับสนุนด้านสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิการพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง แต่หากจะยุติบทบาทศูนย์ฯ ก็ต้องวางแผนการส่งตัวกลับประเทศ หรือจัดสถานะทางกฎหมายให้สามารถทำงานและดำรงชีวิตได้ในไทยอย่างไม่เป็นภาระสังคม

สำหรับข้อเสนอเฉพาะหน้า ที่ ผอ.รพ.ท่าสองยาง ระบุคือ การออกบัตรอนุญาตให้ทำงานเฉพาะพื้นที่ เช่น ใน 5 อำเภอชายแดน เพื่อให้ผู้ลี้ภัยสามารถหารายได้เลี้ยงชีพ และดูแลตนเองได้โดยไม่พึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐมากเกินไป พร้อมหวังว่าหน่วยงานด้านความมั่นคง และมหาดไทย จะพิจารณาแนวทางร่วมกันในระยะเร่งด่วน

“ถ้าเขาได้ทำงาน เขาก็จะมีรายได้ ซื้อประกันสุขภาพ ส่งลูกเรียนหนังสือได้เอง ไม่เป็นภาระกับระบบรัฐทั้งหมด”

นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active