กกต. เคาะวันเลือกตั้ง ‘ผู้ว่าฯ กทม. – นายกพัทยา’ 22 พ.ค. ครบรอบ 8 ปีรัฐประหาร คาดเริ่มรับสมัคร 31 มี.ค. – 4 เม.ย. นักวิชาการวิเคราะห์อำนาจจัดการตนเองที่สูญไป หลังการยึดอำนาจ
หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้จัดการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยาไปแล้ว ล่าสุดวันนี้ (14 มี.ค. 2565) ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มีมติเห็นชอบในหลักการตามร่างแผนการจัดการเลือกตั้ง โดยให้มีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 พร้อมกันทั้ง กทม. และเมืองพัทยา และได้ประชุมเตรียมจัดทำแผนการจัดการเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ กกต. จะออกประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นของของกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยาอย่างเป็นทางการ ในวันศุกร์ที่ 25 มี.ค. 2565 และเมื่อกกต.ได้ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งแล้ว ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ต้องประกาศให้มีการเลือกตั้ง และกำหนดวันสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะอยู่ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 31 มี.ค. ถึงวันพุธที่ 4 เม.ย. 2565 เพื่อให้เป็นไปตามแผนการจัดการเลือกตั้งฯ
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ได้กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 8 ปี รัฐประหารในปี 2557 ซึ่งผลกระทบโดยตรงจากการรัฐประหารครั้งนั้น ส่วนหนึ่งคือการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ อย่าง กทม. และพัทยา ที่เปลี่ยนแปลงไป วาระดังกล่าวจึงน่าจับตามองว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้จะทำให้การบริหารท้องถิ่น กลับไปสู่ท้องถิ่นที่สามารถบริหารจัดการตนเองอย่างอิสระได้หรือไม่
นักวิชาการวิเคราะห์ ‘ท้องถิ่นพิเศษ’ แค่ชื่อที่ใช้เรียกเท่านั้น
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในรายการ Active Talk เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยเรามีรูปแบบการปกครองท้องถิ่นพิเศษ ที่ต้องการให้เกิดการบริหารงานอย่างอิสระ และอำนาจจัดการตนเอง แต่เมื่อถึงเวลาเกิดการรัฐประหาร เปลี่ยนขั้วอำนาจ กลับถูกอำนาจพิเศษเข้ามาครอบงำ อย่างการใช้ ม.44 ออกคำสั่งให้ผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากทม. พ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งบุคคลที่ไม่ได้มาจากประชาชนเข้ามาบริหารจนถึงปัจจุบัน
“รูปร่างที่ดูหรูหรา โครงสร้างเหมือนต่างประเทศ แต่พอถึงเวลาอำนาจพิเศษ หรือระบบอุปถัมภ์เข้าไปสวมได้ทันที ปัจจุบันเราอย่าพูดเรื่องการปกครองท้องถิ่นแบบจัดการตนเองเลย เพราะตอนนี้ไม่มีโมเดลที่จะทำความเข้าใจได้ หลายคนบอกตรงกันว่าเลือกไป ก็อาจจะไม่มีอำนาจอะไรมากก็ได้”
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
เช่นเดียว กับ รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา แม้การเลือกตั้งครั้งนี้ จะสำคัญกับคนพัทยา และคน กทม. แต่โครงสร้างอำนาจทางการเมืองในท้องถิ่น โดยเฉพาะในเมืองพัทยานั้น ไม่ต่างจากการบริหารท้องถิ่นแบบ ‘เทศบาล’ ที่กลไกการถ่วงดุลอำนาจไม่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ครั้งสำคัญ การเลือกตั้ง ส.ส. ทำให้เกิดกลุ่มอำนาจใหม่
“เมืองพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยว ชื่อดูเหมือนพิเศษ แต่เนื้อหาสาระและสถานะของเมืองพัทยา ไม่ต่างจากการเป็นเทศบาลนครเท่านั้น พิเศษแต่ชื่อและการรับรู้ แต่การบริหารไม่แตกต่างกัน เพราะผู้บริหารและสภาเมือง กลับมาโครงสร้างอำนาจเชื่อมโยงในทิศทางเดียวกันเสมอ”
รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
แต่อย่างไรก็ตาม นักวิชาการเห็นตรงกันว่า ช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป และระยะเวลาที่ว่างเว้นการเลือกตั้งมานานกว่า 9 ปี มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในความหลากหลายของประชากร และความคาดหวังการแก้ปัญหาของท้องถิ่นที่ไม่เหมือนเดิม การเลือกตั้งท้องถิ่นรูปแบบพิเศษทั้ง 2 แห่ง จึงต้องจับตามอง ทั้งในแง่ของการสะท้อนถึงการเลือกตั้งระดับชาติ โครงสร้างการบริหาร และปัญหาท้าทายภายในเมือง ที่ต้องให้น้ำหนักในการติดตามไม่แพ้กัน