- หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจ ม.44 ปลดผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น แล้วแต่งตั้งคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่
- หมวด 14 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น ที่ไม่ได้บัญญัติรับรองความเป็นอิสระของท้องถิ่นดังเช่นรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ สะท้อนข้อจำกัดของการกระจายอำนาจ
- การจัดให้มีการเลือกตั้ง ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะทำให้การดำเนินงานของท้องถิ่นเป็นอิสระได้จริงหรือไม่
วันเลือกตั้ง ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ในส่วนของกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ซึ่งอาจเป็นความบังเอิญ ที่วันดังกล่าวนั้นตรงกับการทำรัฐประหารในปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่จะบรรจบครบรอบ 8 ปี ในวันดังกล่าวด้วย
การยึดอำนาจครั้งนั้นหลายฝ่ายยอมรับว่า ส่งผลกระทบที่สำคัญโดยตรงต่อ ‘การปกครองส่วนท้องถิ่น’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารงานของท้องถิ่นรูปแบบพิเศษทั้ง 2 แห่งนี้ประเด็นที่น่าพิจารณาต่อไป คือ การเลือกตั้งครั้งนี้ จะทำให้ กทม. และพัทยา กลับมาเป็นโมเดลท้องถิ่นจัดการตนเองอย่างที่คาดหวังมาตลอดได้หรือไม่
“โดยที่มีความจําเป็น ต้องเร่งจัดการบริหารราชการกรุงเทพมหานครให้เป็นที่เรียบร้อย เกิดความต่อเนื่อง สามารถประสานความร่วมมือ
คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๔/๒๕๕๙
กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และภาคประชาชนอย่างมีเอกภาพ และเนื่องจากคณะผู้บริหารมีอำนาจการตัดสินใจและแก้ปัญหาต่างๆ หากมิได้รับการแก้ไขโดยเร็ว จะเกิดความเสียหายต่อราชการแผ่นดิน”
ส่วนหนึ่งในคำสั่ง คสช. ที่ใช้อำนาจตาม ม.44 ปลดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และมีการแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นยังรวมไปถึงฝ่ายบริหารทั้งหมดที่อยู่ในชุดดังกล่าวด้วย สิ่งนี้นอกจากขัดต่อเจตจำนงของประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว ยังทำให้นโยบายการบริหารทั้งหมดสะดุดหยุดลง ส่งผลกระทบอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการจัดทำบริการสาธารณะที่ค้างอยู่
เช่นเดียวกับเมืองพัทยา อำนาจ ม.44 ก็ถูกใช้ปลดนายกเมืองพัทยา ขณะนั้น คือ พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี พ้นจากตำแหน่ง พร้อมตั้ง สนธยา คุณปลื้ม นั่งเก้าอี้แทน ระบุเหตุผลเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
“มีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งนายกเมืองพัทยาและผู้บริหารเมืองพัทยาที่มีศักยภาพสูง พร้อมด้วย ประสบการณ์และความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อประโยชน์ต่อการสนับสนุนกิจกรรม และการดำเนินการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้งเป็นการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น อันจะส่งผลดีต่อการปฏิรูปประเทศ…”
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๕/๒๕๖๑
ในขณะที่อำนาจด้านนิติบัญญัติ คือ สมาชิกสภาท้องถิ่น ก็ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 50 เขต ก็พ้นจากตำแหน่งทั้งหมด และได้มีการแต่งตั้งผู้มาทำหน้าที่นี้แทน 30 คน โดยพิจารณาจากสาขาอาชีพ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงการเป็นผู้แทนของประชาชนในเขตเลือกตั้งนั้นๆ อันเป็นสาระสำคัญของการเป็นปากเสียงประชาชนของ ส.ก.
อีกทั้งการแต่งตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่มาจากกลุ่มเดียวกันนั้น ยังขัดต่อหลักการถ่วงดุลอำนาจ ที่สภาท้องถิ่น ควรทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ตลอดจนการพิจารณางบประมาณรายจ่ายของท้องถิ่น เพื่อใช้ในการดำเนินนโยบายสาธารณะว่าเป็นไปตามเป้าหมาย และตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นหรือไม่ แต่สภาที่มักไม่เกิดการโต้แย้ง หรือคัดค้านกันย่อมทำให้การตรวจสอบเกิดขึ้นได้ยาก
แม้แต่ในพื้นที่เมืองพัทยาเอง ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะแม้ไม่มีคำสั่งให้สมาชิกสภาเมืองพัทยาพ้นจากตำแหน่ง แต่ระยะเวลาที่ว่างเว้นจากการเลือกตั้ง ทำให้เกิดปัญหาสำหรับบางคน ที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ทั้ง เสียชีวิต และลาออก ตลอดจนปัญหาทางการเมืองภายใน ที่ส่งผลให้องค์ประชุมสภาไม่ครบ และไม่สามารถพิจารณาออกกฎหมาย
สิ่งที่เป็นประเด็น คือ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 อันเป็นผลพวงจากการรัฐประหารครั้งนั้น แม้จะได้บัญญัติ หมวดที่ 14 การปกครองท้องถิ่นไว้โดยเฉพาะ แต่เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาสาระ รายมาตราจะพบว่า มีบางส่วนที่ทำให้อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจถูกตีความได้ว่า ไม่มีความเป็นอิสระเหมือนแต่ก่อน ยกตัวอย่าง เช่น มาตรา 250 ที่วางหลักว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอํานาจดูแลและจัดทําบริการสาธารณะ และกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น…” ในขณะที่เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 พบว่า ได้ตัดคำว่า ‘มีอิสระในการกำหนดนโยบาย การปกครอง การเงินการคลัง การบริหารงานบุคคล’ ออกไป
รวมทั้งในประเด็นที่มาของผู้บริหารท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ซึ่งก็คือ กทม. และเมืองพัทยานั้น จะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึง การมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ สิ่งที่เพิ่มเข้ามา คือ การได้มาซึ่งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะให้มาโดยวิธีอื่นนอกเหนือจากวิธีที่กล่าวมาข้างต้นก็ได้ ซึ่งก็ไม่ได้ระบุว่า ‘วิธีอื่น’ ที่กล่าวถึงนั้น เป็นอย่างไร
อาจกล่าวได้ว่า ผลพวงจากการรัฐประหาร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นสิ่งที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การเลือกตั้งครั้งนี้ จะสามารถทำให้การบริหารงาน จัดการตนเองของทั้ง กทม. และเมืองพัทยากลับมาได้หรือไม่ หรือแท้ที่จริงแล้วการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว อาจไม่ได้ส่งเสริมการกระจายอำนาจที่ดีขึ้น การปฏิรูปท้องถิ่นทั้งโครงสร้าง และกฎหมาย ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ อาจเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องกลับมาทบทวนควบคู่กันไปในครั้งนี้ด้วย