เปิดวิสัยทัศน์ ‘ผู้สมัคร ส.ก.’ รุ่นใหม่ กับการดูแลงบฯ กทม. เกือบแสนล้าน!

พรรคใหญ่ เปิดตัว ‘ว่าที่ผู้สมัครฯ ส.ก.’ หวังเสริมคะแนนความนิยม ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ ชวนมองบทบาทพิจารณางบฯ ตรวจสอบฝ่ายบริหาร และตอบสนองความต้องการประชาชน

12 ปี ที่ว่างเว้นการเลือกตั้ง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. ทำให้หลายพรรคการเมืองทยอยเปิดตัว ‘ว่าที่ฯ ผู้สมัคร’ ออกมากันอย่างคึกคัก และยังให้ความสำคัญเป็นพิเศษ กับการวางตัวกุนซือที่ไว้ใจว่าจะสามารถนำชัยชนะมาสู่พรรค เฟ้นหาตัวเลือกที่ดีที่สุด เพื่อสู้ศึกในครั้งนี้ จึงทำให้เราตั้งคำถามว่า ส.ก. ที่จะเข้าไปทำหน้าที่แต่ละเขตมีความสำคัญอย่างไร และต้องรับผิดชอบในเรื่องใดบ้าง รายการ Active Talk ชวนว่าที่ผู้สมัครฯ คนรุ่นใหม่ จาก 3 พรรคการเมือง มาพูดคุยเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ และความตั้งใจในการเลือกตั้งครั้งนี้

คนพื้นที่ มองเห็นปัญหา ผลักดันลงสมัคร ส.ก.

ธัญธร ธนินวัฒนาธร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เขตจอมทอง พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การลงสมัคร ส.ก. ในครั้งนี้ ถือเป็นความท้าทาย เนื่องจาก ส.ก. นั้น เป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ใกล้ชิดกับชุมชน และชาวบ้าน ส่วนตัวเกิดที่นี่ และเติบโตที่นี่ จึงมีความรู้สึกอยากปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในกรุงเทพฯ จริงอยู่ที่ในเมืองมีความเจริญทางวัตถุมากมาย แต่ในเรื่องสิทธิ สวัสดิการ และสิ่งอำนวยสะดวกขั้นพื้นฐานกลับไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร และไม่เอื้อต่อคนทุกคน จึงอาสาเข้ามาพัฒนาพื้นที่ตรงนี้

นอกจากนั้น ธัญธร ยังกล่าวอีกว่า ตนเป็นสมาชิกพรรคมาตั้งแต่ สมัยยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ จนมาถึงพรรคก้าวไกล ผ่านกระบวนการคัดสรรจากพรรค ที่เน้นพิจารณาผลงาน ความสามารถ และที่สำคัญ คือ วิสัยทัศน์ ที่ต้องตรงกับ DNA ของพรรคก้าวไกล คือ ใหม่ ชัด โดน ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้

เช่นเดียวกับ นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เขตคลองสามวา พรรคเพื่อไทย ที่กล่าวว่า ตนเป็นคนคลองสามวา เกิดและเติบโตในพื้นที่ มองเห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่มาโดยตลอด แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่ซึ่งเคยเหมือนบ้านของตนเองกลับเปลี่ยนแปลงไปมาก ความเป็นครอบครัว หรือชุมชนในพื้นที่หายไป คนเริ่มย้ายออกมารอบนอก กทม. ความตั้งใจสำคัญ คือ อยากลงในฐานะ ส.ก. คลองสามวา และสร้างความเป็นครอบครัว ให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของทุกคนมากขึ้น

เมื่อมาเป็นตัวแทนในนามพรรคเพื่อไทย สังคมให้ความสนใจมาก แต่การคัดเลือกในครั้งนี้ พรรคใส่ใจเรื่องประสบการณ์การทำงาน เนื่องจากมองว่า ทุกคนควรมีประสบการณ์ไม่ว่ารูปแบบใด และต้องมีความตั้งใจ ในการทำหน้าที่เพื่อประชาชน จึงเป็นการเลือกตั้งที่ต้องพิสูจน์ตัวเองมาก พิสูจน์ว่าตนเข้าใจปัญหาของประชาชนที่กำลังเดือดร้อน การเป็นตัวแทนเพราะเหตุนี้ ไม่ใช่เพราะนามสกุล

ในขณะที่ เรวัตร คงชาติ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เขตบางซื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรุงเทพฯ และบางซื่อ เปรียบเสมือนบ้านของตนเอง มีความฝันมาตั้งแต่ยังเด็ก ว่าอยากพัฒนาพื้นที่นี้ให้ดีขึ้น แม้หลายเรื่อง กทม. จะพัฒนามาโดยตลอด ถ้าได้เสริมกำลังคนรุ่นใหม่เข้าไปทำงานในพื้นที่จะยิ่งสร้างโอกาสใหม่ๆ ตัวแทน ส.ก. ของเรา มองเห็นปัญหา และมองเห็นศักยภาพ รวมถึงโอกาสในการพัฒนา จึงรับอาสาเข้ามาเป็นตัวแทนของคนกรุงเทพฯ

เรวัตร เติบโตมาจากการเป็นยุวประชาธิปัตย์ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ร่วมกิจกรรมกับพรรคมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเห็นโอกาส จึงขออนุญาตพรรค เพื่อลงสมัครเป็น ส.ก. เพราะเราเห็นศักยภาพมากมาย ก่อนหน้านี้มีโอกาสลงพื้นที่นานกว่า 1 ปี พบปัญหามากมาย และที่หนักสุด คือ ปัญหาโควิด-19 และเชื่อมั่นว่าประชาธิปัตย์มีโครงการที่สามารถตอบสนองประชาชนได้เสมอ

เข้าใจอำนาจ – หน้าที่ ส.ก. จะดูแลงบฯได้ ต้องลงพื้นที่

ธัญธร ยอมรับว่า แม้อำนาจหน้าที่ของ ส.ก. จะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ พิจารณางบประมาณ และทำหน้าที่ในคณะกรรมการชุดต่างๆ แต่หากไม่มีการลงพื้นที่ จะไม่ทราบว่าประชาชนต้องการอะไร และเรื่องใดที่ควรได้รับการดูแล หรือผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อเสนอต่อฝ่ายบริหาร นอกจากนั้น การตั้งกระทู้ถามในสภาฯ เป็นกลไกสำคัญในการทำหน้าที่ตรวจสอบ การทำงานของฝ่ายบริหาร และสะท้อนปัญหาของประชาชน

“ส.ก. มีหน้าที่ดูแลงบประมาณ แต่ถ้าเราไม่ลงพื้นที่เลย จะไม่ทราบความต้องการของประชาชน ว่าเขาควรได้รับการดูแล หรือผลักดันเรื่องอะไร เพื่อเสนอต่อฝ่ายบริหาร ถ้าเราเข้าใจปัญหาในพื้นที่ จะสามารถแก้ไขได้อย่างเข้าใจ”

สำหรับเรื่องจัดการงบประมาณของ กทม. ธัญธร กล่าวว่า เป็นเรื่องแรกที่อยากทำ เนื่องจากจำนวนงบประมาณเกือบแสนล้านต่อปี ที่ยังไม่รวมการลงทุนด้านคมนาคม และงบประมาณอื่นๆ ที่ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด รอบคอบ เพราะ ส.ก. ชุดแต่งตั้ง 8 ปีที่ผ่านมานี้ บริหารงบประมาณเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง ที่ควรถูกใช้ในการในการพัฒนาพื้นที่ระดับเขต ตนได้รับเรื่องสะท้อนจากสำนักงานเขต ว่ามีงบประมาณ ที่ใช้ดำเนินการในเขตให้เป็นรูปธรรมน้อยลงไปมาก

ส่วน เรวัตร มองว่า หน้าที่หลักของ ส.ก. คือ การออกกฎหมาย และดูแลงบประมาณ แต่พันธกิจหนึ่งที่ไม่สามารถลืมได้ คือ หน้าที่ต่อพี่น้องประชาชน ที่เราเป็นตัวแทนของเขา ที่มีความเชื่อว่าเราจะแก้ปัญหาให้เขาได้ ทั้งปัญหาใหญ่ หรือปัญหาเล็ก แต่ถ้าเราไม่ลงพื้นที่เข้าใจปัญหา ก็ไม่สามารถพิจารณางบประมาณตอบสนองความต้องการที่แท้จขริงของประชาชนได้ เราลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ปัญหา และคิดหาหนทางแก้ไขเชิงนโยบาย และการออกข้อบัญญัติ

“เราจะเข้าไปบริหารงบประมาณ ให้เป็นธรรมกันทุกภาคส่วน จัดลำดับเรื่องเร่งด่วน และเรื่องระยะยาว การเงินต้องโปร่งใส เป็นธรรม ประชาชนสามารถตรวจสอบ คัดคาน และมีส่วนในการคิดใช้งบประมาณได้”

‘งบประมาณควรถูกจัดสรรใหม่’ โดย นฤนันมนต์ มองว่า ที่ผ่านมา กทม. จัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาในบางเรื่อง ที่มากเกินไป และอาจจัดสรรเพื่อกระจาย ไปยังส่วนอื่นที่มีความจำเป็นไม่แพ้กัน ได้มากกว่านี้หรือไม่ เช่น งบประมาณสำหรับการระบายน้ำ มีมากถึง 7,000 ล้านบาท แต่ในขณะที่ งบประมาณด้านสาธารณสุข ได้รับเพียง 4,000 ล้านบาทเท่านั้น ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่ได้ลดลงนี้ จะลดสัดส่วนในการแก้ปัญหาเรื่องอื่นได้หรือไม่

“ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา เราไม่มี ส.ก. ที่เป็นผู้แทนเขตให้ใครคิดถึง ไม่มีคนที่ประชาชนไว้ใจให้แก้ปัญหา ส.ก. ยุคนี้ จึงต้องมี empathy คือ เข้าอกเข้าใจคนในพื้นที่ ว่ามีปัญหาอะไร เพื่อจัดสรรงบประมาณ แก้ปัญหาอย่างถูกต้อง”

ควรใช้ข้อมูล ความจำเป็นเป็นฐานในการใช้จ่ายงบประมาณ จึงต้องมีการจัดงบประมาณกันใหม่ และควรมีการตั้งงบฯ ส่วนหนึ่ง เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน ช่วยแก้ปัญหาสถานการณ์ที่เปราะบางได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งข้อมูลทั้งหมด ก็เกิดจากการรวบรวมปัญหาในพื้นที่ ในชุมชน เพื่อให้รู้ว่าจะนำเงินไปใช้ในส่วนใด ที่จำเป็นมากที่สุด

บทบาท ผอ.เขต – ส.ก. กับการดูแลประชาชน

เรวัตร มองว่า ตลอดเวลาที่มีการลงพื้นที่ ตนทำงานสอดประสานเป็นอย่างดีกับสำนักงานเขต วางตัวเป็นหูเป็นตาให้กับเขต ขยายมุมมองและการรับรู้ในพื้นที่ แม้ในวันนี้เรายังไม่มีอำนาจ ไม่มีงบประมาณ แต่เราต้องส่งต่อปัญหานี้ให้กับสำนักงานเขตให้ได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือ สำนักงานเขตรับเรื่องประชาชนตามเวลาราชการ แต่เราต้องรับตลอด 24 ชม.

นอกจากนั้น ทุกอาทิตย์ ยังต้องมีการติดตามประเมินผล ว่างานที่เราประสานขอความช่วยเหลือเอาไว้ คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว สิ่งสำคัญ คือ ต้องพร้อมประสานงานกับทุกภาคส่วน ถ้าหากทำตรงนี้ไม่ได้ จะไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย จึงไม่เลือกว่าคนของสำนักงานเขต จะเป็นของใคร แต่ต้องพูดคุยกันเพื่อเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ในขณะที่ ธัญธร มองว่า แม้นโยบายของ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ ของพรรคก้าวไกล จะมองว่าระบบราชการมีปัญหา สมควรได้รับการปรับปรุง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประกาศศึกกับทางสำนักงานเขต อยากให้มองว่า เป็นการทำงานแบบที่ควรจะเป็น คือ สอดประสานแบบไร้รอยบต่อ กับข้าราชการ กทม. ทุกคน ให้ทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ไม่ว่าประชาชนจะติดต่อใคร ปัญหาควรได้รับการแก้ไขเสมอ

นฤนันมนต์ มองว่า เหตุผลที่ประชาชนต้องนึกถึงเขตก่อน เพราะที่ผ่านมา ส.ก. ที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ทำหน้าที่มาตลอดหลายปี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ คำว่าผู้แทนฯ คือ เมื่อประชาชนมีปัญหา เขาต้องนึกถึง และสามารถเข้าถึงเราได้ การตัดสินใจรับเลือกตั้ง เหมือนเป็นการกลับมาให้ประชาชนคิดถึง และไว้ใจให้เราร่วมกันแก้ปัญหาเป็นลำดับแรก

ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ส.ก. พร้อมกับผู้ว่าฯ กทม. ทุกสายตามักจับจ้องไปที่แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะที่ผ่านมา ส.ก. ในกรุงเทพฯ อาจจะไม่ได้ทำหน้าที่คานอำนาจได้อย่างเต็มที่ เพราะส่วนใหญ่จะได้รับเลือกตั้งมาในทีมเดียวกัน แต่ครั้งนี้ต่างไป เราอาจได้เห็น ฝ่ายค้าน – ฝ่ายรัฐบาล ในสภา กทม. เพราะเมื่อไหร่ที่เรามีปัญหา ต้องส่งต่อถึงฝ่ายบริหาร ผู้แทนของเรานี้เองที่จะเป็นส่วนสำคัญ

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้