ประกาศเชิญทุกพรรคการเมืองเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น หวังผลักดันให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ แก้ปัญหาความยากจน ทั้งจนสิทธิ จนโอกาส จนอำนาจประชาชน ประเดิมเวทีแรก 8 เม.ย.นี้
วันนี้ ( 26 มี.ค.2565 ) สมัชชาคนจน ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคีคนจน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายนักวิชาการ และสื่อมวลชน ร่วมแถลงข่าวเดินหน้าโครงการเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน”
ไพฑูรย์ สร้อยสด ตัวแทนคณะทำงานยกร่างรัฐธรรมนูญคนจน อ่านคำแถลงว่า หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 มีการตื่นตัวของประชาชนในการเรียกร้องให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยเต็มใบ โดยเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง จนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่มีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่เคยมีมา จนถึงขนาดที่เรียกขานกันว่า “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 คือรัฐธรรมนูญประชาชน” และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนนำมาใช้ประโยชน์ ใช้อ้างอิงเพื่อรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบกำกับการทำงานของรัฐบาลและข้าราชการ สร้างความสั่นสะเทือนต่อระบบอำนาจเก่า สร้างความวุ่นวายต่อระบบราชการ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้พรรคการเมืองมีอำนาจมากเกินจนก้าวล่วงเข้าไปแทรกแซงอำนาจอื่นๆ อันเป็นสาเหตุหนึ่งในการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ขึ้นมาใช้ โดยให้สถาบันตุลาการมีอำนาจมากกว่าสถาบันอื่นหรือที่เรียกกันว่า “ตุลาการภิวัฒน์” แต่ผลจากรัฐธรรมนูญนี้กลับนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้น
จนนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าสู่ยุคเผด็จการโดยสมบูรณ์แบบ มีการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้อำนาจ คสช.อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดผ่าน มาตรา 44 ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพจนได้รับความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า และ คสช.ได้พยายามสืบทอดอำนาจโดยการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ขึ้นมา รัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่มอำนาจให้กับรัฐ ลดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนลิดรอนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน ลิดรอนสิทธิชุมชน รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้
ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงทุนและปัจจัยการผลิต แรงงานไม่ได้รับการคุ้มครอง ขาดสวัสดิการและอยู่ในภาวะอ่อนแอ เกิดความเหลื่อมล้ำจากกระบวนการยุติธรรม ไม่คุ้มครองคนพลัดถิ่น คนไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าที่ผ่านมาหลายรัฐบาลจะประกาศขจัดปัญหาความยากจนให้หมดไป แต่ก็ไม่เคยทำสำเร็จเพราะไม่เคยทำความเข้าใจปัญหาจากคนจน ฟังแต่คนรวยให้คนรวยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนเพียงฝ่ายเดียว นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันการแก้ปัญหาคนจนยังซ้ำเติมปัญหาเก่า สร้างปัญหาใหม่ให้รุนแรงยิ่งขึ้น เพิ่มความทุกข์ยากลำบากให้กับคนจนไม่รู้จบ คนจนยังคงจนทั้งสิทธิ จนอำนาจ จนโอกาส และถูกทำให้จน
พวกเราเครือข่ายองค์กรภาคีคนจน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และสื่อมวลชนในนาม เครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจน มีความเห็นว่า หมดเวลาที่จะใช้รัฐธรรมนูญเผด็จการฉบับนี้แล้ว พวกเราต้องการรัฐธรรมนูญที่พวกเรามีส่วนร่วม รัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชน ดังเช่นร่างรัฐธรรมนูญคนจนที่พวกเราได้ร่วมกันยกร่างขึ้นมา
ดังนั้น พวกเราจึงได้จัดเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน” ขึ้น ใน 4 ภาค 7 เวที ระหว่างเดือนเมษายนถึง เดือนมิถุนายน 2565 นี้ เพื่อเป็นการรณรงค์ในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ พวกเราจึงขอใช้เวทีนี้ในการประกาศเชิญพรรคการเมืองทุกพรรคมาร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ พวกเราหวังว่าจะได้รับความร่วมมือด้วยดีจากทุกพรรคการเมือง
จากนั้น รศ.สามชาย ศรีสันต์ ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ได้กล่าวถึงงานวิจัยการฟังเสียงคนจน เสียงร้องไห้คนจน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2543 ซึ่งที่ผ่านมาในประเทศไทยไม่เคยไปรับฟังปัญหาของคนจน ว่าพวกเขาประสบกับปัญหาอะไร แก้ปัญหาความยากจนจากในทำเนียบฯ ในสภาฯ จากคนที่ไม่เคยเข้าไปรับฟังการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง การแก้ปัญหาความยากจนมักจะให้คนรวยเป็นคนคิดวิธีแก้ปัญหาความยากจนให้กับคนจน และคิดวิธีการแก้ปัญหาความยากจนให้คนจนด้วยการหาอาชีพ หารายได้ ด้วยวิธีการสงเคราะห์ต่างๆ ทั้งที่สิ่งที่ทำให้คนยากจนในทุกยุค คือการจนสิทธิ จนโอกาสจนอำนาจ การแก้ปัญหาความยากจนจึงไม่ใช่แค่ จัดสรรเงิน จัดสรรที่ดินทำกินให้ หรือหางานให้ทำ แต่คือให้สิทธิที่เท่าเทียมเหมือนกับกลุ่มคนอื่น โดยเฉพาะคนรวยกับคนจน ควรจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกันในความเป็นคนไทย
“ การแก้ปัญหาความยากจนไม่ใช่การให้ปลาเพื่อบรรเทาความหิวโหย ไม่ใช่การสอนให้จับปลาอย่างที่มักจะพูดกันว่าคนจนต้องพึ่งพาตนเองได้ แต่คือการให้สิทธิที่จะเข้าถึงแหล่งน้ำที่จะจับปลา ให้โอกาสที่จะครอบครองเครืองมือในการจับปลา ให้อำนาจที่คนจนจะออกระเบียบในการจับปลาด้วยตนเองได้ ถ้าพรรคการเมืองผู้มีอำนาจเข้าใจปัญหาคนจน ก็จะสามารถแก้ปัญหาคนจนได้ จึงขอเชิญชวนให้มาเข้าร่วมพรรคการเมืองฟังเสียงคนจน “
รศ.สามชาย ศรีสันต์ ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
ชลิตา บัณฑุวงศ์ ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง กล่าวว่า ขบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญคนจนครั้งนี้เป็นความพยายามอีกอย่างหนึ่งที่เราจะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และหวังว่ากลุ่มเครือข่ายอื่นๆจะมีการร่างรัฐธรรมนูญและนำเสนอรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง เพื่อเตรียมพร้อมเอาเนื้อหาเหล่านี้เสนอต่อ ส.ส.ร. รัฐธรรมนูญปี 60 ถูกเขียนมาอย่างแยบยลเพื่อให้สืบทอดระบอบรัฐประหาร คสช. เพื่อให้มีเสื้อคลุมที่คล้ายจะเป็นประชาธิปไตย ส่วนที่มาก็ไม่ชอบธรรม เพราะมีการจับกุมผู้ที่ออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก และก็ขึ้นศาลทหาร รวมถึงเนื้อหาที่ไม่เอื้อถึงคนจน เพิ่มอำนาจรัฐจำกัดสิทธิประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมาก และถ้าย้อนกลับไปก่อนการเลือกตั้งปี 62 พรรคการเมืองหลายพรรคก็ให้สัญญาว่าจะเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พอเวลาผ่านไปนัยสำคัญของการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีน้อยลง เช่นการถูกปัดให้ตกในสภา ถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พรรคการเมืองหลาย ๆ พรรคโดยเฉพาะพรรครัฐบาลได้อ้างว่ามีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับถูกแก้ไขเฉพาะมาตราที่ไม่มีนัยสำคัญ ที่ไม่ได้เปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบอบการเมืองการปกครองของประเทศเรา
“ เพราะฉะนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญคนจนที่เรามีร่างออกมาแล้ว เรามีความชัดเจนอย่างมากที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจของการเมืองการปกครอง มีความชัดเจนตั้งแต่คำปรารภแล้วว่านี่คือการสถาปนาอำนาจของประชาชน และหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับคนจน คือการแก้ไขได้ในทุกหมวดทุกมาตรา ไม่จำกัดตนเองล่วงหน้าว่าหมวดไหนแก้ไม่ได้ หรือมาตราไหนแตะไม่ได้ เราอยากเรียกร้องให้พรรคการเมืองเปิดใจให้กว้างทะลุกรอบที่เคยจำกัดตนเอง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม ที่เคยออกตัวว่าจะไม่แตะบางหมวดบางมาตรา ซึ่งในเวทีต่างๆ เราจะมีการแลกเปลี่ยนกันในเรื่องนี้”
ชลิตา บัณฑุวงศ์ ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
นุชนารถ แท่นทอง ตัวแทนเครือข่ายสลัมสี่ภาค ยืนยันว่า เครือข่ายฯจะร่วมทุกเวทีที่มีคนจนเมืองอยู่ทุกภูมิภาค ถามว่าทำไมเราต้องร่วม เป็นเพราะว่ารัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่เราดีขึ้นเลย เรากลับถูกละเมิดสิทธิ์ในที่ดินที่อยู่อาศัย และยังมีปัญหาเรื่องความเป็นอยู่วิถีชีวิต และเรารู้สึกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเครื่องมือของนักการเมือง ที่เร่งออกกฎหมายเพื่อควบคุมประชาชน ทำให้ข้าวยากหมากแพง ทำให้เราเหมือนเป็นคนที่ต้องแบมือขอ ไม่มีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตด้วยตนเอง จะเรียกร้องอะไรก็ต้องผ่านระบบรัฐนี้ไปหมด ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เราคิดว่าการมีส่วนร่วมเป็นสิ่งสำคัญ และการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเรา ยืนยันเราไม่เอารัฐธรรมนูญปี 60
บารมี ชัยรัตน์ ตัวแทนสมัชชาคนจน กล่าวว่า เราคงไม่ได้ไปยื่นหนังสือต่อรัฐสภา เพราะเราเตรียมเป็นจดหมายไว้สำหรับส่งไปษณีย์ไปให้ถึงพรรคการเมืองทุกพรรค และมีการใช้การติดต่อโดยตรงด้วย สำหรับตอนนี้จากการติดต่ออย่างไม่เป็นทางการ ทุกพรรคตอบรับว่าจะมา บางพรรคระบุคนไว้แล้ว ว่าจะส่งใครมาและเป็นระดับผู้บริหาร ซึ่งข้อสรุปของแต่ละเวที เราจะรวมรวบเขียนเป็นร่างรัฐธรรมนูญคนจนฉบับสมบูรณ์ที่สุดเพื่อไปยื่นกับ ส.ส.ร. เพราะเราเชื่อว่าจะมี ส.ส.ร. เราจะไปผลักดันผ่าน ส.ส.ร.ชุดใหม่ และเราหวังว่าพรรคการเมืองที่มาร่วมเวทีกับเราจะช่วยเราสนับสนุนความเห็นของเราด้วย
“ เราจะเชิญพรรคการไปร่วมฟังด้วยรวมทั้งเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้เสนอนโยบายของตนเอง ว่ากับข้อเสนอของพวกเราถ้าเอาไปปรับเป็นนโยบายของตนเอง จะมีรูปแบบเป็นอย่างไร เวทีสุดท้ายคือเวทีวันที่ 24 มิถุนายน 2565 หลังจากเวทีนี้เราจะนำข้อมูลไปปรับในรัฐธรรมนูญคนจนอีกครั้ง “
บารมี ชัยรัตน์ ตัวแทนสมัชชาคนจน
โดยการจัดเวทีสัญจร ครั้งที่ 1 “สิทธิในการจัดการทรัพยากร การกระจายอำนาจ และการพัฒนาท้องถิ่น” จะจัดขึ้นวันศุกร์ที่ 8 เมษายน 2565 จังหวัดสกลนคร
ครั้งที่ 2 “สิทธิเกษตรกร : สินค้าราคาแพง ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูง ราคาผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร” วันจันทร์ที่ 25 เมษายน 2565 ที่จังหวัดสุรินทร์
ครั้งที่ 3 “รัฐสวัสดิการ : สิทธิแรงงาน สิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิการศึกษา สิทธิสุขภาพ” วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม2565 กรุงเทพมหานคร
ครั้งที่ 4 “สันติภาพชายแดนใต้”วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2565 จังหวัดปัตตานี
ครั้งที่ 5 “กระบวนการมีส่วนร่วมกับรัฐในการตัดสินใจ” วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2565 จังหวัดสงขลา
ครั้งที่ 6 “สิทธิของธรรมชาติ การกระจายอำนาจ สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง” วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน 2565 จังหวัดเชียงใหม่
ครั้งที่ 7 “สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพสื่อมวลชน สิทธิผู้หญิง ความหลากหลายทางเพศ” วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2565 กรุงเทพมหานคร