อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ห่วงงบฯ กทม. เหลือ 94 ล้านบาท รอผู้ว่าฯ คนใหม่ เหตุส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับบุคลากร ‘ชัชชาติ’ แจงเปลี่ยนวิธีคิดนโยบาย ไม่เสนอเมกะโปรเจกต์ ทบทวนการลงทุน และหารายได้เพิ่ม
จากกรณีที่ สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกมาแสดงความกังวล ถึงนโยบายที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ หาเสียงเอาไว้ อาจไม่สำเร็จเป็นรูปธรรมในปีงบประมาณนี้ เนื่องจากมีอุปสรรคเรื่องงบประมาณที่เหลืออยู่เพียง 94 ล้านบาท จากทั้งหมดเกือบ 79,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจากงบกลาง ในส่วนของ ‘เงินสำรองจ่ายทั่วไปกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น’ ประมาณ 67 ล้านบาท และ ‘เงินสำรองจ่ายทั่วไป’ กรณีค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนากรุงเทพฯ ประมาณ 27 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2565)
ในขณะที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Active ถึง อุปสรรคด้านงบประมาณของ กทม. ว่า นโยบายมากกว่า 200 ข้อที่นำเสนอมานั้น ไม่ใช่โครงการที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการแก้ไขเท่านั้น อย่างเช่น เรื่องระบบสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ไม่ได้มีการสร้างอะไรใหม่ แต่ปรับวิธีคิด โดยกระจายการทำงานลงสู่ชุมชน แล้วหาแนวร่วมให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่การสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณเยอะ
ชัชชาติ เปิดเผยว่า อาจมีโครงการเดียวที่ต้องใช้งบประมาณมาก อย่างการวางระบบการจราจร เพื่อความปลอดภัย ที่ประเมินว่าต้องใช้อยู่ที่ 2,000 – 3,000 ล้านบาท ในขณะที่โครงการขนาดใหญ่ หรือ เมกะโปรเจกต์นั้น ในส่วนของนโยบายของชัชชาติ ไม่ได้มีการนำเสนอเอาไว้ และมองว่าบางโครงการอาจจำเป็นต้องกลับมาทบทวนใหม่ด้วย เพราะการใช้งบประมาณเป็นระบบ zero sum ที่จะกระทบกับงบประมาณส่วนอื่นด้วย
“เรารู้ว่า กทม.ไม่ค่อยมีตังค์ แล้วเมกะโปรเจกต์ ต้องมาจัดลำดับความสำคัญกันใหม่ ว่าทำแล้วคุ้มหรือไม่ ต้องเอากลับมาทบทวนด้วย เพราะหากทำไป เท่ากับเป็นการดึงเงินส่วนอื่นมา ไม่ใช่ว่าเราจะมีเงินเพิ่ม อย่างการทำรถไฟฟ้าเยอะ ก็อาจเป็นการดึงเงินจากสาธารณสุขมาด้วย”
นอกจากนั้น ชัชชาติ ยังกล่าวอีกว่า กทม. ต้องมองถึงการหารายได้เพิ่มเติมด้วย จากการเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ และการหาช่องทางภาษีอื่นเพิ่ม โดยจากการหารือร่วมกับเครือข่ายด้านสุขภาพ มีความเป็นไปได้ที่จะเก็บภาษียาสูบเพิ่มเติม ซึ่งจะเพิ่มงบประมาณได้ปีละ 300 – 400 ล้านบาท อีกทั้ง กทม. ยังต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งหมดด้วย เพื่อให้งบประมาณของ กทม. ได้ใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด