‘วิรัตน์ มีนชัยนันท์’ จากเพื่อไทย นั่งประธานสภา กทม. ตามโผ ด้าน ส.ก. คันนายาว พรรคเพื่อไทย และ ส.ก. บางแค พรรคก้าวไกล นั่งรองประธาน นับเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี ที่สภา กทม. มี ส.ก. จากการเลือกตั้ง
วันนี้ (6 มิ.ย. 2565) พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางไปเปิดการประชุมสภากรุงเทพมหานครครั้งแรก ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง โดยมี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุม พร้อมสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
การประชุมในวันนี้ มี ส.ก. เข้าร่วมประชุม 45 เขต เนื่องจาก ยังมีอีก 5 เขต คือ เขตพญาไท สายไหม ห้วยขวาง ดินแดง และเขตวังทองหลาง ที่อยู่ระหว่างการรับรองจาก กกต. เพื่อทำการตรวจสอบเบื้องต้นว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่
ส่วนวาระการประชุมวันนี้ เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ที่ต้องให้สมาชิก ซึ่งมีอายุมากที่สุด คือ ไสว โชติกะสุภา ส.ก. เขตราษฎร์บูรณะ พรรคไทยสร้างไทย เป็นประธานชั่วคราว เพื่อเลือกประธาน และรองประธานสภากรุงเทพมหานคร
ซึ่งจากการประเมินเสียงของสมาชิกในสภา กทม. ก่อนหน้านี้ พบว่า พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งมากที่สุด จำนวน 20 เสียง รองลงมา คือ พรรคก้าวไกล 14 เสียง ประเมินว่าที่นั่งประธานสภาจะเป็นของฝั่งเพื่อไทย โดยมีการเสนอชื่อ วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก. เขตมีนบุรี น้องชาย วิชาญ มีนชัยนันท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และแกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นประธานสภากรุงเทพมหานคร
จากนั้น ราว 14.00 น. ปรากฏว่าที่ประชุมสภา กทม. มีมติให้ วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก. เขตมีนบุรี พรรคเพื่อไทย เป็นประธานสภา ส่วนรองประธานสภา กทม. คนที่ 1 คือ ชญาดา วิภัติภูมิประเทศ ส.ก.เขตคันนายาว พรรคเพื่อไทย และรองประธานสภา กทม. คนที่ 2 คือ อำนาจ ปานเผือก ส.ก.เขตบางแค พรรคก้าวไกล
และเห็นชอบให้ นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ เป็นโฆษกสภา กทม. ขณะที่ นริสสร แสงแก้ว, ปิยะวรรณ จระกา, ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย และ วิรัช คงคาเขตร เป็นรองโฆษก โดยกำหนดสมัยการประชุมสภากทม. สมัยสามัญ 4 สมัย คือ สมัยที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-30 มกราคม สมัยที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-30 เมษายน สมัยที่ 3 ระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม และสมัยที่ 4 ระหว่างวันที่ 1-30 ตุลาคม ดำเนินการประชุมทุกวันพุธ สำหรับการประชุมครั้งต่อไปในปีนี้ กำหนดการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยสามัญ สมัยที่ 3 ระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2565
สำหรับการประชุมสภากรุงเทพมหานครครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี ที่ได้ ส.ก. จากการเลือกตั้ง ท่ามกลางความคาดหวังของประชาชน ในการพิจารณางบประมาณ และแก้ไขข้อบัญญัติเพื่อการบริหารที่มีประสิทธิภาพของ กทม.