ย้ำจุดยืนจัดโครงสร้างอำนาจใหม่ให้เป็นการกระจายมากกว่า เป็นรัฐราชการรวมศูนย์ตัดอำนาจบังคับบัญชาระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับ ตำรวจนครบาล เสนอตั้งคณะกรรมการนโยบายตำรวจจังหวัด จัดการดูแลในบริบทพื้นที่ที่แตกต่าง
วันนี้ ( 11 มิ.ย.65 ) พันตำรวจตรี ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลแสดงความเห็นต่อการพิจารณา พ.ร.บ.ตำรวจ วาระที่ 2 ซึ่งเป็นการพิจารณารายมาตราช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สามารถพิจารณาไปได้เพียงแค่ 14 มาตราจาก 172 มาตราเท่านั้น และมีหลายมาตราที่ตนในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้สงวนความเห็นเอาไว้ หากผ่านก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตำรวจ ทำให้ตำรวจไทยดีขึ้นได้ทันที โดยเฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจไปให้จังหวัด ลดการรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับที่องค์กรตำรวจญี่ปุ่นใช้ โดยทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นองค์กรตำรวจที่ดีอันดับต้น ๆ ของโลก และมีบริบทที่คล้ายคลึงกันไม่ว่าการเป็นรัฐเดี่ยวหรือการเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
พันตำรวจตรี ชวลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการอภิปรายมาตรา 13 กรรมาธิการเสียงข้างมากมีการเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ต่อจากมาตรา 13 หลายมาตรา ตนจึงได้ขอเพิ่มใหม่เช่นกัน เพื่อไปสู่ข้อเสนอสำคัญคือ การกำหนดให้มีกรรมการนโยบายตำรวจจังหวัด และ กรรมการนโยบายตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นข้อเสนอที่จะสามารถบอกว่าเป็นการปฏิรูปได้เต็มปาก
“การจัดโครงสร้างอำนาจแบบที่ผมเสนอ จะเปลี่ยนระบบราชการตำรวจให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้ แต่ถึงสภานี้โหวตให้ข้อเสนอไม่ผ่าน อย่างน้อยก็จะเป็นพื้นที่ที่ทำให้ประชาชนได้เห็นว่า หากก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะถึง จะพลิกเปลี่ยนระบบราชการไทยให้มีประสิทธิภาพ มีอนาคตที่สดใส เทียบประเทศที่เจริญแล้วได้อย่างไร
พ.ต.ต. ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
พันตำรวจตรี ชวลิต ยังเห็นว่า การบริหารองค์กรยุคใหม่ต้องเลิกสายบังคับบัญชาที่ยาว ทำให้ระบบงานอุ้ยอ้ายเปลี่ยนเป็นสายบังคับบัญชาสั้นลงเคารพกันมากขึ้น เปลี่ยนจากโครงสร้างที่ต้องให้เจ้านายกดขี่ควบคุมลูกน้องหรือเจ้านายถูกเสมอ ใช้อำนาจแบบบนลงล่าง เปลี่ยนเป็น โครงสร้างที่ให้ความสำคัญกับคนหน้างาน โดยเจ้านายเป็นผู้สนับสนุนทรัพยากรให้ลูกน้องทำงานได้ดี ทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน การจะเปลี่ยนอนาคตให้เป็นแบบนี้ได้ จะต้องทำลายโครงสร้างอำนาจแบบรัฐรวมศูนย์
สำหรับการจัดโครงสร้างอำนาจใหม่ให้เป็นการกระจายมากกว่าเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ พันตำรวจตรี ชวลิต อภิปรายว่า ต้องทำให้สายบังคับบัญชาสั้นลง โดยตัดอำนาจบังคับบัญชาระหว่างตำรวจภาคกับตำรวจจังหวัดและตัดอำนาจบังคับบัญชาระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับตำรวจนครบาล แล้วเปลี่ยนจากจากอำนาจบังคับบัญชาให้เป็นการสนับสนุน จากนั้นจึงให้มีคณะกรรมการนโยบายตำรวจจังหวัด และคณะกรรมการนโยบายตำรวจนครบาล มาเป็นผู้บังคับบัญชาแทน เพื่อให้สามารถดูแลจัดการพื้นที่ได้ตามสภาพแต่ละจังหวัดที่มีบริบทแตกต่างกันไป
ส่วนคุณสมบัติหรือที่มาของ คณะกรรมการนโยบาย ได้เสนอให้คณะกรรมการนโยบายตำรวจนครบาล มาจากผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร สรรหามาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ ในทางด้านนิติศาสตร์ การบริหารรัฐกิจ การเงินการคลัง จิตวิทยาองค์การ และสังคมวิทยา ด้านละหนึ่งคน และให้สภากทม. รับรอง ส่วนของจังหวัดแต่ละจังหวัด ก็ทำไปในกระบวนการลักษณะเดียวกัน และกำหนดให้ตั้งอนุกรรมการทำหน้าที่ต่างๆ เช่น ติดตามผลการดำเนินงานและรับเรื่องร้องเรียน การประชุมต้องโปร่งใสประชาชนเข้าถึงรายงานการประชุม และมติการประชุมได้ง่าย
“โครงสร้างอำนาจแบบกระจายอำนาจแบบนี้ เอาแบบมาจากตำรวจญี่ปุ่น พ.ร.บ. ตำรวจ ญี่ปุ่น วางโครงสร้างไว้ตั้งแต่หลังจบสงครามโลก โดยไม่แก้เลยเป็นเวลา 70 ปีแล้ว ผลก็คือได้รับการจัดอันดับให้เป็นองค์กรตำรวจที่ดีอันดับต้นๆ ของโลก นี่คือพิสูจน์มาแล้ว ประเทศไทยคงไม่ต้องมาลองผิดลองถูกอีกแล้ว การปรับนิดๆหน่อยๆ แต่ยังคงความเป็นอำนาจรวมศูนย์เหมือนเดิมไม่ใช่การปฏิรูป การปฏิรูปตำรวจ จริงๆ คือ ต้องกระจายอำนาจให้เกิดขึ้นจริง”
พ.ต.ต. ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
พันตำรวจตรี ชวลิต กล่าวต่อไปว่า หลายคนอาจมีความกังวลว่า พอพูดถึงกระจายอำนาจ จะต้องเปลี่ยนไปเป็นข้าราชการท้องถิ่นหรือไม่ จะเติบโตในสายงานขึ้นมาจากระดับจังหวัด เป็นระดับภาคหรือประเทศได้หรือไม่ยืนยันและชี้แจงว่า ตำรวจทุกคนยังคงอยู่ในองค์กรตำรวจเหมือนเดิม ที่ทำงานที่เดิม ใส่เครื่องแบบเหมือนเดิมสามารถก้าวหน้าในสายงานจากระดับจังหวัดสูงขึ้นไปกว่าระดับจังหวัดไประดับภาคและประเทศได้เหมือนเดิมเพราะโครงสร้างที่เสนอนี้ยังไม่ได้เป็นการโอนหน่วยงานไปให้ท้องถิ่นแบบสหรัฐอเมริกา ที่ตำรวจแต่ละมลรัฐเป็นองค์กรที่แยกออกจากกัน และที่เสนอโมเดลแบบญี่ปุ่น เพราะมีโครงสร้างที่เหมือนกับไทยมากกว่า โดยจะทำให้ถ่วงดุลกันได้ระหว่างตำรวจจังหวัด กับตำรวจส่วนกลางมากขึ้น
พันตำรวจตรี ชวลิต กล่าวว่าในสัปดาห์หน้า ยังมี พ.ร.บ.ตำรวจ เหลืออีกหลายมาตราให้สู้ต่อ หนึ่งในความเห็นที่ตนสงวนไว้คือ เสนอเพิ่มความในมาตรา 143 วรรคสอง
“ข้าราชการตำรวจทุกเพศมีสิทธิและเสรีภาพในการไว้ผมสั้น หรือยาวก็ได้ โดยสุภาพและเรียบร้อย การออกกฎระเบียบ หรือคำสั่งเกี่ยวกับทรงผมข้าราชการตำรวจ ให้จำกัดสิทธิและเสรีภาพได้เท่าที่จำเป็นเพื่อความสุภาพและเรียบร้อยเท่านั้น”
พันตำรวจตรี ชวลิต กล่าวว่า แม้แต่เด็กนักเรียนในปัจจุบันก็ยังยกเลิกการบังคับตัดทรงผมที่ล้าหลังไปแล้ว ยิ่งข้าราชการตำรวจทุกคนเป็นผู้มีวุฒิภาวะ จึงไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดเลยที่จะต้องบังคับตำรวจชายตัดผมสั้นเกรียนเหมือนกันหมดอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการออกระเบียบโดยอำนาจ ผบ.ตร. ตนเชื่อว่าข้าราชการตำรวจจำนวนมากอึดอัดไม่พอใจ แต่ต้องจำทนกับคำสั่งละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นนี้
“ในเรื่องนี้ พรรคก้าวไกล เป็นพรรคเดียวที่เสนอแก้ไข มาจับตาดูกันครับว่า ผมในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย จะสามารถโน้มน้าวสภาได้หรือไม่ ถ้าโหวตชนะจะมีผลให้ระเบียบทรงผมขาวสามด้าน ที่ผบ.ตร. บังคับถูกยกเลิกไปโดยปริยาย และจะออกคำสั่งริดรอนสิทธิในทรงผมเช่นนี้ไม่ได้อีก “
พันตำรวจตรี ชวลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ตำรวจทุกนายสามารถมีส่วนร่วมด้วยการส่งข้อหรือแสดงเจตจำนงค์ไปถึง ส.ส.ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อบังคับนี้ได้