‘อดีต กสม.’ ซัด 8 ปี ประยุทธ์ ทำลายทรัพยากร ละเมิดสิทธิชุมชน

แนะ ‘ประวิตร’ ใช้โอกาสทบทวนนโยบาย ยกระดับการพูดคุยแก้ปัญหา ป่าไม้ – ที่ดิน – สินแร่ ก่อนขบวนการประชาชนยกระดับ นำไปสู่วิกฤตประเทศที่ยากเกินแก้

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ Active Talk ทางเพจ The Active ถึงประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในรอบ 8 ปี ที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน และสิทธิชุมชนของคนในแต่ละพื้นที่ ทำให้เกิดขบวนการภาคประชาชนที่ออกมาเรียกร้องในประเด็นปัญหาต่าง ๆ มากมาย แต่ไม่ได้รับการตอบสนองหรือแก้ไข ซึ่งอาจนำไปสู่การยกระดับเรียกร้องของประชาชนและวิกฤตของประเทศ

นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ตลอด 8 ปีของรัฐบาลนี้ ไม่มีความเข้าใจต่อหลักสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชน เนื่องจากนโยบายการพัฒนาที่ผ่านมาไม่ได้คำนึงถึงฐานทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลาย ซึ่งเป็น “ทุนมนุษย์” ที่สำคัญในการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ แต่กลับเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจตามระบบทุนนิยมเสรีสมัยใหม่ ทำให้เกิดการผูกขาดของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ แม้รัฐบาลจะได้ผลประโยชน์จากการพัฒนานั้น แต่ประชาชนในพื้นที่กลับทุกข์ทน ไร้ที่ทำกิน ไร้ที่อยู่อาศัย ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและใช้ชีวิตตลอดมา

“พูดแบบตรงไปตรงมา ตอนนี้ทรัพยากรธรรมชาติ ไปตกอยู่ในมือกลุ่มทุนทั้งนั้น เพราะนโยบายของรัฐบาลที่ไม่เข้าใจหลักสิทธิชุมชน ทำให้ขาดกฎหมายออกมาควบคุม ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่มีหน่วยงานที่ป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง เมื่อมีผลกระทบมา กระบวนการเยียวยา ฟื้นฟู ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐบาลมองทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เป็นเพียงวัตถุ หรือสินค้าเท่านั้น…”

ความไม่เข้าใจต่อเรื่องนี้ที่ชัดเจนที่สุด คือ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นใน จ.เชียงใหม่ เมื่อสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และภาคีเครือข่าย รวมตัวกันเพื่อส่งเสียงถึงผู้นำโลกว่า นโยบายทวงคืนผืนป่าของประเทศไทย กำลังทำร้ายประชาชนในพื้นที่ ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกป่า โดยแถลงการณ์ส่วนหนึ่งระบุว่า “รัฐบาลไทยไม่เคยเป็นฮีโร่ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม มีแต่ประชาชนทั้งนั้นที่ช่วยกันดูแลทรัพยากร และหากท่านไม่รับฟังเสียงของพวกเรา ยังคงเชื่อคำลวงและเดินรอยตามนโยบายขายฝันของรัฐบาลไทย จงรู้ไว้เถิดว่าท่านทั้งหลาย คือผู้มีส่วนรู้เห็นในการเข่นฆ่าและละเมิดสิทธิมนุษยชนของพวกเรา”​

นพ.นิรันดร์ กล่าวต่อว่า เมื่อรัฐไม่เข้าใจหลักสิทธิชุมชน จึงตามมาด้วยการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง เนื่องจากการบริหารประเทศอยู่ใน “ระบอบอำนาจนิยม” ภายใต้รูปแบบประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยพันทาง จึงกระทบการเมืองภาคประชาชน โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่ประชาชนออกมาเรียกร้อง แล้วถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจและกฎหมายในการขัดขวาง ถือเป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนที่ไทยมีพันธกรณีระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาต่าง ๆ ที่ได้ไปเซ็นเอาไว้ จึงถือได้ว่าเป็น 8 ปีที่ไม่เห็นหัวประชาชนแม้แต่น้อย

นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญ 2560 ก็เป็นปัญหาในเชิงหลักการ มีการกำหนดหน้าที่ของรัฐ ว่ามีอะไรบ้าง แต่ นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ตามหลักสากลแล้ว อะไรที่เป็นสิทธิของประชาชน ล้วนเป็นหน้าที่ของรัฐทั้งสิ้น นี่ส่งผลให้ระบบราชการยังไม่เข้าใจการจัดการที่ดิน การจัดการทรัพยากร ยึดถือเป็นอำนาจ หน้าที่ของตัวเอง อ้างอิงกฎหมายเก่า ที่ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มาของปัญหา จึงเป็นทั้ง เรื่องระบบราชการ กฎหมาย และนโยบายการบริหารด้วย

แนะ ‘ประวิตร’ ทบทวนแนวทางแก้ปัญหา ปรับนโยบาย

นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ตอนนี้ขบวนการภาคประชาชนพัฒนาการขึ้นมาเรื่อย ๆ จะเห็นคนรุ่นใหม่เข้าไปสนับสนุนอยู่ทุกกลุ่มการเรียกร้อง เพราะคนกลุ่มนี้เริ่มมองเห็นอนาคตที่ไร้ความหวังของตนเอง สิทธิชุมชนที่ถูกทำลาย จากนโยบายการจัดการทรัพยากร คนเหล่านี้เป็นลูกหลานคนในชนบท ที่เข้ามาทำงานหากินในเมือง ปู่ ย่า ตา ยายยังอยู่ในท้องถิ่น และเมื่อเขาต้องกลับภูมิลำเนาไปด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ ยังต้องไปเผชิญกับการไม่มีงานทำ ไม่มีที่ทำกินอย่างนั้นหรือ รัฐบาลต้องกลับมามองว่า ประชาชนจะรอดจากการเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจได้อย่างไร ไม่ใช่แจกเงินอย่างเดียว แต่ต้องปรับโครงสร้าง และฟื้นฟูฐานทรัพยากรด้วย

กสม.

แม้ตอนนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จะหยุดการปฏิบัติหน้าที่ไป แต่ระบอบต่าง ๆ ยังคงอยู่ ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า รักษาการนายกฯ ในขณะนี้ควรจะมีการทบทวนนโยบาย เพื่อนำไปสุการพูดคุยและหาข้อยุติในประเด็นปัญหาต่าง ๆ หากไม่อยากไปถึงจุดที่ “ประชาชนสิ้นศรัทธา” อย่าง พล.อ. ประยุทธ์ เพราะไม่เช่นนั้นขบวนการภาคประชาชนจะออกมามากกว่านี้ และหลากหลายกว่านี้ เพราะเขาทนทุกข์ทรมาน จากนโยบายที่ไม่เห็นหัวประชาชน นโยบายการพัฒนาที่ละเมิดสิทธิชุมชน วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นขณะนี้ ล้วนเกิดขึ้นจากนโยบายพัฒนาของรัฐทั้งสิ้น

“แรกเริ่มคุณประวิตรก็เป็นหัวขบวนในคณะกรรมการแก้ปัญหาอยู่แล้ว แต่พอเกิดรอยร้าวในรัฐบาลก็ทำให้ทิศทางการแก้ปัญหาเปลี่ยนไป คุณประวิตรมีประสบการณ์ในทางการเมืองมากกว่า ถ้าเข้าใจหลักการตรงนี้ จะผ่อนให้เรื่องที่แรงอยู่ ลงมาในระดับการพูดคุยได้ โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน ป่าไม้ การผันน้ำในแต่ละภาค หรือเรื่องสินแร่ ถ้ายกระดับคุยกันในนโยบายได้ บริหารจัดการใหม่ ไม่ทำร้ายชาวบ้าน อาจช่วยหาทางออกได้ โดยหวังว่าคุณประยุทธ์จะไม่กลับมาอีกที…”


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active