นโยบายอนุรักษ์ชายฝั่งไม่คืบหน้า ผู้ทรงคุณวุฒิฯ นครศรีธรรมราช ขอลาออก

ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมทรัพยากรทางทะเลฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช ยื่นหนังสือลาออก ต่อปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ พร้อมเข้าชี้แจงปัญหาของการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และเรียกร้องให้กระทรวง ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาชายฝั่งทะเล

ภาพจาก beach for life

วันนี้ (31 ส.ค. 65) ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดนครศรีธรรมราช 6 คน ได้แก่ วิรชัช เจะเหล็ม (อำเภอหัวไทร) ไกรศล หมื่นแก้ว (อำเภอปากพนัง) ประยุทธ์ เเซ่ลิ่ม (อำเภอเมือง) สมชาย ฉลาดแฉลม (อำเภอสิชล) ราเชษฐ์ โต๊ะล่า (อำเภอสิชล) และ พิมพาภรณ์ ทองเเซม (อำเภอขนอม) ยื่นหนังสือลาออกอย่างเป็นทางการต่อ จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยได้เข้าชี้แจงเหตุผลในการลาออกของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 6 คน ประเด็นสาระสำคัญคือการ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการนำของ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนและสามารถตอบสนองความต้องการในอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะและชายฝั่งได้อย่างแท้จริง โดยระหว่างการพูดคุยชี้แจ้งนั้น สมชาย ฉลาดแฉลม หนึ่งในผู้ผู้ทรงคุณวุฒิเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญมาก และใกล้ชิดกับประชาชนในฐานะเป็นกระทรวงที่มีหน้าปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ในขณะเดียวกัน กลับพบว่าทุกวันนี้มีหน่วยงานหลายหน่วยงานทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลับไม่กล้าที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นสมบัติของประชาชน ปล่อยให้เกิดการทำลายทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 6 คนได้นำเสนอปัญหาของการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ของกระทรวงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ผ่านมา ดังนี้

ประเด็นการกัดเซาะชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดช่องว่างทางกฎหมายให้เกิดการทำลายชายหาดโดยการที่โครงสร้างกำแพงกันคลื่นนั้นไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้ชายหาดในจังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน เผชิญกับโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่ทำลายชายหาดหลายพื้นที่และมีความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่ ในขณะที่กรมทรัพยากรทางทะและชายฝั่งและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ยอมนำโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังเดิม

นอกจากนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นว่า ที่ผ่านมาในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่มีผู้แทนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไปปรากฏในเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อท้วงติง หรือให้ข้อมูลเพื่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเลย จึงขอให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พัฒนาบุคลากร ที่มีความรู้มีความเชี่ยวชาญ มีระบบข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ และต้องส่งบุคคลากรของกรมฯ เข้าร่วมเวทีรับฟังคิดเห็นเพื่อถ่วงดุลข้อมูลกับหน่วยงานที่จะเข้ามาดำเนินการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งให้มากขึ้น

ประเด็นการบริหารจัดการองค์กร ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ผ่านมานั้นไม่มีนโยบายและหน้าที่ที่ชัดเจนในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ผ่านมายังเป็นการดำเนินการเพื่อที่ไม่ได้เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะและชายฝั่งอย่างแท้จริง อีกทั้งยังขาดงบประมาณ บุคคลาการ และการสนับสนุนให้ชุมชนชายฝั่งได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงอยากให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ทบทวนนโยบาย และหน้าที่ของตนเองต่อการบริหารจัดการทรัพยากรที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนและประโยชน์ได้มีส่วนร่วมในการจัดการ และรับประโยชน์อย่างแท้จริง รวมถึงการขอให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนั้น ดำเนินงานการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บนพื้นฐานการเคารพและให้เกรียติชุมชนชายฝั่งในฐานะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการปกป้องรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ประเด็นเพิ่มเติมในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช คือ การประกาศอุทยานขนอม ขอให้มีการชะลอการประกาศพื้นที่อุทยานในอำเภอขนอม เนื่องจากเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวนั้นจะกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนที่ใช้ประโยชน์ทรัพยากรจำนวนมากในพื้นที่อำเภอขนอม จึงอยากให้มีการทบทวนการประกาศพื้นที่อุทยานขนอมออกไปก่อน เพื่อให้เกิดการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนประกาศพื้นที่อุทยานอย่างแท้จริง มิเช่นนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาในการจัดการทัรพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้

ภายหลังจากการพูดคุยกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นานกว่า 2 ชั่วโมง คณะผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 6 คนได้แถลงว่า ในวันนี้รู้สึกผิดหวังที่ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่ได้มารับฟังปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งด้วยตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 6 เห็นว่า วันนี้ได้ทำตามเจตนารมณ์ในการยื่นหนังสือลาออกอย่างเป็นทางการ และได้พูดคุยเหตุผล และปัญหาของการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่เกิดขึ้นต่อปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว และการหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างที่ผู้ทรงคุณวุฒิได้นำเสนอไปนั้น ด้าน จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเร่งประสานหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ประเด็นการกัดเซาะชายฝั่ง และการประกาศอุทยาน ซึ่งจะประสานหน่วยงานต่างให้ดำเนินการตามที่กลุ่มได้เรียกร้องต่อไป และแจ้งความคืบหน้ารายละเอียดต่าง ๆ ไปยังผู้ทรงคุณวุฒิในวันจันทร์ที่ 5 กันยายน 2565

ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 6 คน หลังจากนี้ในฐานะประชาชนที่ร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะติดตามความคืบหน้าในประเด็นที่ได้มีการหารือไว้ต่อไป

ภาพจาก beach for life

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active