คกก.วิสามัญฯ ตั้งข้อสังเกตเสนอ ผู้ว่าฯ คำนึงถึงความคุ้มค่า ไม่ซ้ำซ้อน ‘ชัชชาติ’ ย้ำบทบาทของฝ่ายบริหารและสภาฯ คือสร้างความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ที่ตอบโจทย์ความโปร่งใส
เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 65 วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปี พ.ศ. 2565 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา กรุงเทพมหานคร ดินแดง โดยวาระสำคัญพิจารณา คือ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
ในที่ประชุม สุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อให้สภากรุงเทพมหานคร พิจารณาในวาระที่สองและวาระที่สาม
โดยคณะกรรมการวิสามัญฯ 62 ท่าน ได้ประชุมและพิจารณากลั่นกรองงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 จำนวน 16 ครั้ง และได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 42 คณะ พร้อมรับฟังเหตุผลความจำเป็นในการขอตั้งงบประมาณ รายจ่ายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญฯ เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน
ทั้งนี้ คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้พิจารณาโดยยึดหลักของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นโยบายของรัฐและผู้บริหารกรุงเทพมหานคร แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกรุงเทพมหานคร และพิจารณาโดยยึดหลักความคุ้มค่า ความเหมาะสมของพื้นที่ สภาวะเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและกรุงเทพมหานคร
คกก.วิสามัญพิจารณางบ 66 ตั้งข้อสังเกตถึงผู้ว่าฯ
นอกจากนี้ คณะกรรมการวิสามัญฯ ยังตั้งข้อสังเกตถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ควรทราบและควรปฏิบัติ เช่น การจัดทำโครงการต่าง ๆ ควรดำเนินการให้สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ การพัฒนากรุงเทพมหานคร คำนึงถึงประโยชน์ ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และควรพิจารณาให้มีความเหมาะสมตามโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน ไม่ควรดำเนินการซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นของกรุงเทพมหานคร
ในส่วนของข้อสังเกตเฉพาะหน่วยงาน ได้แก่ สำนักการศึกษา : ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาพิเศษ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนในกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษโรงเรียนร่วมสังกัดกรุงเทพมหานครนั้น การคัดเลือกครูผู้สอนควรเน้นคุณธรรมและจริยธรรมเป็นสำคัญ และควรเพิ่มค่าวิชาชีพสำหรับครูผู้สอนในโรงเรียนดังกล่าวให้สูงขึ้น รวมทั้งควรเพิ่มหลักสูตรการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ด้วย นอกจากนี้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครควรพิจารณาเพิ่มห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ห้องเพื่อการวิจัย รวมทั้งควรส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว : การขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีควรดำเนินการรูปแบบใหม่ที่นอกเหนือจากกิจกรรมประจำที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น ส่งเสริมอีสปอร์ต หรือกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมแนวใหม่ให้มีความยั่งยืนตามยุคสมัยมากขึ้น
สำนักพัฒนาสังคม : การจัดอบรมให้ความรู้แก่กรรมการชุมชนควรแยกดำเนินการตามพื้นที่เขต ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการเดินทางและความพร้อมในการดำเนินงานของแต่ละเขต
สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย : กรุงเทพมหานครควรอบรมให้ความรู้การระงับอัคคีภัยและสนับสนุนอุปกรณ์ดับเพลิงแก่อาสาสมัครในชุมชน เพื่อระงับเหตุเพลิงไหม้เบื้องต้น และควรสนับสนุนให้เกิดการประสานความร่วมมือที่ดีระหว่างสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอาสาสมัคร เพื่อให้การระงับเหตุเพลิงไหม้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งควรติดตั้งหัวดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพและมีจำนวนเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ และกรุงเทพมหานครควรสำรวจจำนวนบ้านเรือนประชาชน ชุมชนที่จดทะเบียนและมิได้จดทะเบียน ทั้งนี้ เพื่อจักได้จัดสรรถังดับเพลิงให้เพียงพอ เพื่อป้องกันระงับเหตุเพลิงไหม้ในชุมชน
ต่อจากนั้น สภากรุงเทพมหานคร ได้ลงมติเห็นชอบ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในวาระที่สองและวาระที่สาม โดยงบประมาณปี 66 ของกรุงเทพมหานคร มีจำนวนทั้งสิ้น 79,719,012,050 บาท”
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวขอบคุณสภากรุงเทพมหานครและคณะกรรมการวิสามัญฯ ที่ได้ร่วมกันพิจารณางบปี 66 ของกทม.ผ่านวาระ 3 ฝ่ายบริหารจะนำงบประมาณที่ได้รับไปใช้ด้วยความรอบคอบ มีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างบริการประชาชน โดยเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ให้การใช้งบมีความคุ้มค่าที่สุด
“ภาระหน้าที่ของฝ่ายบริหารและสภากทม.ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาไม่ใช่แค่ดูแลประชาชน บทบาทที่สำคัญคือการสร้างความมั่นใจและไว้ใจในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เชื่อมั่นว่าระบอบประชาธิปไตยยังคงระบอบการปกครองที่เข้มแข็ง ตอบโจทย์ และโปร่งใส โดยเฉพาะการกระจายอำนาจท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญ อำนาจของฝ่ายบริหาร และอำนาจของสภากรุงเทพมหานครจึงสามารถตอบโจทย์ประชาชน ด้านความโปร่งใสและคุ้มค่าได้เป็นอย่างดี”