ชู 4 ภารกิจ คน 2 รุ่น มองข้ามความต่างต้องเปลี่ยนผ่านร่วมกัน ย้ำ การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่วันนี้ ไม่ได้ถอดแบบมาจากคนรุ่นใหม่ในยุค 49 ปีที่แล้ว แต่มีเป้าหมายสอดคล้อง ที่ยังสานต่อไม่สำเร็จ
ครั้งแรก ที่เห็น คนรุ่นใหม่หลังยุค 14 ตุลา ได้ขึ้นเวที ปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2565 เพราะหากย้อนดู ข้อมูลจากเว็บไซต์ 14 ตุลาฯ ระบุ ปี 2545 เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดปาฐกถาเพื่อเป็นความรู้ กรอบคิด และแนวทางการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม ก็มักจะเห็นผู้นำปาฐกถา ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในยุค 14 ตุลาฯ แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, พระไพศาล วิสาโล, ศ.ธงชัย วินิจจะกูล, ศ.ธีรยุทธ บุญมี, ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, คุณรสนา โตสิตระกูล, รศ.วิทยากร เชียงกุล, ศ.พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์, ศ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ฯลฯ
ยกเว้นบางคนที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ มิติปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิทธิมนุษยชน เช่น 2 ปีที่ผ่านที่ผ่านมา สังคมให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน มี อังคณา นีละไพจิตร ขึ้นมากล่าวปาฐกถาในปี 2563 และในปีที่ผ่านมา (2564) นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ ขึ้นมากล่าวแนวคิดใจ หัวข้อเหลียวหลังแลหน้าสถานการณ์โควิด19
ขณะที่ปี 2565 คนที่ขึ้นกล่าวเวที ปาฐกถา คือ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล ถูกจับตาในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ โดยตรง โดยเริ่มต้นปาฐกถาด้วยการเทียบ คนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน กับคนรุ่นใหม่ในยุค 14 ต.ค. (49 ปี ที่ผ่านมา) ว่ามีมุมมองเรื่องชัยชนะที่ต่างกัน
“แม้คนยุค 14 ตุลาฯ จะมองว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ แต่ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน กลับมองว่าเป็น ชัยชนะที่ลวงตา และไม่สามารถนำไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืน”
ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล
ในเหตุการณ์ครั้งนั้น (14 ต.ค. 2516) แม้จะกำจัดอิทธิพลจากกองทัพ ‘ถนอม-ประภาส-ณรงค์’ ออกไปจากระบบการเมืองไทย และอาจจะทำให้เราได้เห็น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่กลับเป็น รัฐธรรมนูญ ที่อยู่ได้เพียงไม่นาน ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ จึงเป็นเหมือนชัยชนะที่ลวงตาคนอีกรุ่น เพราะจากนั้นไม่นานเพียง 3 ปี (6 ต.ค. 2519) ก็เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง 6 ตุลาฯ ที่เป็นเหมือนการล้างไพ่ประชาธิปไตยไทย ให้ถอยกลับไปอยู่จุดเดิม หรือแย่กว่าเดิม
คนรุ่นใหม่ปัจจุบัน VS คนรุ่นใหม่ 14 ตุลาฯ เกิดในโลกต่าง?
พริษฐ์ ยังอธิบายต่อไปอีกว่า คนรุ่นใหม่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ กับคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน เติบโตมาในโลกที่มีทั้งความเหมือน และความแตกต่างกัน จึงอาจไม่สามารถพูดได้ว่า “คนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน มีแนวทางการต่อสู้เคลื่อนไหว มาจากคนรุ่นใหม่ 14 ตุลาฯ ทั้งหมด” เช่น
- คนรุ่นใหม่ยุค 14 ตุลา เติบโตมากับระบบเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนานและมีผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 17 ขณะที่ คนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน เติบโตมาในยุคที่พวกเขาไม่ได้สัมผัสกับประชาธิปไตยอย่างเต็มใบ และต้องอาศัยอยู่ภายใต้ ‘ระบอบประยุทธ์’ ซึ่งเป็นเสมือนเผด็จการอำพรางที่ชุบตัวจากการเลือกตั้ง แต่ยังคงมีกลไกควบคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จผ่านกลไกสืบทอดอำนาจ ส.ว. 250 คนศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระรวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
“คนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน เติบโตมาในยุคที่พวกเขาไม่ได้สัมผัสกับประชาธิปไตยอย่างเต็มใบ และต้องอาศัยอยู่ภายใต้ ‘ระบอบประยุทธ์’ เป็นเสมือนเผด็จการอำพรางที่ชุบตัวจากการเลือกตั้ง…”
ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล
- มิติเศรษฐกิจที่คนรุ่น 14 ตุลาฯ โตมาในช่วงที่เศรษฐกิจรุดหน้า GDP โตกว่า 8% ต่อปี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ความเจริญต่าง ๆ แม้จะเป็นตัวเลขในภาพรวมมากกว่ากระจายรายได้แก่ประชาชน แต่ในทางกลับกัน คนรุ่นใหม่ ปัจจุบันต้องเริ่มหางาน หรือเตรียมหางานในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง และเติบโตอย่างกระจุก และการมาของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยลง ประชาชนว่างงานจำนวนมาก
- มิติของเทคโนโลยี ส่งผลต่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ปัจจุบัน รัฐเองก็ไม่สามารถควมคุมจำกัดข้อมูลเนื้อหาได้อย่างในอดีต ความแตกต่างทางความคิด การให้คุณค่า และทำความเข้าใจ 14 ตุลาฯ ของคนระหว่างรุ่น จึงมีความแตกต่างกัน
เวลานี้จึงเปรียบเสมือนช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ของ ประชาธิปไตยไทยและที่มีการปะทะกันระหว่างระบบที่ล้าหลังและสังคมที่ก้าวหน้ามากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป้าหมายและความตั้งใจของคนยุค 14 ตุลา มีภารกิจหลายส่วน ที่สอดคล้องกับความฝันของคนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน แต่ยังไม่สำเร็จถึงฝั่งและยังต้องอาศัยพลังและเจตจำนงของคนทั้ง 2 รุ่น ในการร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป ซึ่งมี 4 ภารกิจสำคัญ ประกอบด้วย
- ความต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย
- การสร้างประชาธิปไตยที่ไปไกลกว่าตัวผู้นำ
- ปฏิรูปกองทัพให้เป็นของประชาชน กองทัพต้องเป็นมืออาชีพและเท่าทันโลกผ่านการลดขนาดกองทัพที่เกินความจำเป็น ปรับจำนวนนายพลที่เฟ้อ ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร ปฏิรูปการศึกษาทหาร
- การทลายการผูกขาดทางการเมือง ระบอบอุปถัมภ์ และการผูกขาดทางเศรษฐกิจ
พริษฐ์ มองว่าทั้งหมดนี้คือ ความเหมือน ภายใต้ความต่าง และเป็น 4 ภารกิจสำคัญ ที่คน 2 รุ่นต้องตีความ ทำความเข้าใจ ขับเคลื่อนให้สำเร็จ