อันดับดัชนีทุจริตไทยต่ำ 100 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ตั้งเป้า ภายใน 10 ปี คะแนนสูงเกินครึ่ง เสนอลดพึ่งพารัฐ อุดหนุนทุนเอกชน มองหานวัตกรรมต้านโกง
วันนี้ (8 พ.ย. 2565) สถาบันพระปกเกล้า และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ร่วมกันศึกษาข้อมูลเชิงลึก เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยส่งเสริม และยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ของประเทศไทย โดยพบข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ประเทศไทยมีการจัดอันดับที่ต่ำลงเรื่อย ๆ โดยในปี 2555 อยู่ลำดับที่ 88 มีผลคะแนน 37 คะแนน ในขณะที่ปี 2564 อยู่ลำดับที่ 110 มีผลคะแนน 35 คะแนน ทั้งที่ได้มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ในเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่ทิศทางการพัฒนายังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
อุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงการประเมินดัชนี CPI ว่าประเทศไทยถูกประเมินอยู่ที่ 9 จาก13 แหล่งข้อมูล ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติประเมินผ่านแบบสอบถาม การสัมภาษณ์ โดยกลุ่มตัวอย่างนั้นประกอบไปด้วยหน่วยงานในหลายมิติ ทั้งด้านโครงสร้างการบริหารของรัฐ นิติธรรม การเมือง และมิติทางธุรกิจด้วย
รองเลขาฯ ป.ป.ช. มองว่าการที่ค่าดัชนี CPI จะสูงได้ เกี่ยวโยงกับการพัฒนาคนของประเทศที่ต้องเน้นเรื่องการใช้เหตุผล และตรรกะมากกว่านี้ ซึ่งจะยึดถือผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก ไม่เช่นนั้นจะส่งผลเสียต่อการแก้ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน การพัฒนามนุษย์ เป็นสิ่งที่ต้องทำในระยะยาว อาจจะไม่ได้เห็นผลในเร็ววัน ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายที่ประเทศไทยต้องร่วมมือกันทำให้ค่า CPI ของเราดีขึ้น
ภายในงานยังมีปาฐกถา “การยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI)” โดย ศ. วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการประเมินดัชนี CPI เนื่องจากมองว่าการแก้ปัญหาทุจริต ควรถูกวัดจากเรื่องที่เราทำจริง ในขณะที่การวัดดัชนีดังกล่าว อาจเลือกวัดจากเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ หมายถึง เราพยายามทำเรื่องนี้ แต่วัดผลในอีกเรื่องหนึ่ง เพราะปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในแต่ละประเทศมีความแตกต่าง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ปฏิเสธว่าดัชนีนี้มีผลต่อการสร้างมาตรฐานในระดับสากล
“เราอยู่อันดับ 6 ใน 10 ประเทศของอาเซียน วันนี้เราต่ำกว่าหลายประเทศที่เคยมีชื่อเสียงเรื่องการทุจริต ข้อดีของการมี CPI ทำให้เรารู้ว่าเราอยู่ระดับไหนในเวทีโลก แต่การประเมิน CPI เป็นสิ่งสะท้อนการรับรู้ของประชาชน ซึ่งต่างจากโลกความเป็นจริง ที่อาจจะหนักกว่า หรือเบากว่าการรับรู้ก็ได้…”
ศ.วุฒิสาร กล่าวว่า คอร์รัปชัน และการทุจริต เมื่อเห็นมากหมายความว่า สามารถจับได้มาก แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนที่โผล่พ้นน้ำของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงสถานการณ์การทุจริต เราไม่สามารถมองเพียงแค่จำนวน หรือคดีการทุจริตเท่านั้น ยังต้องมองถึง “มูลค่าความเสียหาย” ด้วย ตั้งแต่ปี 2550 – 2558 คดีทุจริตที่เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่ง ป.ป.ช. มีการแถลงพบว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ที่ประมาณ 140 – 170 ล้านบาท ในขณะที่คดีทุจริตของรัฐวิสาหกิจ รวมกันถึง 1 แสนล้าน และในภาคราชการ ซึ่งมีจำนวนคดีน้อยกว่าแต่มีมูลค่าความเสียหายถึง 4 แสนล้านบาท
“การรับรู้เรื่องการทุจริตของคนในสังคมไทยนั้น ยังรู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ ต่อความไว้วางใจในระบบป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทำไมบางคดีเร็ว รอด บางคดีช้า แล้วไม่รอด ตกลงแล้วองค์กรตรวจสอบอิสระจริงหรือไม่ การรับรู้แบบนี้ เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในสังคมที่แบ่งขั้วทางความคิดอย่างรุนแรง เป็นเรื่องจำเป็น ที่จะทำให้คนเลิกคลางแคลงใจเปลี่ยนเป็นความเชื่อมั่นต่อระบบ…”
ทางออกเพื่อสร้างความมั่นใจต่อระบบนั้น ศ. วุฒิสาร เสนอว่า รัฐควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น จริงจังคำนึงถึงความสมดุลต่อการป้องกันทุจริต และการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานั้น เพราะกติกาหลายเรื่องของเราก่อให้เกิดปัญหา กำหนดข้อห้ามจนคนไม่กล้าทำอะไร เรื่องต่อมา คือต้องตีความกฎหมายอย่างเป็นธรรม ให้คนรู้สึกว่าไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
ในขณะเดียวกัน ต้องทำให้ต้นทุนการทุจริตมีราคาแพง คือ สืบสวน ดำเนินคดี ลงโทษให้เร็ว และหนักเพียงพอต่อการทุจริต ให้คนคิดทุจริตต้องเผชิญความเสี่ยง และให้ความรู้ความเข้าใจให้คนทำงานมากขึ้น ตลอดจนปรับกระบวนการทำงาน สร้างกลไกการรับผิดต่อการกระทำของตนเอง กำหนดขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน ลดการผูกขาดอำนาจ และลดการใช้ดุลยพินิจ ผ่านหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และกระบวนการที่เปิดเผย
ก่อนจะสรุปว่า ประเทศที่มี CPI สูง ส่วนใหญ่แล้วล้วนเชื่อมโยงกับคุณภาพที่ดีขึ้นในเรื่องอื่นๆ ด้วย ทั้งการเป็นประเทศที่น่าอยู่ มีความปลอดภัยสูง การศึกษาสูง สิ่งแวดล้อมดี และมีประชาธิปไตยในสังคม ซึ่งจะสังเกตว่าอยู่ในกลุ่มประเทศเหล่านั้นทั้งสิ้น เพราะการทุจริตคอร์รัปชันที่ลดลงได้ เป็นผลพวงของการพัฒนาโดยรวมของสังคมทั้งหมดด้วย
นำเสนอ “นวัตกรรมต้านโกง” หวังยกระดับดัชนี CPI
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหัวหน้าคณะผู้วิจัยกล่าวว่าประเทศไทยยังไม่สามารถบรรลุการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตได้ จึงควรมีการกำหนดทิศทางการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อ้ปองกันและปราบปรามการทุจริตในระดับต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นต้องจัดทำการศึกษาเชิงลึกในทุกแหล่งข้อมูลที่นำมาใช้ประเมิน ทำความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาของผลการประเมินอย่างละเอียด และถอดบทเรียนจากประเทศที่มีค่าคะแนนดัชนี CPI สูง นำมาสู่ข้อเสนอเชิงกลยุทธ์ดังนี้
ควรมีแผนการดำเนินงานระยะสั้น (ระยะ 5 ปี: 2566-2570) แบ่งออกเป็นแผนงาน 2 ระยะ คือ “เริ่มทำทันที” และ “ระยะ 5 ปี” โดยแนวทางที่ควรริเริ่มทันที คือ การให้งบประมาณสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมในลักษณะเงินอุดหนุน และเชิญชวนภาคีเครือข่ายภาคเอกชนอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมเป็นพันธมิตรในการผลักดันการลดการทุจริตโดยต้องลดการพึ่งพาองค์กรภาครัฐต่าง ๆ ซึ่งอาจจะส่งผลให้การลดการทุจริตคืบหน้าล่าช้ากว่าที่ควร
ในขณะที่ข้อเสนอในระยะ 5 ปีเรื่องหนึ่ง คือ การพัฒนาเครื่องมือสำหรับการชี้วัดระดับการทุจริต (หรือความโปร่งใส) ที่สอดคล้องกับบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของประเทศ และสามารถสะท้อนถึงสถานการณ์การทุจริต มากกว่าการนำค่าคะแนน CPI หรือดัชนีชี้วัดการทุจริตใด ๆ มากำหนดเป็นค่าเป้าหมายของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพียงอย่างเดียว
นอกจากนั้น งานวิจัยชุดนี้ ยังพูดถึง การเปิดเผยข้อมูลตามหลักสากล เพื่อการเฝ้าระวังและลดโอกาสการทุจริต ทั้งการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณตามหลักสากล และการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อให้ประชาชนรับรู้และมีส่วนร่วม เพื่อสร้างการรับรู้เชิงรุก ในส่วนของภาคประชาสังคม เชื่อมโยงในลักษณะ Partner Institute ที่จัดส่งข้อมูลให้กับแหล่งการประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริต
โดยข้อเสนอของงานวิจัยจะถูกรวบรวม และให้ ป.ป.ช. จัดทำเป็นข้อเสนอแผนงานยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต เสนอต่อคณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป