‘ธนาธร’ ย้ำความสำคัญ เพื่อคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียม ส.ส. ฝ่ายค้านเห็นพ้อง ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ‘ปิยบุตร’ ดักคอกระจายอำนาจ ไม่ใช่แบ่งแยกดินแดน
วันนี้(30 พ.ย. 65) ที่ประชุมรัฐสภา มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติมหมวดที่ 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ ร่างรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น ที่เสนอโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และประชาชนกว่า 76,000 คน โดยที่ประชุมได้มีการอภิปรายเสนอกฎหมายต่อสมาชิกรัฐสภา และมีการแลกเปลี่ยนถึงเหตุผล ความสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการตั้งคำถามถึงความจำเป็นในครั้งนี้ด้วย
ธนาธร เริ่มต้นอภิปรายเป็นคนแรกในฐานะผู้เสนอกฎหมาย โดยหยิบยกปัญหาการเข้าถึงน้ำประปาสะอาดของประชาชนในพื้นที่ ต.ค้อใหญ่ จ.ร้อยเอ็ด ว่ายังไม่สามารถเข้าถึงได้ และได้นำตัวอย่างน้ำประปาที่มีสีขุ่นข้นมาประกอบการอภิปรายครั้งนี้ โดยสะท้อนว่า จ.ร้อยเอ็ด ที่ส่วนใหญ่ประชาชนมีรายได้ต่ำเป็นลำดับที่ 62 จาก 77 จังหวัดแล้ว น้ำประปายังไม่ได้รับการแก้ไข ถือเป็นภาระค่าใช้จ่าย และต้นทุนเวลาชีวิตที่เพิ่มขึ้นของคนในท้องถิ่น
“ทำไมคนกรุงเทพฯ ถึงมีสิทธิในการเข้าถึงประปาที่สะอาด มากกว่าคนต่างจังหวัด แม้เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่คนไทย 66 ล้านคน ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ควรจะเข้าถึงน้ำประปาที่สะอาดเสมอภาคกันหรือไม่ คุณภาพชีวิตควรจะขึ้นอยู่กับโชคชะตา เงินตรา หรือสถานที่เกิดอย่างนั้นหรือ…”
โดยธนาธร กล่าวถึงข้อจำกัดที่ท้องถิ่นต้องเจอ คือ งบประมาณ โดยจากการสำรวจเบื้องต้น หากท้องถิ่นใดต้องการลงทุนทำโรงผลิตน้ำประปาทั้งระบบ ต้องใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท แต่ส่วนใหญ่แล้วท้องถิ่นจะมีงบฯ ลงทุนเฉลี่ยปีละ 2 – 3 ล้านบาทเท่านั้น และในจำนวนนี้ยังต้องใช้ลงทุนซ่อมแซมถนน ลงทุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และแก้ปัญหาอื่น ๆ อีกด้วย หมายความว่า ถ้า อบต.ค้อใหญ่ ต้องการลงทุนทำระบบน้ำประปาเอง ต้องหยุดลงทุนในกิจการอื่นทั้งหมด และเก็บเงินไว้เป็นเวลา 4 ปี จึงจะเพียงพอในการลงทุนระบบน้ำประปาได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล
ถ้าไม่เช่นนั้นต้องเขียนโครงการขอไปที่ส่วนกลาง หรือภูมิภาค ถ้าอยากได้งบฯ จึงต้องวิ่งเต้น หรือเข้าสู่ระบบอุปถัมภ์ เพื่อแลกกับความเป็นอิสระทางการเงิน ให้มีงบประมาณเพียงพอมาพัฒนาพื้นที่ ถ้าไม่วิ่งเต้น เป็นเรื่องยากที่โครงการจะได้รับการเหลียวแล และพิจารณาตามความเร่งด่วน หรือความเดือดร้อนของประชาชน
“เราต้องการสังคมแบบไหน อยากเห็นโครงสร้างการเมืองการปกครองขอ’ไทยเป็นอย่างไร ที่ผานมาการแก้ปัญหาของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้วหรือ ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำ ระหว่างเมือง และชนบท ช่องว่างของคนรวย และคนจน คนหนุ่มสาวที่ต้องเดินทางมาหางาน หาโอกาสในเมืองใหญ่ และการแย่งชิงทรัพยากรจากทุนใหญ่ในท้องถิ่น ทั้งหมดนี้จะแก้ได้ต้องให้อำนาจแก้ท้องถิ่น…”
ธนาธร ยกข้อมูลอ้างอิงว่า ปัจจัยที่ฉุดรั้งความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลก คือ ประสิทธิภาพภาครัฐของไทย ที่ปีนี้ลดลงมาถึง 11 อันดับ ส่งผลต่ออัตราการเรียนต่อ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สาธารรสุข และสิ่งแวดล้อม มีปัจจัยเรื่องพื้นที่ในการกำหนดคุณภาพชีวิตด้วย คุณภาพโรงเรียนใกล้บ้าน ได้กำหนดชะตาชีวิตเด็กไทยจำนวนไม่น้อย แม้ไม่มีนโยบายใดเป็นยาวิเศษที่จะแก้ได้ทุกเรื่อง แต่หากจะมีชุดนโยบายสักชุดที่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แก้ขีดความสามารถในการแข่งขันไทย ยกระดับบริการสาธารณสุขให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ คือ นโยบายกระจายอำนาจ ลดการรวมศูนย์จากส่วนกลางเท่านั้น
ส.ส. หลายพรรคเห็นด้วย ไม่ไว้ใจกฎหมายรอง
ณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขตบางแค พรรคก้าวไกล กล่าวว่า หลักการของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขียนเอาไว้ว่า ต้องการยกเลิกหมวด 14 และบัญญัติขึ้นมาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับหลัการกระจายอำนาจมากขึ้น โดยได้ตอบคำถามในสัดส่วนของงบประมาณ 50:50 ว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ พรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้าได้วิเคราะห์ตัวเลขออกมาแล้ว และมั่นใจว่าทำได้จริง โดยไม่ต้องหางบประมาณเพิ่ม เพียงแค่ถ่ายโอนภารกิจเดิมมาอยู่ในท้องถิ่น ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน
ส่วนข้อสังเกตว่า การกระจายงบประมาณ เท่ากับการกระจายโกงหรือไม่นั้น มีข้อมูลจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ได้ศึกษาย้อนหลังไป 15 ปี พบว่ามูลค่าความเสียหายที่ตรวจสอบการทุจริตการใช้งบประมาณ ของส่วนกลางมีกว่า 420,000 ล้าน ในขณะที่ท้องถิ่นมีเพียง 46,000 ล้านเท่านั้น ซึ่งแตกต่างกันถึง 9 เท่า และเมื่อเทียบสัดส่วนความเสียหายต่อรายได้ ส่วนกลางก็ยังเสียหายมากกว่า หากพิจารณาบนพื้นฐานข้อเท็จจริงแล้ว รัฐส่วนกลางไม่ได้น้อยกว่า และยังสูงกว่าด้วย การกระจายโกงเป็นเพียงมายาคติที่ไม่มีพื้นฐานข้อเท็จจริง
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังมีการรองรับหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร สภา และโครงการต่าง ๆ โดยกำหนดให้ประชาชนมีส่วนในการพิจารณาใช้งบประมาณด้วย หน้าที่คือต้องตรากฎหมาย เพื่อกำหนดให้ท้องถิ่นจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม สร้างความโปร่งใส และนำเทคโลโยี ข้อมูลสมัยใหม่มาหนุนเสริมให้การทำหน้าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนประเด็นการยุบราชการส่วนภูมิภาค เป็นเรื่องใหม่ ที่แม้แต่สมาชิกรัฐสภาก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง เราจึงกำหนดให้ต้องถามประชาชน ผ่านการทำประชามติ
สมคิด เชื้อคง จากพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นว่า การเรียกร้องเรื่องการกระจายอำนาจอาจจะไม่ได้ทั้งหมด แต่ต้องให้อำนาจท้องถิ่น ทุกวันนี้เพียงแค่การถ่ายโอน รพ.สต. ยังมีปัญหา ทั้งที่มีกฎหมายกำหนดอยู่แล้ว ถ้าหากเปลี่ยนแนวทางใหม่ เอามาเป็นหมวดหมู่ แล้วแก้รัฐธรรมนูญให้ไปดำเนินการ จะดีกว่าหรือไม่ ทั้งการจัดการศึกษา สาธารณสุข ให้โอนมายังท้องถิ่น โดยอะไรที่เป็นของส่วนกลาง ท้องถิ่นจะไม่ยุ่ง ส่วนตัวจึงเห็นด้วยในหลักการให้แก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้
ขณะที่ สงวน พงษ์มณี จากพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าเหตุผลที่ทำให้เราไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนให้แก้ยาก มีกำหนดเวลาอำนาจของ ส.ว. 5 ปี ที่ขั้นตอนเป็นแบบนี้ เรายิ่งต้องเร่งทำความเข้าใจบริบทของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และการบริหารราชการแผ่นดินในทุกวันนี้ คือ การดึงอำนาจไปสู่ศูนย์กลางทั้งหมด จึงจำเป็นต้องแก้ และฝากไปถึงประชาชนว่าการเลือกตั้ง ส.ว. ในยุคต่อไป ต้องเลือกตัวแทนผู้ที่สนใจการเมือง เลือกคนที่อยากพัฒนาประเทศ จึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งต่อไปได้
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่เรื่องที่คิดต่างกันอย่างเดียว แต่เป็นมุมมองที่ต่างกันตั้งแต่ต้น และการแก้ต้องอาศัยเสียง ส.ว. 1 ใน 3 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส. เราชนะกึ่งหนึ่งทุกรอบ แต่เราแก้ไม่ได้สักรอบ เนื่องจากภารกิจ ส.ว. เขายังไม่จบ…”
สงวน พงษ์มณี
เช่นเดียวกับ พัฒนา สัพโส จากพรรคเพื่อไทย ที่สนับสนุนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่า มีสมาชิกหลายท่านห่วงใยว่า ทำไมต้องถึงขั้นแก้รัฐธรรมนูญ ทำไมไม่แก้ระดับ พ.ร.บ. หรือกฎกระทรวงก็เพียงพอแล้ว ผมอยากเรียนว่า แท้ที่จริงมันแก้ไม่ได้ ถ้าแก้ได้ เขาไม่มาแก้รัฐธรรมนูญกันหรอก
“ผมคร่ำหวอดในการเมืองท้องถิ่นมานาน ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ แม้จะมี พ.ร.บ.กำหนดแผนกระจายอำนาจฯ จะมีอีกกี่ฉบับที่เกี่ยวข้อง มันก็แก้ไม่ได้ ผมไม่เชื่อ พ.ร.บ. ที่ทำไม่ได้ เพราะ ไม่ให้ความสำคัญ แนวทางนี้มาถูกทางแล้ว ผมต้องการให้ทุกท่าน ให้ความสำคัญกับท้องถิ่น แม้อายุสภาฯจะเหลือไม่กี่เดือน สภาฯ อาจจะทำไม่ทัน แต่มันเป็นความตั้งใจ…”
พัฒนา สัพโส
“ปิยบุตร” ร่ายยาว 12 หลักการสำคัญ ยันไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน
ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้เสนอกฎหมาย กล่าวว่า ประเทศไทยเราคุย เรื่อง การกระจายอำนาจมาหลายทศวรรษ นี่จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ และตนไม่ใช่คนแรก ๆ ที่เสนอเรื่องเหล่านี้ แต่ถูกนำมาพูดคุยตั้งแต่ ทศวรรษที่ 30 โดยอยู่ในหมวดที่ 9 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งได้รับรองหลักการกระจายอำนาจได้อย่างสมบูรณ์ และมีเป้าหมายให้ร่าง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ เป็นทิศทางในการกระจายอำนาจของไทย ซึ่งในปัจจุบันเราพัฒนาการกระจายอำนาจมาพอสมควร แต่ยังไม่สมบูรณ์แบบ 100% ร่างฯ นี้จึงมีเป้าหมายเข้าไปปรับปรุง เสริมเติมให้การกระจายอำนาจสมบูรณ์แบบมากขึ้น โดยที่ผ่านมามีสภาพปัญหา ดังนี้
“อำนาจ และภารกิจมีจำกัด” เวลาท้องถิ่นจะจัดทำบริการอะร เราจะไปดูกฎหมายจัดตั้งท้องถิ่นก่อน ว่ามีอำนาจอะไรบ้าง แต่หากเรื่องไหน ไม่อยู่ในสิ่งที่กำหนด ถือว่าท้องถิ่นไม่มีอำนาจ ทำให้มีอำนาจได้เท่าที่บอก ถ้าเกินกว่านั้นไม่มีอำนาจ ทำให้ปัญหาทุกข์ร้อนไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที จัดหาวัคซีนพิษสุนัขบ้า ว่าหน้าที่ใคร
“อำนาจซ้ำซ้อน” ทั้งราชการส่วนกลาง (กระทรวง ทบวง กรม) ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น ต้องเถียงกันเสมอว่าเป็นหน้าที่ของใคร ถนนเส้นนั้นเป็นของใคร การจะทำท่าเรือ เป็นอำนาจของ อบจ. หรือกรมเจ้าท่า จึงเกิดปัญหาเกี่ยงงานกัน แล้วปัญหาในพื้นที่จึงไม่ได้รับการแก้ไข “งบประมาณ – รายได้” ที่มีไม่เพียงพอ ต่อให้เราถ่ายโอนภารกิจไปมากเท่าไหร่ แต่ไม่มีอิสรทางงบประมาณเพียงพอ ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
“กำกับดูแล ที่กลายเป็นการบังคับบัญชา” ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค แม้กฎหมายจะกำหนดว่ามีเฉพาะอำนาจกำกับดูแลท้องถิ่น แต่ทำไปทำมาตอนนี้เป็นการบังคับบัญชามากขึ้น มีหนังสือเวียน สั่งการ ใช้คำว่า ขอความร่วมมือ ทั้งที่ขัดต่อหลักการปกครองตนเองของท้องถิ่น จะทำได้มากสุด คือ การประสานงานร่วมมือกันเท่านั้น
สุดท้าย คือ “การมีส่วนร่วมของประชาชน” การกระจายอำนาจ ไม่ใช่การกระจายระบบราชการที่แข็งตัว ไปไว้ที่ท้องถิ่นอีก แต่ต้องกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนในท้องถิ่นด้วย ไม่ใช่แค่นักการเมืองมีอำนาจ แต่ต้องให้อำนาจถึงพลเมือง ให้มีส่วนร่วมในทางการเมืองมากกว่าการหย่อนบัตรเลือกตั้ง โดยปิยุบัตร นำเสนอเนื้อหา และรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยมีเนื้อหาสำคัญ 12 ประการ
“ผมเริ่มต้นว่าภายใต้บังคับมาตรา 1 เป็นการยืนยันว่าการกระจายอำนาจนี้ อยู่ภายใต้หลักความเป็นราชอาณาจักร และเป็นรัฐเดี่ยว เขียนไปให้ชัด ป้องกันปัญหาคนตีความพิสดาร ให้เข้าใจพวกผมอย่างผิด ๆ แล้วบอกว่าเราจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน นี่เป็นการกระจายอำนาจที่ไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับรูปแบบ ของรัฐ ยังเป็นอันหนึ่งอันเดียวอันแบ่งแยกไม่ได้”
- รับรองหลักการกระจายอำนาจ ปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของคนในท้องถิ่น ซึ่งไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน กฎหมายใดไปแทรกแซงในหลักการนี้ จะขัดต่อรัฐธรรมนูญทันที
- กำหนดอำนาจหน้าที่แบบทั่วไป ทำได้ทุกเรื่อง ให้คิดในเชิงพื้นที่เป็นหลัก ถ้าอยู่ในท้องถิ่นใด ให้เป็นอำนาจของท้องถิ่นนั้นทั้งหมด เว้นแต่เฉพาะบางเรื่องเท่านั้น
- มาตรา 251 วรรค 2 แก้อำนาจซ้ำซ้อน กลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น ต่อไปนี้ท้องถิ่นต้องมาก่อน เรื่องที่เกิดในท้องถิ่น ท้องถิ่นต้องทำ เฉพาะบางเรื่องที่ร้องขอไป
- มาตรา 250 กำหนดประเภทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญ ไว้ 2 รูปแบบ คือ แบบทั่วไป และแบบพิเศษ ถ้าวันหนึ่งต้องการสร้างอีก เปิดโอกาสให้จัดทำเป็น พ.ร.บ. ว่าต้องการเพิ่ม หรือควบรวมท้องถิ่นอย่างไร
- มาตรา 254/1 หลักการเลือกตั้ง ให้คนในท้องถิ่นเลือกตั้งผู้บริหาร นายกฯ และสภาท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งมีหลักการมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการเขียนข้อความไว้ว่า “หากในอนาคตมีการแต่งตั้งท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ อาจมีผู้บริหารที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งได้
- มาตรา 252 (2), 253 ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นี้ผ่าน ต้องออก พ.ร.บ.ขยายรายละเอียดเรื่องรายได้ของ อปท. วางกรอบไว้เบื้องต้น กำหนดระยะเวลาว่า ภายในกี่ปีต้องขยายสัดส่วนรายได้เป็น 50:50 และเปิดทางให้รายได้ใหม่ด้วยการ กู้เงิน หรือออกพันธบัตร นอกจากนั้นส่วนกลางมีหน้าที่ให้เงินอุดหนุน เป็นเครื่องมือที่ทำให้ท้องถิ่นยกระดับเท่าเทียมกัน
- รูปแบบการจัดทำบริการสาธารณะ ในปัจจุบันมีรูปแบบจำกัด กฎหมายเปิดทางให้มีรูปแบบอื่นได้ โดยให้ตรากฎหมายขึ้นมา เพื่อให้มีรูปแบบการจัดบริการสาธารณะที่หลากหลาย เช่น สหการ องค์การมหาชน หรืออาจมอบอำนาจให้เอกชนทำได้
- ความอิสระของงานบุคคล ยืนยันตามหลักการเดิม
- มาตรา 254/13 การกำกับดูแล กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นต้องเกาะเกี่ยวกัน ผ่านการกำกับดูแล ที่ไม่ไปแทรกแซง หรือบังคับบัญชา และให้มีเฉพาะการกำกับดูแลภายหลังแล้วเท่านั้น
- มาตรา 254/4, 254/5, 254/6 เติมพลังให้กับการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติ ถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น การจัดทำประชามติระดับท้องถิ่น เสนอให้มีสภาพลเมืองท้องถิ่นมาประชุมร่วมกัน ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร รวมถึงการกำหนดงบประมาณโดยประชาชน
- การกำหนดกฎหมายถ่ายโอนภารกิจมายังท้องถิ่น แบบมีสภาพบังคับ
- แผนการจัดทำประชามติ ว่าคิดเห็นอย่างไรกับการมีอยู่ของ “ราชการส่วนภูมิภาค” ภายใน 5 ปี