ไม่จำเป็นต้องแก้ มี พ.ร.บ.กระจายอำนาจอยู่แล้ว ชี้แนวคิดสุดโต่ง หวังหาเสียงเลือกตั้ง ‘กิตติศักดิ์’ ถามประธานปล่อยคนถูกตัดสิทธิฯ เข้าสภาได้อย่างไร
วันนี้ (30 พ.ย. 65) ที่ประชุมรัฐสภา การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม หมวดที่ 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น มีการสลับกันอภิปรายเสนอกฎหมาย ชี้แจง และให้ความเห็นต่อร่างฯฉบับนี้ โดยฝ่ายผู้เสนอกฎหมายนำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า รศ.วีรศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา โดยระหว่างการอภิปราย มีสมาชิกวุฒิสภาหลายท่านลุกขึ้นตั้งข้อสังเกตต่อร่างฯดังกล่าวเป็นระยะ
จเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า เรื่อง การกระจายอำนาจ เป็นเรื่องที่ดี และเป็นคำพูดที่น่าปฏิบัติ แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำมาโดยตลอด การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นการพูดเรื่องเดิม แต่มาเขียนใหม่ด้วยคำสวยหรูเท่านั้น มีตัวอย่างดี ๆ ในหลายจังหวัด ที่อยากให้นายธนาธร และนายปิยบุตรไปดูงาน เช่น จ.ขอนแก่น ที่มีการจัดตั้งบริษัทของแก่นพัฒนาเมือง โดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายที่มีอยู่แล้ว สิ่งที่อยู่ในร่างฉบับนี้ ล้วนอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งสิ้น จึงเห็นว่าไม่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงกำหนดเพิ่มลงไปในกฎหมายลำดับรองเท่านั้น
“ท่านจะยกเลิกผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่างฯ นี้ไม่ได้ปลดล็อกอะไรของท้องถิ่นเลย เพียงแค่ลอก 6 มาตรา ในหมวด 14 ที่มีอยู่เดิมมาเขียนให้สวยหรูเท่านั้น นัยยะนี้เป็นการโหนกระแส สร้างความนิยมทางการเมือง หาเสียงสุดลิ่มทิ่มประตู เป็นการเสนอแนวความคิดแบบสุดโต่ง มันไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับประชาชนเลย”
ในขณะที่ พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ แต่สิ่งที่เขียนลงไปในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หลายเรื่องทำได้ยากในความเป็นจริง ทั้งเรื่อง กำหนดสัดส่วนงบประมาณส่วนกลางต่อท้องถิ่น เป็น 50%:50% ในปัจจุบันจะทำให้ถึง 35% ยังไม่สามารถทำได้ และการกำหนดให้สภาฯ ตรากฎหมายที่เกี่ยวกับท้องถิ่นภายใน 240 วันนั้น ในตอนนี้กฎหมายที่เกี่ยวกับท้องถิ่นในรัฐสภานี้ ยังไม่สามารถออกมาได้สักฉบับเดียว การเขียนมัดว่าให้รัฐสภาตรากฎหมายภายในกำหนด เป็นเรื่องยาก และไม่สามารถดำเนินการได้
“ไม่ใช่คัดค้าน หรือไม่เห็นด้วย แต่มันทำไม่ได้ การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค จะยกเลิก ทั้งสาธารณสุข การศึกษา มันยิ่งกว่าการปฏิวัติเสียอีก จะเอางบฯ 5 แสนล้านลงไปให้ท้องถิ่นใน 5 ปี เป็นหนทางที่ดี แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป และต้องกดดันรัฐบาลให้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพท้องถิ่นให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่”
“กิตติศักดิ์” ถามประธานปล่อยคนถูกตัดสิทธิการเมืองเข้าสภาฯ ได้อย่างไร?
กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า การปฏิรูปเรื่องการกระจายอำนาจ อย่างประเทศญี่ปุ่นต้องใช้เวลากว่า 100 ปี จึงจะทำสำเร็จ ลงตัวอย่างทุกวันนี้ ตนได้รับเอกสารประกอบการอภิปรายจากคณะก้าวหน้าแล้ว เรื่อง การปลดล็อกท้องถิ่น ขอชื่นชมว่าเอกสารสวย น่าสนใจ แต่สวยอย่างเดียว ไม่ใช่จะไว้ใจได้
“ผมดูทั้งหมดแล้ว เป็นการแก้รัฐธรรมนูญหมวดท้องถิ่นที่อาจเป็นต้นไม้พิษ… ธนาธร บอกว่า ถ้าผ่านร่างฯ ที่คณะก้าวหน้าและพวกเสนอมา ตนจะไม่ได้อะไรเลย ซึ่งผมไม่เชื่อ และตั้งคำถามว่า น้ำประปา สีขุ่นเป็นชาที่หยิบขึ้นมา ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ จะแก้ปัญหานั้นได้จริงหรือ”
กิตติศักดิ์ มองว่า การให้อำนาจท้องถิ่นมากเกินไป จะทำให้ส่วนกลางอ่อนแอ สุดท้ายเป้าหมายเรื่องงบประมาณ 50:50 ก็จะไม่สามารถทำได้ และการกำหนดให้ราชการส่วนใหญ่ ไปสังกัดท้องถิ่น ต่อไปนี้ เทศบาล อบต. จะเต็มไปด้วยเจ้าพ่อ เจ้าแม่ค้ายา เข้าไปยึดทั่วประเทศ และนักการเมือง ก็จะเข้าไปยึดท้องถิ่นเหล่านั้นด้วย เพราะ ส่วนกลางไม่สามารถทำอะไรได้ โดยตนเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ 100% แต่กฎหมายกระจายอำนาจมีอยู่แล้ว ก็เดินไปตามนั้น ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่สิ่งที่จะมาแก้ตามใจได้ ประชาชนเขาจะเดือดร้อน มีเพียงแค่นักการเมืองแก่ ๆ อย่างตนเท่านั้นที่พอจะรู้ทัน และกล้ามาเป็นปากเสียงกับประชาชน
“การบอกว่าภายใน 5 ปี ครม. ต้องจัดให้มีประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค แสดงว่าต่อไปนี้ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ต้องถือกระเช้า เดินเอามือกุมเป้า แล้วเอาไปให้ นายกอบต. นายกเทศมนตรี อย่างนั้นหรือ และสิ่งที่อยากถามท่านประธาน คือ ทำไมผู้ชี้แจงที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี โดนดำเนินคดีมาตรา 112 จึงสามารถเข้าสภาได้อย่างหน้าตาเฉยแบบนี้…”