ชาวเลเรียกร้อง เร่งเปิดทางสาธารณะ ตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ ชะลอคดีชาวบ้าน ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ ชี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลปลายทาง แต่ต้นตอที่ต้องแก้ไข คือการละเลยออกเอกสารสิทธิ์มิชอบ และการไม่แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
วันนี้ ( 14 ธ.ค.65 ) ธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (อนุชา นาคาศัย) อิทธิพล ช่างกลึงดี ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ธนพร ศรียากูล ในฐานะคณะกรรมการการแก้ปัญหาฯ พร้อมคณะ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้แทนสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือ ทางกฎหมายแก่ประชาชน รวมทั้งผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคม ที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ และผู้แทนเครือข่ายพัฒนาแผนจังหวัดสตูล ลงพื้นที่ตรวจหาข้อมูล ข้อเท็จจริงกรณีข้อพิพาทเส้นทางสัญจร สาธารณะประโยชน์ชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล โดยการตรวจสอบครั้งนี้เกิดขึ้นหลังชาวบ้านเกาะหลีเป๊ะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.65 ที่ผ่านมา
ขณะที่ชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล นำขบวนเรือประมาณ 41 ลำ ที่มีข้อความ เช่น ขอต้อนรับทุกหน่วยงานที่มีความจริงใจการแก้ปัญหาชาวเลเกาะหลีเป๊ะ , ให้นายอนุชา แก้ไขปัญหาภายใน 20 วัน หากไม่สำเร็จจะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล รอต้อนรับคณะที่ลงพื้นที่ หนึ่งในชาวบ้านที่นำเรือมาตั้งขบวนครั้งนี้ บอกว่า ตอนนี้ประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างหนัก หากไม่แก้ปัญหา เอกชนสร้างรั้วปิดพื้นที่ที่เหลือสำเร็จ จะออกมาทำมาหากินออกมาทำการประมงลำบาก เพราะทางเข้าออกชายหาดเพื่อมายังจุดจอดเรือประมงมีแค่ 2 หนึ่งในนั้นก็คือทางที่ทีปัญหาอยู่ในขณะนี้ และตอนนี้สงสารลูกหลานต้องปีนรั้ว ห่วงอันตรายมาก
“หนูมีลูก 4 คน เรียนที่โรงเรียนนี้ทั้งหมด ตอนนี้สงสารลูก ๆ ต้องปีนรั้ว เราห่วงอันตรายมาก ยิ่งเด็ก ๆ โดนขู่กันด้วย เราอยากให้ช่วยแก้ไขปัญหา“
นภัสนันทร์ ยาดำ ชาวเลหลีเป๊ะ จ.สตูล
เมื่อเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (อนุชา นาคาศัย ) พร้อมคณะ เดินทางมาถึงเกาะหลีเป๊ะ ได้รุดเข้าพื้นที่จุดแรกที่เอกชนทำรั้วปิดทางเดินเข้าโรงเรียนเกาะหลีเป๊ะ ขณะที่นักเรียนมอบของที่ระลึกพร้อมเรียกร้องเร่งแก้ปัญหาเปิดพื้นที่ เพราะเดือดร้อน ต้องปีนรั้วเข้าโรงเรียน ด้านเลขา รมต.รับปากว่าจะแก้ไขปัญหาเปิดทางให้กับนักเรียน
จากนั้นรับฟังเสียงสะท้อนความเดือดร้อนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จากกรณีข้อพิพาทที่ดินเอกชนสร้างรั้วปิดทางสาธารณะ โดยชาวเลนำผังเครือญาติยืนยันการอยู่มาแต่ดั้งเดิม และชี้ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบพร้อมกับขอให้เร่งตรวจสอบเอกสารแปลงดังกล่าว และทุกแปลงที่ส่งผลกระทบ เพราะความเดือดร้อนไม่ใช่แค่ชาวเลแต่เดือดร้อนถึงนักท่องเที่ยวที่แทบไม่มีทางเดิน
พร้อมยื่นหนังสือคณะทำงานฯ ให้เปิดเส้นทางสาธารณะ ให้นักเรียน ชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวสัญจรปกติ, พร้อมขอให้ตรวจสอบการออกเอกสารโดยมิชอบทับที่ชาวบ้านที่สาธารณะทั้งหมด และขอให้ชะลอคดีกรณีเอกชนแจ้งดำเนินคดีชาวเล 12 คน
จากนั้นเดินสำรวจพื้นที่ ร่วมกับครูแสงโสม หาญทะเล ครูโรงเรียนเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งย้ำว่า ทางเข้าออกชายหาดล้วนอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนข้อพิพาทเอกชน ซึ่งทับพื้นที่สาธารณะ นอกจากทางออกชายหาดทะเล ซึ่งพื้นที่จัดงานประเพณีลอยเรือแล้ว ยังปิดเส้นทางน้ำไหลลงทะเล ทำให้ชาวเลเดือดร้อน กระทบคุณภาพชีวิต และสุขอนามัยเพราะโรคที่มากับน้ำท่วมและสัตว์พาหะเช่นยุง
เลขา รมต.อนุชาฯ ชี้ ต้องเร่งแก้ปัญหาก่อนเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว สร้างความขัดแย้งกระทบการท่องเที่ยว เสนอแก้ปัญหา 3 ระยะ
ภายหลังลงพื้นที่ติดตามปัญหา ธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (อนุชา นาคาศัย) กล่าวว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อหาทางออกให้ประชาชนในพื้นที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และต้องขอความร่วมมือจากเจ้าของพื้นที่ คู่พิพาท ให้เขาเห็นว่ามีปัญหาผลกระทบต่าง ๆ ต่อนักเรียนก็ดี ประชาชนก็ดี หรือผู้ประกอบธุรกิจ หรือชาวประมงต่าง ๆ โดยพรุ่งนี้จะแจ้งทางเอกชนคู่พิพาทว่าจะลงพื้นที่อีกครั้ง ถ้าทางเจ้าของพื้นที่ต้องการมาชี้แจงหาทางตกลงแก้ไขก็ควรที่มาพูดคุยกัน
ส่วนการแก้ไขปัญหา หลังจากลงพื้นที่วันนี้ ในส่วนประเด็นปัญหาต่าง ๆ ก็อาจจะแบ่งแยก มาเป็นการแก้ปัญหาระดับต้น ที่เราได้เห็นมีการปิดกั้น มีการทำถนนหรืออะไรต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกสบายต่อนักเรียนประชาชน อันนี้ต้องเร่งแก้ไข
ระดับกลางมาดูแลเรื่องของ เอกสารต่าง ๆ เอกสารสิทธิ ไม่ว่าจะเป็น ของเจ้าของพื้นที่ก็ดี ของธนารักษ์ก็ดีโรงเรียนก็ดี ต้องมีการมาหารือกัน
และในระดับสูงขึ้นไปอีก ก็คือเรื่องของการพัฒนาระยะยาว เราต้องพัฒนา เนื่องจากเกาะหลีเป๊ะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะต้องดูแลตรงนี้ เพื่อไม่ให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ตามมาทีหลัง
ส่วนการชะลอการดำเนินคดี ในส่วนตรงนี้ต้องดูข้อมูลก่อนว่า 12 กรณี ที่แจ้งมาเป็นคดีเกี่ยวกับอะไรบ้าง แล้วเราก็จะประสานว่าตรงไหนพอพูดคุยกันได้ ก็จะพยายามทำให้มันปรองดองสามัคคีกันของคนในชุมชน ได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข พร้อมยืนยันจะมีการแก้ไขปัญหาต่อเนื่อง เพราะปัญหาประชาชน ไม่ว่าเล็กน้อยต้องแก้ไข
“คือจะเป็นประเด็นน้ำผึ้งหยดเดียวกระทบท่องเที่ยวไหม ประเด็นตรงนี้เราพยายามแก้ไข ทุกภาคส่วนลงพื้นที่ก็เต็มที่ คิดว่าปัญหาจะคลี่คลายเร็ววัน และน่าจะมีแนวทาง อย่างน้อยชาวบ้านมั่นใจได้ว่าระดับรัฐมนตรีเห็นปัญหาแล้ว และจะนำไปสู่การแก้ไข“
ธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ ชี้ ต้นตอที่ต้องแก้ไข คือการละเลยออกเอกสารสิทธิ์มิชอบ และการไม่แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
จำนงค์ จิตรนิรัตน์ คณะกรรมการฟื้นฟู วิถีชีวิตชาวเลและกะเหรี่ยง กล่าวว่า กรณีปัญหาการเผชิญหน้าที่เกิดขึ้นบนเกาะหลีเป๊ะกรณีล่าสุด เป็นเพียงภาพสะท้อนปัญหาปลายทาง และไม่ใช่แค่เรื่องความขัดแย้งของชาวเลบนเกาะและผู้ประกอบการเจ้าของพื้นที่ ต้องมองให้ถึงแก่นปัญหาที่เป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้เกิดข้อพิพาทที่ดินและปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งปัญหาที่แท้จริงคือการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ การละเลยการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐ ดังนั้นหวังว่าการลงพื้นที่ของคณะทำงาน ที่มีอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ จะกล้าแก้ไขจัดการต้นตอปัญหา
“ตอนนี้ข้อมูลที่มีการศึกษาโดยคณะกรรมการต่าง ๆ ชุด พลเอกสุรินทร์ (พิกุลทอง) ดีเอสไอ กรรมการสิทธิ์ ชี้มาหมดแล้ว ว่ามีการออกเอกสารมิชอบ ข้อมูลครบถ้วนหมดแล้ว เพียงแต่ว่ารัฐมตรี อนุชา จะมีความกล้าหาญหยิบเรื่องนี้มาหรือไม่ มาพิจารณาโดยเอาหน่วยที่มีส่วนร่วมต่าง ๆ มาพิจารณา ต้องเปิดเผยออกมาได้ ให้ความเป็นธรรมทุกส่วน ว่าคุณซื้อมาถูกต้องหรือไม่ หรือเสียหายยังไง รัฐต้องรับผิดชอบ ต้องเปิดทางสาธารณะและเยียวยา เมื่อที่มาไม่สุจริต เหมือนรับซื้อของโจร ก็ต้องมีการลงโทษ ทำไมไม่ตรวจสอบ ตอนที่ซื้อ อันนี้ชัดเจนมาก เพราะฉะนั้น ข้อมูลต่าง ๆ พร้อม ที่จะให้ รมต.พิจารณาหยิบมาดู พร้อมหลักฐานต่างๆ“
จำนงค์ จิตรนิรัตน์ คณะกรรมการฟื้นฟู วิถีชีวิตชาวเลและกะเหรี่ยง
ด้าน สมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เห็นว่า เรื่องที่ดินเกาะหลีเป๊ะไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น คาราคาซังมาหลายปีแล้ว รัฐบาลพลเอกประยุทธ ในสมัยคสช. ก็เคยใช้มาตรา 44 เอาฝ่ายความมั่นคงมาจัดระเบียบเกาะ ดูเสมือนว่าน่าจะทำได้ ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นอำนาจเต็ม แต่กลับทำไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาล่าสุดหวังว่ารัฐบาลต้องเอาจริงเอาจัง ใช้อำนาจที่มีอยู่ ซึ่งแค่กลไกจังหวัดไม่พอ ทางรัฐบาลหรือทางสำนักนายกฯต้องมีกลไกที่รัฐบาลเข้ามาคุมด้วย เพราะถ้าสามารถแก้ปัญหาที่เกาะหลีเป๊ะได้ ก็จะเป็นโมเดลให้หลายพื้นที่ ที่มีความขัดแย้งในลักษณะคล้าย ๆ กัน รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ จัดระบบระเบียบเกาะหลีเป๊ะ
อีกอันหนึ่งที่เห็นศักยภาพ คือที่นี่เป็นชุมชนชาติพันธุ์เกือบ 100% ซึ่งเป็นกลุ่มชาวเล ถ้าผู้ประกอบการเห็นความสำคัญ อาจจะต้อง คิดพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม ให้ชาวเลเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว ไม่ใช่เขาเป็นส่วนเกิน ทำให้เกาะมีเสน่ห์มากขึ้นด้วยวิถีดั้งเดิม ให้คนในพื้นที่อยู่ร่วมกันได้ โดยการท่องเที่ยวต้องยึดโยงพื้นที่ด้วย ถ้าตั้งหลักได้น่าจะเห็นโอกาสและทางออก
“ผมคิดว่านี่จะเป็นปัญหาในอนาคต ถ้าเราไม่จัดการ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งพื้นที่มันเต็มกำลัง แทนที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว มันจะกลายเป็นไม่น่าท่องเที่ยว และถ้าเราออกแบบเป็นระบบ รองรับสร้างจุดขายเชิงวัฒนธรรม จะเป็นทางออก“
สมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล