เตรียมฟ้องรัฐ หากบริษัทอัคราฯ กลับมาเดินหน้าเหมืองทอง

เครือข่ายภาคประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ เตรียมฟ้องกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม หาก บมจ.อัคราฯกลับมาเปิดเหมืองทองจริง ต้นปี 66 เหตุคดีขยายโรงประกอบโลหกรรม – ใบประทานบัตรรุกป่า ยังไม่สิ้นสุด  

จากกรณี บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ประกาศว่าจะเตรียมเปิดเหมืองทอง ต้นปี 2566 แน่นอนซึ่งจะทำเงินหมุนในเศรษฐกิจท้องถิ่นกว่า 3,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ได้ปรับปรุงเครื่องจักร และโรงประกอบโลหกรรมให้และเสร็จ พร้อมกับเปิดรับสมัครพนักงานกว่าร้อยหลายอัตรา 

วันนี้ (12 ม.ค. 2566) วันเพ็ญ พรมรังสรรค์ รองประธานกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ เปิดเผยกับ The Active  ว่า ตามข้อกฎหมาย บริษัทที่ถูกดำเนินคดีจะไม่สามารถเดินหน้าได้ โดยมี 2 คดีใหญ่คือ 1. การขยายโรงประกอบโลหกรรมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ 2.ใบประทานบัตร 4 แปลง ยังเป็นของกลางใน 15 คดี ที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ การที่บริษัทจะกลับมาดำเนินธุรกิจต่อได้คดีที่เป็นข้อพิพาทต้องได้รับการพิสูจน์จนพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งหมดซึ่งหากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตให้บริษัทอัคราฯ ดำเนินกิจการตามที่บริษัทกล่าวอ้าง จะเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตาม ม. 157 

“หากบริษัทอัครา กลับมาดำเนินการต่อ ทางกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ จะต้องเอาผิดผู้ที่อนุมัติ อนุญาตจนถึงที่สุด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ” 

วันเดียวกัน เครือข่ายภาคประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ได้เดินทางไปยื่นเรื่องต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เพื่อขอให้พิจารณาดำเนินคดีเอาผิดกับบริษัทอัครา กรณีเป็นผู้ครอบครองสารพิษอันตราย และเป็นผู้ทำให้รั่วไหลออกสู่ภายนอกพื้นที่การทำเหมืองทองคำ โดยมีผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ ชี้ชัดว่า บ่อกากแร่รั่วไหล อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 237 ซึ่งกรณีนี้ ดีเอสไอ และ ป.ป.ช ยังไม่ได้เอาผิด และอยู่ในอำนาจหน้าที่การสอบสวนดำเนินคดีเอาผิดตามกฎหมาย ของ ปทส.

อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าการเดินหน้าเปิดเหมืองทองมีความคืบหน้าไปมากหลัง แม้การเจรจาข้อพิพาทคำสั่ง คสช. ม.44 ปิดเหมืองทอง ในชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศยังไม่สิ้นสุดลง โดยผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำปรับโครงสร้างองค์กร ซ่อมแซมเครื่องจักรและโรงประกอบโลหกรรม รวมถึงอาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในเหมือง ใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท คืบหน้าเกิน 75% แล้ว

นอกจากนี้ จากการเปิดรับสมัครพนักงาน 160 อัตรา ผลคือจำนวนผู้สมัครเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ซึ่งพนักงานเหล่านี้ที่ผ่านการคัดเลือกจะเข้ามารองรับแผนการดำเนินงานระยะแรก ที่จะใช้โรงประกอบโลหกรรมที่ 2 เพียงโรงเดียวเท่านั้น ที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2.7 ล้านตันต่อปี จากนั้นในเฟส 2 เมื่อซ่อมโรงประกอบโลหกรรมที่ 1 เสร็จ กำลังการผลิตจะเพิ่มอีก 2.3 ล้านตันต่อปี และจะรับสมัครพนักงานเพิ่มอีกกว่า 1,000 อัตรา 

ส่วนการตั้งกองทุนต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด อัคราฯได้ตั้งกองทุน แล้วคือ 1. กองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ 2. กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ 3. กองทุนประกันความเสี่ยง 4. กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active