กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามปัญหาชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เผยธุรกิจท่องเที่ยวต้องเห็นชุมชนเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา ด้านชาวเลโอดรายได้ท่องเที่ยวปีละกว่า 7,000 ล้าน แต่ชาวเลมีส่วนแบ่งไม่ถึง 1%
วันที่ 21 ม.ค. 2566 ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงพื้นที่ติดตามปัญหาชมรมเรือหางยาวกับการท่องเที่ยว ตามคำร้องกรณีกล่าวอ้างว่าการประกอบอาชีพกิจการเรือโดยสารรับส่งนักท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งเกาะหลีเป๊ะ สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งและการประกอบอาชีพของชาวเลอุรักลาโว้ย
โดยชมรมเรือหางยาวชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ได้ร้องเรียนเหตุชาวเลสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งแต่เดิมชาวเลจะมีรายได้จากการนำเรือไปรับขนส่งสัมภาระนักท่องเที่ยวจากโป๊ะกลางทะเล (นักท่องเที่ยวมาด้วยเรือเฟอร์รี่ใหญ่) ไปยังที่พักต่างๆ ประมาณรายละ 100 บาท แต่หลังจากกลุ่มผู้ประกอบการได้ดำเนินการสร้างสะพานจิ๊กซอเทียบชายหาด ชาวเลก็ยินดีปรับตัวเองมาบริการแบกกระเป๋าให้นักท่องเที่ยว หรือนำเรือหาง (เรือประมงพื้นบ้าน) ไปรับนักท่องเที่ยวจากในทะเล ในกรณีเรือสปีดโบ้ทไม่สามารถเข้าเทียบท่าได้ แต่กลับได้รับค่าตอบแทนที่ลดลงและไม่เป็นธรรม
ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า จากการรับฟังปัญหาของชาวเลเกาะหลีเป๊ะแล้ว มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นข้อชี้แนะของสหประชาชาติ ให้ธุรกิจรับผิดชอบ ต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยให้มองชาวเลเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและการท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ลงพื้นที่มาประชุมกับส่วนราชการในจังหวัดสตูลแล้วรอบหนึ่ง ซึ่งมีการนำเสนอกรณีที่ชาวเลรวมกลุ่มสหกรณ์จดทะเบียนรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์ซึ่งวางระเบียบการใช้เงินที่จะทำให้ชาวเลมีรายได้เพิ่มขึ้นสามารถตรวจสอบที่มาและการใช้จ่ายรวมถึงจะเป็นสวัสดิการที่พัฒนาท้องที่และดูแลให้คุณภาพชีวิตของชาวเลดีขึ้น
“ทางจังหวัดรับปากที่จะหารือกับทางอุทยานและกรมเจ้าท่าเพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้ ซึ่งคาดหวังว่าจะได้ข้อสรุปให้ทันในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่นของปีนี้เพื่อให้ชาวเลได้มีโอกาสมีส่วนแบ่งทางธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นรายได้หลักของเกาะหลีเป๊ะที่มีมูลค่ากว่าปีละ 7,000 ล้านบาทอย่างเป็นธรรม “
ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ด้าน เสกสรรค์ ขาวเรือง สมาชิกสหกรณ์ชาวเลบริการท่องเที่ยวเกาะหลีเป๊ะ กล่าวว่า ปัจจุบันชาวเลมีเรือประมงพื้นบ้านอยู่ 193 ลำ ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาการท่องเที่ยวทำให้จากเดิมที่เคยมีรายได้จากการรับส่งนักท่องเที่ยวต้องหายไปเพราะการลดค่าบริการของกลุ่มธุรกิจทำให้คุณภาพชีวิตของชาวเลตกต่ำ แม้จะมีผู้ประกอบการบางส่วนที่เข้าใจและยินดีช่วยเหลือชาวเลแต่ก็มีอีกบางส่วนที่ไม่ยอมจ่ายค่าบริการส่วนนี้ ทั้งที่เกาะหลีเป๊ะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจการท่องเที่ยวกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปีแต่ชาวเลมีส่วนแบ่งจากธุรกิจท่องเที่ยวนี้ไม่ถึง 1%
“ เรียกร้องให้เร่งดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้ พร้อมยืนยันว่ากรณีดังกล่าวไม่ใช่การเก็บค่าเหยียบแผ่นดินเกาะหลีเป๊ะตามที่มีการกล่าวอ้างของบางกลุ่ม เพราะชาวเลยินดีให้ทุกคนเข้ามาที่เกาะ ขณะเดียวกันการเก็บค่าบริการดังกล่าว เป็นการตอบแทนในอาชีพของชาวเล ที่พร้อมให้บริการแก่นักท่องเที่ยว จึงไม่ใช่ประเด็นที่เชื่อมโยงให้เกิดการเข้าใจผิดและมองชาวเลในภาพลบ “
เสกสรรค์ ขาวเรือง สมาชิกสหกรณ์ชาวเลบริการท่องเที่ยวเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล
ทั้งนี้การตั้งสหกรณ์จะทำให้รายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยว หรือส่วนแบ่งที่ได้จากผู้ประกอบการเกิดความโปร่งใสและนำรายได้เหล่านี้ไปพัฒนาพื้นที่ของเกาะในด้านต่างๆ ด้วย