กระตุ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้า ห้ามขาย บุหรี่ไฟฟ้า

พบการร้องเรียนแหล่งค้าบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก เสนอตำรวจทุกท้องที่จับกุมผู้กระทำผิด ลดการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน หลังพบการระบาดเข้าไปในโรงเรียน

วันนี้ (1 ก.พ. 2566) ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า มีคนท้าทายฝ่าฝืนกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเปิดเผยพบเห็นได้ทั่วประเทศ รวมทั้งมีการลักลอบนำเข้าเพื่อจำหน่ายว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วนที่สุด เพื่อตอบโจทย์เจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ออกกฎหมายห้ามนำเข้า ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อต้องการคุ้มครองสุขภาพของคนไทย โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นทั้งหญิงชายที่ไม่สูบบุหรี่จากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า

“ผมขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้า ห้ามขาย บุหรี่ไฟฟ้า ตั้งแต่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงพานิช กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมอย่างเร่งด่วน เพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้า ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ที่วางขายในที่ต่าง ๆ รวมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติที่สมเหตุสมผลและประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยได้รับทราบ เพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ของไทยที่เสียหาย และลดความรุนแรงของการะบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนไทย”

ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีผู้ร้องเรียนว่าพบเห็นร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างโจ่งแจ้งในท้องที่ต่าง ๆ แทบทุกวัน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งผิดกฎหมายตามประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ห้ามขายและให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ เป็นเรื่องที่ตำรวจทุกท้องที่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายได้เลย ซึ่งจะลดการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน ที่ตอนนี้ระบาดเข้าไปในโรงเรียน

ทั้งนี้ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มาตรา 29/9 มาตรา 56/4 และคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ลงวันที่ 28 ม.ค.2558 ระบุว่า การจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า มีความผิดฐาน “ฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งห้ามขาย หรือห้ามให้บริการบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522

และ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดนำเข้าของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการทางศุลกากรเข้าในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดน หรือการถ่ายลำเลียงโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัด หรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ซึ่งความผิดที่ผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งของที่มิได้ผ่านพิธีการศุลกากรจะได้รับคือ ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิด

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active