เริ่มแล้ว! ประมงพื้นบ้าน จ.สตูล จับตาพรรคการเมือง จี้เสนอนโยบายด้านประมง

ชี้ไม่เคยเห็นนโยบาย “พัฒนาคุณภาพชีวิตประมงพื้นบ้าน-การจัดการทรัพยากรทางทะเลเพื่อความยั่งยืน” เรียกร้องทุกพรรคการเมืองรับฟังเสียงสะท้อนข้อเสนอชาวประมง 22 จังหวัดทะเลชายฝั่ง ผลักดันสู่นโยบายให้เกิดความเป็นธรรม

วันนี้ (19 ก.พ.2566) อับดุลรอซัก เหมหวัง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้าน จ.สตูล เปิดเผยกับ The Active ว่า เมื่อเร็วๆนี้  ทางตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดสตูล เพิ่งได้มีการประชุมหารือกัน เพื่อจับตาและประเมินนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆด้านประมง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ตัวเลือกของพรรคการเมืองใน จ.สตูล ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนที่พูดถึงพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน หรือมีนโยบายเกี่ยวกับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านเลย เพราะฉะนั้นในฐานนะนายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้าน จ.สตูล ที่พูดคุยกับพี่น้องมาอย่างต่อเนื่อง ต่างสะท้อนออกมาค่อนข้างชัดว่า วันนี้ถึงเวลาแล้วที่พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องนำข้อเสนอของพี่น้องประมงพื้นบ้านเข้าไปบรรจุเป็นนโยบาย เพื่อผลักดันสู่นโยบายแห่งชาติ ไม่ว่าจะในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านกฎหมายและเครื่องไม้เครื่องมือในการทำประมง หรือว่าทุกเรื่องที่เกี่ยวพันกับชาวประมง เพราะวันนี้ต้องยอมรับความจริงว่า คำว่าประมงถูกแยกเป็นสองส่วน หนึ่งคือ ประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ใน จ.สตูล และถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยทั้ง 22 จังหวัดชายทะเลที่มีอยู่กว่า 50,000 ลำ  และส่วนที่ 2 คือ ประมงพาณิชย์ แต่ชัดเจนว่ากลุ่มที่ฝ่ายการเมืองดูแลค่อนข้างเป็นพิเศษ ก็คือกลุ่มประมงพาณิชย์  แต่พี่น้องประมงพื้นบ้าน กลับไม่ค่อยมีอะไรชัดเจน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากเวทีที่ได้พูดคุยกัน ที่ร่วมกันสะท้อนออกมา เช่น ความเหลื่อมล้ำในเรื่องการใช้น้ำมัน ที่รัฐสนับสนุนให้มีกองทุนน้ำมัน ที่แม้จะบอกว่าจะให้ทุกคนเข้าถึง แต่ว่าแหล่งจ่ายน้ำมันให้กับพี่น้องชาวประมงต้องห่างจากฝั่งไม่รู้กี่สิบไมล์ทะเล ซึ่งเรื่องนี้ผู้ที่ได้ประโยชน์โดยตรงคือกลุ่มประมงพาณิชย์ เพราะพี่น้องประมงพื้นบ้านไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้ ตรงนี้เห็นได้ชัด ต้นทุนในการประกอบอาชีพสูงกว่าและแตกต่างกัน 

“ และถ้าเป็นไปได้ สิ่งที่พี่น้องกำลังพูดถึง ในสัดส่วนที่จะเข้ามาช่วยเหลือกับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน ควรจะมีแหล่งจ่ายน้ำมันที่มันใกล้ฝั่ง ที่พี่น้องประมงพื้นบ้านมีศักยภาพที่จะเข้าถึงได้ไหม ไม่ใช่ไปตั้งอยู่ 15-20 ไมล์ทะเล แบบนี้ใครจะไปถึง ชาวบ้านเรือเล็กๆแบบนี้ วิ่งออกไปซื้อน้ำมันที ต้นทุนไม่รู้เท่าไหร่ แต่ถ้ามีแหล่งจ่ายน้ำมันให้พี่น้องที่อยู่ใกล้ฝั่ง หรืออยู่บนฝั่ง ให้พี่น้องประมงพื้นบ้านเข้าถึง นี่จะเป็นการยกระดับให้ชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับการดูแลเข้าถึง “ 

อับดุลรอซัก เหมหวัง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้าน จ.สตูล

รวมไปถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมายด้านประมง โดยเฉพาะใน จ.สตูล มีเรื่องการกำหนดแนวเขตทะเลชายฝั่งแล้ว ซึ่งเป็นมติเสียงส่วนใหญ่ของชาวประมง 4 อำเภอที่เห็นตรงกัน ตามเหตุผลที่ยึดมั่นอยู่บนหลักของการทำประมงยั่งยืน และมีความรับผิดชอบต่อฐานทรัพยากร และต้องการใช้เครื่องมือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอันนี้ชัดเจนมาก ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประมงและทะเล จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด เอากฎหมายมาบังคับใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ละเลยและเพิกเฉย เพราะสิ่งเหล่านี้คือต้นทางหลักที่ทำให้คุณภาพชีวิตประมงสองส่วนนี้ต่างกัน เพราะพี่น้องประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายค่อนข้างมาก 

ดังนั้นในภาวะที่ประเทศกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ สิ่งที่ ส.ส. หรือว่าพรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องดำเนินการ คือควรเปิดเวที รับฟังข้อเสนอของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งจังหวัดสตูล และส่วนอื่นๆของประเทศไทยด้วย เพื่อรับเอาข้อเสนอเหล่านี้ไปบรรจุเป็นนโยบายให้ชัดเจน ตรงไปตรงมา และมีรูปธรรมจริงในทางปฏิบัติ ไม่ว่าพรรคไหนจะได้เป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็ตาม ต้องผลักดันข้อเสนอเหล่านี้ ให้ไปสู่วาระ ที่รัฐบาลชุดต่อไปต้องรับไปดำเนินการเพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมง ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำเหมือนที่ผ่านมา

โดยที่ประชุมตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน จ.สตูล มองประเด็นสำคัญๆที่พรรคการเมืองควรผลักดันเป็นนโยบายหลักๆ คือ 1.เรื่องการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับประมงจะต้องเข้มงวดและจริงจัง ให้ได้เกิดความเป็นธรรม และเกิดการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อทรัพยากร 

2.การเปิดโอกาสให้พี่น้องประมงพื้นบ้าน เข้าถึงบริการของรัฐ โดยเฉพาะเรื่องน้ำมันราคาถูก ที่ดำเนินการอยู่ตอนนี้  

และ 3.ต้องยอมรับว่าชาวประมงพื้นบ้านต้องทำอาชีพตามวิถี ต้องอาศัยปัจจัยทางธรรมชาติเป็นหลัก จะมีในช่วงมรสุมที่ไม่สามารถออกเรือได้ แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีการชดเชยดูแลแก้ปัญหาผลกระทบต่อรายได้ ต่างจากภาคเกษตรอื่นๆ ที่มีการดูแลและชดเชยหรือประกันรายได้ เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน  อ้อย  

“ แต่ประมงพื้นบ้าน รัฐไม่ได้วางหลักประกันในเรื่องของค่าครองชีพให้กับพี่น้องตรงนี้ เพราะฉะนั้น ภาคการเมืองเองควรจะมีนโยบายที่จะวางมาตรฐานในการดูแลพี่น้องประมงพื้นบ้านยกตัวอย่าง เมื่อไม่สามารถออกไปทำประมงได้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ถึงหนึ่งเดือน รัฐควรเยียวยาพี่น้องเหล่านี้ให้มีคุณภาพชีวิต เพื่อชดเชยจากรายได้ที่สูญเสีย เพราะไม่ได้ประกอบอาชีพจึงเป็นเรื่องจำเป็นมากในการยกระดับคุณภาพชีวิต “ 

อับดุลรอซัก เหมหวัง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้าน จ.สตูล
อับดุลรอซัก เหมหวัง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้าน จ.สตูล

ด้าน วิโชคศักดิ์  รณรงค์ไพรี  นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า ถือเป็นปรากฎการณ์หนึ่ง เสียงสะท้อนหนึ่งที่สำคัญ ในขณะที่พรรคการเมืองไม่ให้ความสำคัญที่จะพูดเรื่องนี้ ฝั่งเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จึงเตรียมจับตาว่าจะมีพรรคไหนที่จะรับข้อเสนอเหล่านี้ หรือเอาข้อเสนอไปพิจารณา 

จริงๆแล้วเราคาดหวังให้มีนโยบายต่อกลุ่มประมงพื้นบ้าน แต่ต้องยอมรับว่าสังคมไทย เป็นสังคมแบบเครือข่ายหมายความว่าประมงพื้นบ้านอยู่ในชุมชน หมู่บ้าน ในหมู่บ้านก็มีหลายอาชีพปนกันอยู่ ซึ่งฐานะของสังคมไทยเราอยู่และเป็นอย่างนั้น ทำให้พรรคการเมืองทุกพรรค ประเมินว่าไม่ต้องมีนโยบายเฉพาะประมงพื้นบ้านก็ได้  ถ้าพูดเรื่องหาเสียงแบบภาพรวม หรือท้องถิ่นนิยม หรือว่า ประชานิยม ก็น่าจะไปครอบคลุมถึงกลุ่มประมงพื้นบ้านด้วยอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เรียกว่าวิสัยทัศน์พรรคการเมืองจะเป็นอย่างนั้น  แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตไม่นานประชาชนก็จะเริ่มคิดว่า ฐานอาชีพของเขา ในแต่ละอาชีพ นักการเมือง หรือพรรคการเมืองได้ตอบสนองอะไรเขาบ้าง ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านจะเป็นหนึ่งกลุ่มในนั้น ถ้าพรรคการเมืองยังคิดแบบเดิม คิดว่าไม่ต้องสนใจดูแบบภาพรวม อย่างสตูล ไม่พูดเรื่องอาชีพ แต่พูดรวมๆแค่คนท้องถิ่นนี้ อำเภอนี้ เลือกพรรคนี้ ชูกระแสอย่างนี้อย่างเดียว ในอนาคตอาจจะยืนระยะได้ยากขึ้น

 วิโชคศักดิ์  รณรงค์ไพรี  นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

ฉะนั้นเราคาดหวังอาชีพประมงพื้นบ้านก็จะเป็นอันหนึ่งที่จะถูกชูขึ้นมา ให้สังคม ให้รัฐบาล ให้พรรคการเมืองได้เห็น ถ้าเขาไม่เห็น ปัญหาก็จะวนปัญหาเดิมที่เราต้องเจอและแก้ตลอด เช่นข้อบังคับไอยูยูในการทำกิจการประมง คนยากจน ความเหลื่อมล้ำ  อย่างที่เห็นชัดๆเลย เรื่องกองทุนน้ำมันของฝั่งประมงอุตสาหกรรมที่เข้าถึงแต่ประมงพื้นบ้านเข้าไม่ถึง 

“ ดังนั้นมันจึงชัดเจน ตรงนี้ทำไมถึงไม่มอง นี่เป็นหนึ่งในการเมือง พรรคการเมือง รัฐบาล หรือผู้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล ต่อไปจะต้องวิเคราะห์เรื่องนี้ ถ้าไม่วิเคราะห์เอาล่ะแน่นอนยุคนี้อาจจะพออยู่ได้ เพราะมองว่าชุมชนนี้ท้องถิ่นนี้ฉันคุมอยู่ อันนี้เป็นการประเมินการเมืองแบบเก่า ต่อไปคุณจะเจอการเมืองแบบใหม่ของชาวบ้าน เขาจะมองนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอาชีพเขามากขึ้น ไม่ใช่เห็นแก่ 500 บาท เห็นแก่ชุมชนนี้กระแสไปทางไหน นายหัวคนไหนฉันเลือกคนนั้น  ซึ่งจะไม่ใช่แบบนั้นอีกแล้วเมื่อภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้น และตอนนี้กำลังจะเกิดขึ้นแล้วด้วย “ 

 วิโชคศักดิ์  รณรงค์ไพรี  นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

วิโชคศักดิ์ บอกว่า ปรากฎการณ์กลุ่มประมงพื้นบ้านในแต่ละจังหวัด จะมีการหารือจับตานโยบายพรรคการเมืองต่างๆเช่นเดียวกัน และจะวิเคราะห์ทำข้อเสนอนโยบายด้านประมงพื้นบ้าน ซึ่งต้องจับตาพรรคการเมืองใดจะให้ความสำคัญ และจะเป็นฐานสำคัญต่อการตัดสินใจต่อการเลือกตั้งของครอบครัวชาวประมงพื้นบ้านทั้ง 22 จังหวัดทะเลชายฝั่งกว่า 5 หมื่นลำ เกือบ 3 แสนคน 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active