ย้ำกรณีนี้น่าเป็นห่วงกว่าเหมืองทองอัครา กังวลสารโลหะหนักอาจเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารผ่านปลา พืชผักริมน้ำ ขณะที่เหมืองตั้งอยู่ฝั่งเมียนมา ยากต่อการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายโดยฝ่ายไทย
วันนี้ (8 เมษายน 2568) ผศ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน ให้สัมภาษณ์ The Active เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข ตรวจเลือดประชาชนที่อยู่อาศัยและใช้น้ำจากแม่น้ำกก หลังมีรายงานการพบสารหนูในน้ำ แม้ยังไม่เกินค่ามาตรฐานตามเกณฑ์รัฐ แต่สุ่มเสี่ยงต่อการสะสมในร่างกายและสร้างผลกระทบระยะยาว

“เราไม่รู้ว่าการสะสมของสารพิษในร่างกายมนุษย์จะมากแค่ไหน แม้น้ำจะดูสะอาดในทางกายภาพหรือเคมี แต่ผลต่อสุขภาพมนุษย์อาจร้ายแรงกว่านั้นมาก” ผศ.ไชยณรงค์กล่าว
พร้อมย้ำถึงความจำเป็นในการตรวจหาสารโลหะหนักในเลือดชาวบ้าน เช่น สารหนู ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และแมงกานีส โดยอ้างอิงกรณีเหมืองทองอัคราในจังหวัดพิจิตร ที่แม้จะมีบ่อเก็บกากแร่ ก็ยังพบการปนเปื้อนในร่างกายประชาชนและส่งผลถึง DNA ของเด็ก
“กรณีเหมืองทองที่ต้นน้ำกกยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะไม่มีบ่อกักเก็บกากแร่ ทุกอย่างไหลลงแม่น้ำโดยตรง จึงไม่เพียงพอที่จะตรวจแค่น้ำ ผิวดินหรือน้ำประปา แต่ต้องตรวจเลือดประชาชนอย่างจริงจัง” เขากล่าว
พื้นที่ที่ควรได้รับการตรวจเลือดในเบื้องต้น ได้แก่ ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียงที่ใช้น้ำจากแม่น้ำกกเพื่ออุปโภคบริโภค เช่น การอาบน้ำ ซักผ้า ทำอาหาร หรือผลิตน้ำประปาในครัวเรือน
เมื่อถามถึงผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการตรวจเลือด ผศ.ไชยณรงค์กล่าวว่า การตรวจเลือดจะช่วยให้สามารถวินิจฉัยอาการผิดปกติ เช่น โรคผิวหนัง หรือโรคจากสารพิษสะสม ช่วยให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงที และยังเป็นหลักฐานสำคัญในการเรียกร้องมาตรการเฝ้าระวังและเยียวยาผลกระทบต่อชุมชนในระยะยาว
“หากพบสารพิษเกินมาตรฐานในร่างกายประชาชน คนเหล่านี้ควรได้รับการส่งต่อเพื่อรักษาในโรงพยาบาลทันที การรู้ก่อนจะช่วยชีวิตพวกเขาได้” ผศ.ดร.ไชยณรงค์กล่าว
นอกจากนี้ อาจารย์ยังชี้ว่า สารโลหะหนักจากการทำเหมืองมีแนวโน้มเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารผ่านปลาในแม่น้ำกก พืชผักที่ชาวบ้านเก็บจากริมน้ำ หรือผลผลิตทางเกษตรที่ใช้น้ำจากแม่น้ำกกในการชลประทาน
เขายังแสดงความกังวลต่อความซับซ้อนของปัญหานี้ เพราะเหมืองที่ตั้งอยู่ในประเทศเมียนมา อาจอยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของรัฐไทย อีกทั้งยังเกี่ยวพันกับทุนข้ามชาติและกลุ่มอำนาจท้องถิ่นในฝั่งพม่า
“แค่เหมืองทองอัคราในประเทศไทยเอง ยังจัดการไม่ได้ แล้วนี่คือเหมืองในต่างประเทศ การควบคุมและตรวจสอบจะยิ่งยากขึ้นอีก” ผศ.ชยณรงค์กล่าว