เสนอนโยบายที่สอดรับกับปัญหาภาคประชาชน ผลักดัน “โฉนดชุมชน ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน” ปิดช่องว่างเหลื่อมล้ำ
จากควันหลง คาราวานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move บุก 5 พรรคการเมือง ตั้งแต่ พรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย และก้าวไกล ยืนข้อเรียกร้อง 5 ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัย ทรัพยากรและที่อยู่อาศัย ในรูปแบบโฉนดชุมชน ที่ยังมีปัญหาทั่วประเทศ, เรื่องเสรีภาพ และกระบวนการยุติธรรม, ผลักดันสิทธิสถานะและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ประชาธิปไตยและสิทธิชุมชน, สร้างรัฐสวัสดิการและการกระจายอำนาจ, รวมถึงแก้ไขปัญหาโครงการพัฒนาของรัฐและสาธารณูปโภค นำมาสู่วันนี้ ที่มีนักการเมืองจาก 11 พรรค มาร่วมเวทีดีเบตพบ P-move เพื่อนำเสนอนโยบายที่สอดรับกับปัญหาภาคประชาชน
ข้อมูลสำคัญจากพีมูฟ พบปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินเพิ่มขึ้น ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์กว่า 70% ถูกถือครองโดยคนเพียง 10% มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากนโยบายทวงคืนผืนป่ากว่า 46,000 คดี เสนอให้เร่ง ผลักดัน “โฉนดชุมชนภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าธนาคารที่ดิน” ปิดช่องว่างเหลื่อมล้ำ-ถือครองที่ดินกระจุกจนกระจาย The Active รวบรวมข้อเสนอจากหลายพรรคการเมืองจากเวทีเพื่อดูว่ามีพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายได้สอดคล้องกับภาคประชาชนบ้างหรือไม่
พรรคกรีน ย้ำจุดยืน แม้ไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่จะดันสร้างโลกสีเขียว-ใช้ต้นไม้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์
พงศา ชูแนม หัวหน้าพรรคกรีน เป็นพรรคแรกที่ได้นำเสนอนโยบาย ระบุ “จากมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 จนถึงวันนี้ผ่านมา 65 ปี ยังไม่เห็นรัฐบาลชุดไหนออกโฉนดชุมชน ยกเว้นที่คลองโยง จ.นครปฐม หรือ นโยบาย คทช. ผ่านมา 8 ปี ก็ยังมิได้เดินหน้า ที่ดินทั้งหมด 35 ล้านไร่ 17 ล้านคน ก็ยังถือครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการถ่ายทอดความผิดทางพันธุกรรมในเรื่องที่เกี่ยวกับป่าไม้” จึงเสนอให้ทำให้ถูกกฎหมาย
โดยย้ำจุดยืน แม้พรรคกรีนจะไม่ได้เข้าไปอยู่ในสภาฯ แต่พรรคจะผลักดันการใช้ต้นไม้เป็นเครื่องมือในทางเศรษฐศาสตร์ เพราะโลกร้อน ปัญหาจริงสังคมแย่ลง พรรคกรีนจะทำให้โลกเย็นลง ขีวิตดีขึ้น และใช้ต้นไม้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การตั้งธนาคารต้นไม้ ออกบัตรรับรองแสดงทรัพย์สินจากมูลค่าต้นไม้ ฯลฯ
พรรคก้าวไกล เสนอ 7 ประเด็น ลดเหลื่อมล้ำที่ดิน-เพิ่มสวัสดิการสังคม
เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการนโยบายพรรคก้าวไกล ระบุ จากการอ่านข้อเสนอของกลุ่มพีมูฟ ได้ตกผลึกออกมาเป็น 7 นโยบายที่พรรคก้าวไกลจะเดินหน้า ประกอบด้วย
- การมีมติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใน 100 วัน โดยระบุหากได้เป็นรัฐบาลจะทำทันที โดยข้อเสนอสำคัญคือการร่างฉบับใหม่ทั้งหมดโดยมี สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง
- จัดสรรสวัสดิการ คือ สิ่งที่ทำให้คนทำงาน ทำงานได้โดยไม่ต้องกังวลใจ นั่นคือการได้รับสวัสดิการในช่วงลาคลอด 5,000 บาท 6 เดือน (ทุกคน) เด็กเล็กที่เพิ่งคลอดจะได้ 1,200 บาทต่อเดือน (ทุกคน) พ่อแม่จะได้ดูแลน้องให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ, ขณะที่ค่าแรงจะปรับขึ้นอัตโนมัติตามเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ โดยในปี 2566 ค่าแรงขั้นต่ำควรจะอยู่ที่ 450 บาทต่อวัน ผู้สูงอายุปรับเป็น 3,000 บาท ภายในปี 2570 นอกจากนั้น จะมีกองทุนดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง บางครั้งจะต้องเสียสละคนวัยแรงงานมาดูแลผู้สูงอายุ
- แก้ปัญหาที่ดิน-ที่ทำกิน จุดสำคัญ คือ การพิสูจน์สิทธิ์ที่ไม่ได้ใช้เฉพาะภาพถ่ายทางอากาศเท่านั้น ที่ผ่านมามีงบประมาณข้าราชการจำกัด เสนอมีองค์กรอิสระพิสูจน์สิทธิ์ เดิมสำรวจและออกเอกสารสิทธิ์ไว้ ตั้งเป้าเคลียร์ 13 ล้านไร่ให้จบภายใน 5 ปี กองกลาง 10,000 ล้านบาทพิสูจน์สิทธิ์
- ปัญหาที่ดินกระจุกตัว เสนอการแก้ปัญหาแบบ ภาษีที่ดินรวมแปลง ใครที่มีที่ดินเยอะต้องเอามูลค่าที่ดินทั้งประเทศมารวมกัน ถ้าเกิน 300 ล้านบาทขึ้นไปก็ต้องเสียภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า นอกจากนี้ ยังเก็บภาษีความมั่งคั่ง สำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินสุทธิเกินกว่า 300 ล้านบาท
- ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย สนับสนุนที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย ในราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท ช่วยค่าผ่อนบ้าน 2,500 บาทต่อเดือน
- กระจายอำนาจท้องถิ่น อบต.ได้งบประมาณเพิ่ม 20 ล้านบาท เทศบาล 100 ล้านบาท โดยมีพันธกิจต้องทำน้ำประปาดื่มได้ ภายใน 7 ปี
พรรคชาติพัฒนากล้า ชู “สหกรณ์มหาชน” ให้เกษตรกรระดมทุนได้
พรชัย มานะเนตรี พรรคชาติพัฒนากล้า ตั้งคำถามสำคัญ อยากให้ทุกคนที่เป็นคนไทย เป็นแรงงานไทยถูกดึงมาช่วยพัฒนาประเทศทั้งหมด ปัญหานี้ต้องแก้อันดับแรก คือ วิธีคิดข้าราชการที่ล้าหลัง ชูการสร้างสหกรณ์มหาชน โดยเปรียบเทียบกับทุนใหญ่มีที่ดิน 100 ล้านบาท สามารถนำมาเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นมหาชนได้ มีเงินเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเพื่อนำมาต่อยอดในทางธุรกิจ แต่ที่ดินของชาวบ้านกลับตีราคาถูก ค่าแรงของเกษตรกรที่สร้างผลผลิตบนที่ดินกลับมีราคาถูก จำเป็นต้องมีสหกรณ์มหาชน ให้เกษตรกรระดมทุนได้โดยไม่ต้องอาศัยเงินรัฐบาลเลยสักบาท แต่ต้องแก้กฎหมาย
ชาติไทยพัฒนา: ยกระดับนโยบายเกษตรกรเท่านโยบายเศรษฐกิจ, ไทยสร้างไทย: พร้อมผลักดันโฉนดชุมชน, เพื่อไทย: ข้อเสนอพีมูฟสอดคล้องแนวนโยบายของพรรค 80%
- นิกร จำนง ประธานนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา เสนอยกระดับนโยบายด้านการเกษตร แยกออกจากนโยบายเศรษฐกิจ แก้รัฐธรรมนูญ สร้างให้ทุกคนมีรายได้ ที่เพียงพอ สร้างโอกาสมาใหม่ สร้างสวัสดิการทั้งหมด
- ศักดิ์ณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา พรรคไทยสร้างไทย ระบุ มองเห็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น กลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์ เห็นความแตกแยก สิ่งที่คิดในเชิงยุทธศาสตร์ คือ พาประชาชนออกจากความพ่ายแพ้ไปสู่ชัยชนะ ข้อเสนอของพีมูฟ เป็นประเด็นที่สอดคล้องกับแนวนโยบายพรรคไทยสร้างไทย สิ่งที่เป็นปัญหาโฉนดชุมชนที่ดิน เช่น เอกสารของทางราชการ มอบที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย เขาได้สิทธิ์ในการอยู่ครบ 30 ปี
- กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ศึกษาเอกสารที่พีมูฟส่งให้ อยากให้สบายใจว่าร้อยละ 80 ตรงกับแนวทางที่พรรคเพื่อไทยจะทำ ส่วนที่เหลือพบว่าหลายเรื่องยังไม่มีหารือลึกลงไปที่ข้อเสนอเหล่านั้น ถ้ามองบริบทเศรษฐกิจสังคม มองจากมุมที่เห็นจากความเหลื่อมล้ำ เจตนาอยากให้เกิดการเฉลี่ยความสุขกระจายความเจริญ เมื่อวานนี้มีการพูดถึงนโยบายหลัก ๆ อย่างที่ดิน โฉนดถ้วนหน้า ร่วมใจพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ระบบนิเวศน์
- ไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคพลังประชารัฐ ที่ดิน เสรีภาพ ประชาธิปไตย ยืนยันตั้งแต่เมื่อวานนี้ที่พีมูฟไปมอบหนังสือว่า มีเนื้อหาของข้อเสนอที่สอดคล้องกับนโยบายพรรคถึง 90% ที่พรรคจะเดินหน้าอย่างแน่นอน เช่น ปัญหาเรื่องที่ถูกจับ ประกาศกฤษฎีกาป่าสงวนให้ชัด ใครถูกดำเนินคดีก็ต้องพ้นจากโทษทั้งหมด
- นิมิตร สมเจริญ พรรคเสรีรวมไทย เลือกตั้งใหม่ พรรคยังคงให้ความสำคัญกับความยากจน จากที่ดินทำกินให้ประชาชนที่ยากไร้อย่างจริงจัง สิ่งหนึ่งที่เห็น จากการติดตามข่าวการเมือง คือการเรียกร้องความเป็นธรรม หน้าทำเนียบ มาพักอาศัยอย่างยากลำบาก แต่ทุกท่านมีความหวังเพื่อจะให้รัฐขจัดทุกข์ บำรุงสุข
พรรคประชาธิปัตย์ เน้นแก้ปัญหาที่ดิน-ที่ทำกิน ย้ำจุดกำเนิดโฉนดชุมชน เริ่มจากพีมูฟ สัญญาจะดันต่อหากได้เป็นรัฐบาล
สาธิต วงศ์หนองเตย พรรคประชาธิปัตย์ ระบุ 78 ปี ของพรรคประชาธิปัตย์ มีอุดมการณ์ในการการกระจายสิทธิ์ที่ดินที่ทำกิน ตั้งแต่สมัยนายชวน หลีกภัย เริ่มทำเรื่อง สปก. ถึงวันนี้ สปก.ได้กระจายการถือครองที่ดิน 38 ล้านไร่ และยังคงเป็น สปก. ที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ ถัดมาในยุคอภิสิทธิ์ มักมีคำถามเสมอว่าใครเป็นพ่อโฉนดชุมชน ก็ต้องตอบว่า P-Move เป็นคนเริ่มต้น ในเวลานั้นพรรคประชาธิปัตย์ได้เปิดประตูทำเนียบ เชิญชาวบ้านมานั่ง และจัดให้มีโฉนดชุมชนครั้งแรกของประเทศไทย โดยโฉนดชุมชนเป็นหลักคิด การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ของคนที่ไม่เชื่อว่าที่ดินเป็นสินค้า ที่ดิน คือ ชีวิต เคารพชุมชน ไม่ใช่ปัจเจก ที่มีสิทธิ์ต้องบริหารจัดการที่ดิน แต่หลังจากนั้นมาพรรคเพื่อไทยไม่เดินหน้า จนมาถึง คสช. เอามาแปลงเป็น คทช. แต่ยังไปไม่ถึงสิทธิชุมชน จึงมีข้อเสนอ 3 ประเด็น
- ถ้า ปชป. เป็นรัฐบาลจะเดินหน้านโยบายโฉนดชุมชนต่อ บนหลักคิดกระจายการถือครองที่ดิน
- ธนาคารที่ดิน หลักคิด เป็นแลนด์แบงค์มีเงินกู้ให้กับรายย่อยเพราะไม่มีหลักประกัน ทุกวันนี้เพี้ยนต้องออกกฎหมาย
- ภาษีที่ดินทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้าง
พรรคประชาชาติ ชู 4 ชุดนโยบาย เพิ่มสวัสดิการ ปฏิรูปที่ดิน
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง พรรคประชาชาติ เชื่อว่าหากพรรคได้เป็นรัฐบาลจะนำประเทศเข้าสู่รัฐสวัสดิการ เพราะเห็นแล้วว่าไม่มีใครแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ วันนี้เรายังไม่มีกฎหมายกำหนดเพดานการถือครองที่ดิน ทั้งที่ดินที่เป็นโฉนด และ นส. 3 แต่เนื่องจากการยึดอำนาจที่มาแก้ประมวลกฎหมายที่ดินจากเดิมต้องมีไม่เกิน 50 ไร่ พอแก้จึงเกิดการกระจุกตัวของที่ดิน ส่วน ประเด็นรัฐสวัสดิการ พรรคตั้งใจให้สวัสดิการตั้งแต่ในครรภ์มารดาวางไว้ 4,500 บาท เราต้องทำให้สวัสดิการเป็นสิทธิ์เสมอกันอย่างเป็นสังคมสงเคราะห์
เกษตรกรต้องมีกรรมสิทธิ์และมีที่ดินทำกิน อย่าเอาความยากไร้มาตราหน้า เกษตรกรถูกมองเป็นอาชีพต่ำต้อย แต่คนที่ค้าสินค้าเกษตรกรกลับร่ำรวยเพราะเราตีตราให้เกษตรกรเป็นผู้ยากไร้ ปฏิรูปที่ดิน ซึ่งพรรคมีชุดนโยบายการปฏิรูป เช่น การแก้กฎหมายทั้งหมด โดยเฉพาะกรณีที่ดินที่ทับที่ของประชาชน พรรคได้เสนอเป็นกฎหมายไปแล้ว ทั้งที่จริง ๆ คือ เรามีที่ดินและป่าไม้ที่อยู่ในป่าไม้
พรรคสามัญชน เน้น “ยกเลิก ม.112 และนโยบายทวงคืนผืนป่า” ประสานการเมืองส่วนบนกับส่วนล่างเข้าหากัน
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ พรรคสามัญชน เชียร์พีมูฟตั้งพรรคการเมือง ถ้าได้เข้าสภาฯ ทำ 2 เรื่องสำคัญ ยกเลิกมาตรา 112 ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่า ต้องทำ 2 เรื่องไปพร้อมกัน ต้องการเชื่อมประสานการเมืองส่วนบน กับส่วนล่างเข้าหากัน นโยบายนิรโทษกรรมป่าไม้ที่ดิน น่าสนใจ แต่พรรคสามัญชนเสนอผลักดันนิรโทษคดีการเมือง คู่ขนานนิรโทษกรรมป่าไม้ที่ดิน
โดยวันนี้มีหลากหลายภาคีเครือข่ายที่มาร่วมรับฟังนโยบายจากพรรคการเมือง เช่น สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้, เครือข่ายคนไร้บ้าน, เครือข่ายชาวเลอันดามัน, เครือข่ายสลัม 4 ภาค, เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด, เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปการสังคมและการเมือง, เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เพราะทุกภูมิภาคของประเทศไทยประสบปัญหาคล้ายกัน
นอกจากประเด็นสำคัญคือ ความไม่มั่นคงในที่ดิน ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย แล้วยังมีข้อเสนออื่น ที่ต้องการเห็นผู้ที่จะมาเป็นรัฐบาลปรับเปลี่ยนแนวทางให้สอดรับกับข้อเสนอของภาคประชาชน ทั้งประเด็นโครงการพัฒนาของรัฐ ที่ขาดการมีส่วนร่วม และไม่มีงบประมาณเข้ามาแก้ปัญหาให้กับประชาชน คนจนเมือง ที่ถูกไล่รื้ออย่างไม่เป็นธรรม, ขาดโอกาสในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาถูก, การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานภายในประเทศที่ยังไม่ครอบคลุมไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์และผู้ปัญหาด้านสถานะ, รวมไปถึงการผลักดันให้ไทยเป็นสังคมรัฐสวัสดิการอย่างแท้จริง คงต้องจับตากันต่อว่า หลังการเลือกตั้ง 2566 ผ่านพ้นได้จัดตั้งรัฐบาล นโยบายจากภาคประชาชนเหล่านี้ จะถูกนำไปผลักดันจนสามารถแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้จริงหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วจะเป็นเพียงแค่สัญญาลมปาก ขายฝัน และยังคงเห็นผืนธงสีเขียวที่โบกสะบัดเดินทวงสัญญาจากภาคประชาชน ซ้ำแล้วซ้ำเล่าบนท้องถนน