พร้อมเรียกร้องพรรคการเมืองทุกพรรค แม้ไม่ได้ร่วมรัฐบาลให้สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลจากประชาชนกว่า 24 ล้านเสียง เพื่อเดินหน้านโยบายแก้ปัญหาให้ประชาชน
วันนี้ ( 17 พ.ค.2566 ) The Active สำรวจกระแสในโลกออนไลน์ พบว่า ทั้งใน Facebook และ Twitter มีแฮทแทคที่เป็นประเด็นร้อน ได้รับความนิยมและมีการแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง เช่น ปิดสวิตซ์สมาชิกวุฒิสภา ( ส.ว.) หรือ ส.ว.มีไว้ทำไม และ นายกคนที่ 30 โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์รวมถึงเรียกร้องให้ส.ว.250 คน และพรรคการเมืองต่างๆร่วมแสดงจุดยืนในการสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่มาจากฉันทามติของประชาชน เพื่อจัดตั้งรัฐบาล เดินหน้าผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้ประชาชน
ด้วย เงื่อนไขการจัดตังรัฐบาล โหวตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภา 376 เสียงขึ้นไป ในขณะที่ตอนนี้ฝ่ายเสียงข้างมากที่จะจัดตั้งรัฐบาลมีเพียง 310 เสียง ทำให้สมการสำคัญที่ถูกจับตาคือเสียง ส.ว. 250 คน แต่ด้วยที่มาของการแต่งตั้งที่ถูกตั้งคำถามว่าเป็นมรดกจาก คสช. ประกอบกับท่าทีของ ส.ว.หลายคนที่ทยอยออกมาแสดงความคิดเห็น ในทิศทางที่ประชาชนเชื่อว่าจะไม่สนับสนุนฝ่ายที่กำลังจะจัดตั้งรัฐบาล ยิ่งทำให้ประชาชนกังวลใจจนเกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์เรียกร้องให้ ส.ว.เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
ขณะที่เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชน 10 สถาบันการศึกษาประกอบด้วยตัวแทนจากคณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ – นิติศาสตร์ – สังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับเครือข่ายสื่อมวลชน 10 สำนักเปิดโหวตเสียงประชาชน ในหัวข้อ “ ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่ส.ว. ควรเคารพเสียงประชาชน โดยโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของ ส.ส.” โดยมีช่อทางโหวตผ่าน QR Code หรือลิงก์ https://bit.ly/41CoUbC โดยจะเปิดโหวตจนถึง 12.00 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม 2566
ในส่วนของเครือข่ายภาคประชาชน ทยอยออกแถลงการณ์ถึง ส.ว.และพรรคการเมืองต่างๆอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง พรรคการเมืองต้องสนับสนุนนายกรัฐมนตรีจากฉันทามติประชาชน ร่วมปิดสวิตช์ ส.ว.
โดยมีสาระสำคัญ ระบุว่า 14 พฤษภาคม 2566 นับเป็นวันที่จะถูกจารึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของประเทศ โดยประชาชนกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ได้ออกมาร่วมใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั่วไป ร่วมใจกันเปลี่ยนประเทศไทยด้วยวิถีทางแห่งประชาธิปไตยทางตรง สะท้อนเจตจำนงอันยิ่งใหญ่ที่ต้องการทลายอำนาจเผด็จการ ที่ตั้งต้นจากการทำรัฐประหารและผูกขาดการเมืองไทยมากว่า 8 ปี ที่เชื่อว่ากลุ่มผู้มีอำนาจได้ร่วมกันสร้างความเหลื่อมล้ำทวีความเดือดร้อน ในขณะที่ก็กอบโกยเอาความมั่งคั่ง เลือดเนื้อ ชีวิต และจิตวิญญาณของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงของประเทศอย่างไม่ไยดี
และเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า พรรคก้าวไกล คือพรรคการเมืองที่ได้เสียงสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดไม่น้อยกว่า 14 ล้านเสียง และมีว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 152 คน สามารถประสานร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ 5 พรรคการเมือง จากเสียงประชาชนไม่น้อยกว่า 24 ล้านเสียง ทั้งสามารถรวม ส.ส. 310 เสียง เป็นเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อย่างไรก็ตามในระบบรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ต้องได้รับเสียงสนับสนุนร่วมในรัฐสภา ไม่น้อยกว่า 376 เสียง จึงจะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งรวมถึงเสียงของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ที่แสดงท่าทีสวนทางกับเจตนารมณ์ของประชาชนว่าจะไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่มาจากเสียงข้างมากโดยไม่แยแสต่อกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมแต่อย่างใด
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ขอแสดงความยินดีและชื่นชมการแสดงออกของประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ยืนยันเจตนารมณ์ต้องการสร้างสรรค์สังคมที่พวกเราต้องการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมและสงบสุข ในขณะเดียวกันเราขอประณามท่าทีของฝ่ายอนุรักษ์นิยมผู้รับใช้อำนาจเผด็จการที่ฉุดรั้งประเทศถอยหลังไม่เคารพฉันมาทติของมหาชน ไม่กระทำตนให้ถูกต้องตามครรลองระบอบประชาธิปไตย
โดยเรามีข้อเรียกร้องไปยัง ส.ว. และพรรคการเมือง ดังนี้
1. สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว) ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนโดยการสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่มาจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล
2. ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองทุกพรรค ต้องแสดงตนสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยโดยการยกมือสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มาจากเสียงข้างมากในสภาฯ และร่วมกันปิดสวิตซ์ ส.ว. อย่างไม่มีเงื่อนไข อันจะเป็นก้าวแรกสู่การทลายกระบวนการสืบทอดอำนาจของ คสช.
3.เนื่องในวาระครบรอบ 31 ปีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 P-Move เห็นว่า การเมืองไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมให้เป็นประชาธิปไตยโดยเร่งด่วน เราขอเตือนพรรคการเมือง และ ส.ว. ทั้งหลายว่า อย่าเล่นเกมการเมืองบนผลประโยชน์ของพวกพ้อง โดยไม่เคารพเจตจำนงกับความมุ่งหวังของประชาชน ขอยืนยันว่าเราจะร่วมกันผลักดันให้ได้มาซึ่ง รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน
ท้ายที่สุด ขอยืนยันว่า เสียงของประชาชน คือ ประกาศิตที่ทรงอำนาจที่มีคุณค่ามากกว่าสถาบันหรือกลุ่มคนใดที่ไม่ได้มาจากฉันทามติของประชาชน และหวังว่าทุกคนจะร่วมกันสร้างรัฐสภาให้ทรงเกียรติ อันมีผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่เพื่อพิทักษ์อำนาจนิติบัญญัติของประชาชนได้อย่างแท้จริงเสียที
ขณะที่ก่อนการเลือกตั้ง หลายองค์กร อย่างคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้ออกแถลงการณ์ต่อการเลือกตั้ง หนึ่งในประเด็นสำคัญคือ การจับตาและเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คนเคารพการตัดสินใจของประชาชนทั้งประเทศ ว่า ขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองยอมรับผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ โดยพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากจะต้องมีสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบบาล อันถือเป็นการเคารพต่อประชามติของประชาชน พร้อมกันนี้ขอเรียกร้องไปยังสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คน ในฐานะที่พวกท่านทั้งหลาย มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะได้สิทธิพิเศษในการเลือกนายกรัฐมนตรี ขอได้โปรดเคารพเสียงของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยไม่ตกอยู่ภายใต้วังวนอำนาจทางการเมืองเหมือนเช่นที่ผ่านมา มิเช่นนั้นแล้วพวกท่านจะต้องรับผิดชอบต่อผลใดๆที่จะตามมา โดยในช่วงค่ำวันนี้ กป.อพช. จะมีการออกแถลงการณ์เรียกร้องถึง ส.ว.อีกฉบับ และคาดการณ์ว่าจะมีอีกหลายองค์กรทยอยออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อเนื่อง
และในวันที่ 19 พ.ค. 66 สภาประชาชนภาคใต้ เครือข่ายองค์กรชุมชน 14 จังหวัดภาคใต้ รวมถึงเครือข่ายภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาควิชาการภาคใต้ จัดเวทีร่วมประกาศจุดยืน เรียกร้องให้ ส.ว.ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
ขณะนี้ ส.ว.หลายคนต่างออกมาแสดงความคิดเห็นและจุดยืนแตกต่างกัน 1 ในนั้นคือ สังศิต พิริยะรังสรรค์ ที่ระบุว่า จะออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีจากผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก โดยดูจากท่าทีและนโยบาย กรณีของหัวหน้าพรรคก้าวไกลจะพิจารณาใน 2 ประเด็นคือ 1. มีความเห็นต่ออธิปไตยไทยอย่างไร 2. มีความเห็นต่อความสงบสุขของคนในประเทศอย่างไร
“ผมยินดีสนับสนุนรัฐบาลที่ไม่ให้ประเทศมหาอำนาจเข้ามาตั้งฐานทัพในไทย เพราะมีบางพรรคที่กำลังจะจัดตั้งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนแนวทางนี้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ มีความพยามเข้ามาตั้งฐานทัพในไทย และก่อนการเลือกตั้งมีการเสนอให้สภาผู้แทนสหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงการเมืองไทย รวมทั้งมีการล็อบบี้จากชาติสมาชิกนาโต้ในการจัดตั้งรัฐบาลของไทย”
นอกจากนี้ยินดีสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีนโยบายไม่ส่งเสริมการใช้ความรุนแรงระหว่างประชาชนต่อประชาชน และจะไม่สนับสนุนรัฐบาลที่กระตุ้นหรือปลุกเร้าให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่ยั่วยุหรือใช้ความรุนแรงระหว่างกัน
“ผมไม่สนใจว่าใครจะมีเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย แต่จะสนับสนุนนายกรัฐมนตรีตามหลักการที่ตั้งไว้”