เรียกร้องค่าเสียหาย รวม 12 ล้าน ทวงคืนความยุติธรรมกรณีใช้ความรุนแรง และเสรีภาพการชุมนุมของประชาชน หวังสร้างบรรทัดฐาน ที่รัฐบาลจะต้องเคารพการแสดงออกของประชาชนทุกคนทุกกลุ่ม แม้จะมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน
วันนี้ (5 ก.ค.66) ที่ศาลปกครอง กลุ่มราษฏรหยุดเอเปค และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน นำโดย พายุ บุญโสภณ และผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 รวมจำนวน 19 คน เป็นโจทย์ ฟ้องกลับ (1) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (2) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (3) รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (4) ผู้บังคับการตำรวจจนครบาล 1 (5) ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 (6) ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (7) ผู้กำกับการสถานตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ จากกรณีเจ้าหน้าที่ตํารวจปิดกั้นขัดขวางและใช้กําลังสลายการชุมนุมกลุ่มราษฎรหยุด APEC2022 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 บริเวณลานคนเมืองและถนนดินสอ กรุงเทพมหานคร
โดยรายละเอียดแห่งคดี ระบุว่า 1.ในการประชุม PEC 2022 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการปิดกั้นขัดขวางการชุมนุมเดินขบวนของผู้ชุมนุมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ เครื่องกีดขวางต่าง ๆ เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 และเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศจนเกินสมควรแก่เหตุ ทั้งที่ผู้ชุมนุมได้ดำเนินตามเงื่อนไขขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดแล้ว และเป็นการชุมนุมที่อยู่ในกรอบการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดย สงบและปราศจากอาวุธ
2. เจ้าพนกักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะและเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ใช้กำลังสลายการชุมนุม ของกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 ด้วยความรุนแรง ใช้กระบองทุบตีผู้ชุมนุมบริเวณใบหน้า ใช้กาลังเข้ารุมทำร้าย เตะต่อย ทุบตี กระทืบ ใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุมในลักษณะที่เสี่ยงอันตราย ทำให้มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บสาหัสและตาบอด รวมถึงมีพฤติกรรมที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์และแสดงการคุกคามยั่วยุด่าทอผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เปน็ไปตามเงื่อนไขขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดและขัดต่อหลักการและแนวทางปฏิบัติตามหลักการสากลของสหประชาชาติ รวมถึงแผนและคู่มือแนวทางปฏิบัติของสำนักงานตารวจแห่งชาติ เป็นเหตุให้ ผู้ฟ้องคดีและผู้ชุมนุมถูกละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และได้รับอันตรายความเสียหาย ต่อเนื้อตัวร่างกายและจิตใจ
3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้บังคับบัญชาตำรวจที่เกี่ยวข้องละเลยต่อหน้าที่ ไม่กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะของผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่มีการกำหนดมาตรการป้องกันการใช้ความรุนแรง และไม่ดำเนินมาตรการกำกับควบคุมและลงโทษเจ้าพนักงานตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะ ที่ ละเมิดเสรีภาพการชุมนุมและใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้ชุมนุม
ผู้ฟ้องคดีมีคําขอให้ศาลพิพากษา
1. ให้สำนักงานตารวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายต่อเสรีภาพการชุมนุม ค่าเสียหายต่อร่างกาย ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียหายต่อจิตใจ ค่าเสียหายต่อทรัพย์สิน ค่าขาดรายได้ ค่าเสียหายจากการเสื่อมเสีย ชื่อเสียงและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 19 คน รวม 12,499,891 บาท
2. ให้ผู้บัญชาการตารวจแห่งชาติและผู้บังคับบัญชาตำรวจที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่กากับดูแลไม่ให้มีการ ปิดกั้นขัดขวางและหรือใช้กำลังในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะที่รุนแรงเกินจำเป็น ไม่ได้ สัดส่วนและเกินสมควรแก่เหตุกับผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม และกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักการ ปฏิบัติสากลเกี่ยวกับการใช้กาลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนอย่างเคร่งครัดและด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงการรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของประชาชน
3. ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บังคับบัญชาตำรวจที่เกี่ยวข้องแก้ไขปรับปรุงแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะและคู่มือการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ให้มีมาตรการ ป้องกันและควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะของตำรวจควบคุมฝูงชนให้ชัดเจน เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ชุมนุมในอนาคตและเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิด ซ้ำซาก รวมถึงกำหนดให้มีการเปิดเผยรายงานการปฏิบัติหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะ รายละเอียดการใช้กำลัง รายชื่อตำรวจเกี่ยวข้อง และรายชื่อตำรวจที่ใช้ความรุนแรงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ชุมนุม ให้สาธารณะหรือประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตรวจสอบได้ด้วย
เพื่อเป็นการชดเชยเยียวยาความเสียหายและปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ของประชาชนผู้ชุมนุม และเพื่อวางบรรทัดฐานที่ดีแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานเจ้าหน้าที่รัฐในการรับรอง คุ้มครองและเคารพต่อเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของประชาชนทุกกลุ่มต่อไป
ภายหลังยื่นฟ้องได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ โดยมีรายละเอียด ย้ำว่า เวทีประชุมกลุ่มประเทศเอเปคเมื่อปลายปีพ.ศ. 2565 ที่ปิดฉากด้วยภาพการสลายการชุมนุมกลุ่มราษฎรหยุดเอเปคที่ออกมาคัดค้านนโยบาย BCG ของรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งถือเป็นการใช้ความรุนแรงอีกครั้งหนึ่งของฝ่ายรัฐที่กระทำกับประชาชน จนนำมาซึ่งการบาดเจ็บของชาวบ้านจำนวนหลายราย ซึ่งหนักที่สุดคือการยิงปืนด้วยกระสุนยางแบบประชิดจนทำให้นายพายุ ต้องสูญเสียดวงตา และยังมีอีกหลายคนที่ถูกกระทืบ ถูกทุบตี และถูกยิงด้วยกระสุนยาง รวมทั้งมีการจับกุมชาวบ้านดำเนินคดีจำนวน 25 คนในวันที่เกิดเหตุ และถูกออกหมายเรียกตามหลังอีกจำนวน 5 คน
ในขณะที่เวทีดังกล่าวนั้นเห็นได้ชัดแจ้งว่า เป็นเพียงพื้นที่ของนักการเมืองและกลุ่มทุน ที่จัดขึ้นเพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางธุรกิจ แล้วยังอ้างความชอบธรรมว่าเป็นการดำเนินงานของรัฐที่ทำไปเพื่อประโยชน์ประชาชน
แต่กลับไม่ยอมรับฟังเสียงของภาคประชาชนในประเทศของตนเอง ซึ่งเห็นได้ว่าผลประโยชน์ชั้นต้นของการเจรจาเหล่านั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนสมการที่มีประชาชนเป็นที่ตั้ง และเมื่อย้อนกลับไปดูรายละเอียดของโมเดลระบบเศรษฐกิจดังกล่าว ยิ่งเห็นได้ถึงความคิดของรัฐที่กำลังประเคนฐานทรัพยากรของแผ่นดินให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ อันเชื่อว่าจะส่งผลกระทบกับประชาชนและชุมชนโดยตรงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะการยกพื้นที่สำหรับปลูกป่ารองรับคาร์บอนเครดิตที่จะเกิดขึ้นทั่วประเทศ อันจะนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างภาคเอกชนกับชุมชนชนบทแทนที่ความขัดแย้งเดิมที่มีอยู่แล้วกับภาครัฐ
การประชุมในคราวนั้น รัฐบาลประยุทธ์เลือกที่จะปิดหูปิดตาประชาชน ด้วยการไม่ยอมเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในเวทีการประชุมระดับโลก และที่หนักไปกว่านั้นคือการ “ปิดกั้น” การแสดงออกของภาคประชาชนที่พยายามส่งเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับการนำนโยบาย BCG มาใช้ในประเทศ ด้วยเพราะเป็นนโยบาย
“ฟอกเขียว” ที่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่กลับจะนำไปสู่การปล่อยให้มีการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างชอบธรรมมากขึ้นของกลุ่มทุนเฉพาะกลุ่ม การเลือกที่จะใช้กำลังตำรวจเข้าควบคุม และสลายการชุมนุมกลุ่มราษฏรหยุดเอเปค พร้อมกับมีการจับกุมผู้เข้าร่วมชุมนุมอีกจำนวนหนึ่งและตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงกว่าเหตุทั้งที่การออกมาชุมนุมในครั้งนั้นมีการดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบกฎหมายอย่างครบถ้วน บนพื้นฐานของสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
กลุ่มราษฏรหยุดเอเปค และภาคีภาคประชาชน มีความเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาล ผ่านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นการปิดกั้นและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมีเจตนาที่จะจำกัดและกำจัดกลุ่มทางสังคมที่ออกมาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกับแนวนโยบายของรัฐอย่างไร้มนุษยธรรม อันถือเป็นการไม่เคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้คุ้มครองไว้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
“ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่พวกเราจะรวมตัวกันฟ้องกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้กระทำกับพวกเราทั้งทางร่างกาย จิตใจและสิทธิเสรีภาพทางสังคมการเมือง ทั้งนี้เพื่อสร้างบรรทัดฐานอันดีงามของการปกครองภายใต้ระบบประชาธิปไตย ที่รัฐบาลจะต้องเคารพการแสดงออกของประชาชนทุกคนทุกกลุ่ม แม้จะมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันก็ตาม”
แถลงการณ์ระบุ