หลังผลโหวต ‘พิธา’ ไม่ผ่านนั่งนายกฯ ภาคประชาชน ประเมินสมการอาจเปลี่ยน เชื่อเริ่มเห็นสัญญาณ ‘เพื่อไทย’ พลิกตั้งรัฐบาล หวั่นไม่ใช่ ‘ก้าวไกล’ นำ อาจทำเสียโอกาส ‘ปรับโครงสร้างอำนาจใหม่’ แก้ปัญหาประเทศ
ภายหลัง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ผ่านการโหวต ให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ในครั้งแรกจากที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา
กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เปิดเผยกับ The Active โดยวิเคราะห์ผลโหวตรอบนี้ สะท้อนถึงความสุ่มเสี่ยง และส่งสัญญาณว่าเริ่มเห็นโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะเข้ามามีบทบาทนำมากขึ้น ถ้าสุดท้ายก้าวไกลจะยังเกาะอยู่ในกลุ่ม 8 พรรคร่วม ก็เชื่อว่านัยยะสำคัญของการกำหนดนโยบายจะเปลี่ยนไป นี่คือสิ่งที่ภาคประชาชนเป็นห่วง
โดยเฉพาะการนำเสนอโครงสร้างอำนาจใหม่ของพรรคก้าวไกล ที่ภาคประชาชนมองว่าเป็นความหวังไปสู่การเปลี่ยนแปลง และเป็นจุดเปลี่ยนประเทศ ทั้ง การลดบทบาททหาร ไม่ให้แทรกแซงการเมือง, การทลายกลุ่มทุนผูกขาด ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่มากที่กระทบต่อการจัดการทรัพยากร และความเหลื่อมล้ำ, การกระจายอำนาจระบบราชการรวมศูนย์ออกไป และ การสร้างระบบสวัสดิการประชาชน
“เค้าโครงการเมืองแบบนี้ ไม่เคยปรากฏในพรรคไหนมาก่อน พรรคที่เหลือเน้นอนุรักษ์นิยมทั้งหมด เพื่อไทยก็เป็นอนุรักษ์นิยมที่ขับเคลื่อนด้วยประชานิยม โดยอาศัยกลุ่มทุนการเมืองขนาดใหญ่ ไม่ได้มีความคิดการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง เช่นกันกับพรรคขั้วรัฐบาลเดิม ที่เน้นประชานิยม มีชนชั้นนำเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นการที่พรรคก้าวไกล เสนอกลไกการเมืองที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง จึงทำให้ประชาชนมีความหวัง ว่าเมื่อไหร่จะหลุดออกจากภาวะตกต่ำ และมองเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นไม่เฉพาแค่การเมือง แต่หมายถึงการมีประชาธิปไตยด้านทรัพยากร, ด้านพลังงาน, ด้านอาหาร, เศรษฐกิจ จึงไม่แปลกที่เมื่อประชาชนเริ่มเห็นแววประกายเกิดขึ้นจากพรรคก้าวไกล ความหวังเลยเกิดขึ้นแต่ถ้าพรรคก้าวไกลไปต่อ หรือ ขับเคลื่อนไม่ได้ โดยมีพรรคเพื่อไทย มานำ ก็เชื่อว่าการขับเคลื่อนจะเป็นแบบเดิม สุดท้ายแล้วประชาชน คนรากหญ้าจะมองไม่เห็นสวัสดิการ และการกระจายอำนาจที่แท้จริง ประชาชนก็อาจจะสูญเสียความหวังของการเปลี่ยนแปลง”
กฤษฎา บุญชัย
เรียกร้องพรรคการเมืองปรับตัว ก่อนวิกฤตขัดแย้งฉายซ้ำ
เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ยังเชื่อด้วยว่า ถ้าพิธา และพรรคก้าวไกล พลิกกลับมาไม่ได้จริง ๆ ถึงตอนนั้นก็คงต้องยอมถอยไปเป็นฝ่ายค้าน แต่สถานการณ์นี้ก็กำลังส่งสัญญาณ ว่า จากนี้ทุกพรรค ต้องรีบเปลี่ยนตัวเอง ให้ตอบโจทย์สังคมยุคใหม่มากที่สุด โดยพร้อมที่จะก้าวออกมาจาก กลไก กฎ กติกาต่าง ๆ ที่ไม่ทำให้ประเทศติดล็อกไปมากกว่านี้ เพราะหากทำไม่ได้ สังคมจะวนเวียนอยู่กับปัญหาความขัดแย้งต่อไป
“ถ้ายังสุกงอมไม่พอ ไปเป็นฝ่ายค้านก็ยิ่งสร้างการเรียนรู้ให้ประชาน พร้อมทั้งคาดหวังว่าการเลือกตั้งต่อไป อยากเห็นพรรคที่ก้าวหน้า ไม่ใช่แค่พรรคก้าวไกล ที่มีเค้าโครงต่าง ๆ ที่จับต้องได้ ทุกพรรคต้องก้าวออกจากจุดเดิม เพราะตอนนี้ติดล็อกรัฐธรรมนูญ, องค์กรอิสระ และ ส.ว. ที่มองว่า ไม่เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย”
กฤษฎา บุญชัย
ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายมองตรงกันว่าพรรคเพื่อไทยจะมีบทบาทนำหลังจากนี้นั้น กฤษฎา ก็มองว่า ถึงอย่างไรพรรคเพื่อไทยก็ต้องปรับตัวอย่างเร็ว เพื่อให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ต้องให้เสียง และวิธีคิดคนรุ่นใหม่เข้ามามีอำนาจนำ ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการเมืองใหม่ ระบบชนชั้นนำ มองประชาชนเป็นเบี้ยล่าง ถ้าไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เลือกตั้งครั้งหน้าเชื่อว่าพรรคก้าวไกลกินรวบแน่นอน ดังนั้นแต่ละพรรคก็ต้องปรับตัวเอง ดึงพลังทางสังคมใหม่ ๆ เข้ามา ไม่ได้ย่ำอยู่กับระบบเดิม ตลาดการเมืองต้องแข่งขันกันด้วยคุณภาพใหม่ ๆ
“นี่เป็นสัญญาณที่บอกว่าระบบการเมืองต้องรีบปรับตัว แต่ผลการโหวตนายกฯ รอบแรกที่เพิ่งผ่านไป สะท้อนอย่างชัดเจนว่า ยังไม่ยอมปรับตัว ทั้ง ๆ ที่ถ้าเดินตามกติกา คือ จัดตั้งรัฐบาลตามกลไกพรรคอันดับหนึ่งที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด แค่นี้เองทุกอย่างก็จบ แต่ก็ยังยอมรับไม่ได้ นั่นทำให้กลไกกระบวนการประชาธิปไตย ที่เข้ามาแก้ปัญหาถูกโยนทิ้งไป จึงเป็นห่วงการเมืองบนท้องถนนจากนี้อาจยาก ที่จะควบคุมจัดการได้ กลุ่มการเมืองต้องเร่งปรับตัวเข้ากับประชาชน ทำให้สนามการเมืองแข่งกันปรับตัว ถ้าไม่ปรับตัวทุกอย่างจะล้มลง กลายเป็นรอยแผล ความขัดแย้งรอบใหม่ ทั้ง ๆ ที่เราควรมีบทเรียน เพื่อก้าวไปข้างหน้าได้แล้ว”
กฤษฎา บุญชัย