เปิดรวบรวมรายชื่อจัดตั้ง “องค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ”

‘ดร.เอ้ สุชัชวีร์‘ ชวนประชาชนร่วมลงชื่อ 10,000 คน เพื่อเสนอกฎหมาย ดูแลเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ หลังเหตุสะพานถล่ม โดยจัดตั้งองค์กรอิสระ มีความเป็นกลาง นำทางด้วยหลักการทางวิชาการ อย่างเคร่งครัด

จากเหตุการณ์สะพานถล่มย่านลาดกระบัง ได้สร้างความสูญเสียไม่น้อยกับชีวิตและทรัพย์สิน จนทำให้ประชาชนรู้สึกกังวลถึงความไม่ปลอดภัย ไม่ต่างจากอุบัติเหตุทางถนนของไทยที่มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 60 คน หรือปีละกว่า 2 หมื่นคน หรือแม้แต่การจัดการวิกฤตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ต่อเนื่อง ก็มักเป็นข่าวแต่ก็ไม่ต่อยอดไปถึงการตรวจสอบปรับปรุงที่เป็นบทเรียนในการพัฒนา

ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และอดีตอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผย ผ่านเฟซบุ๊ก “เอ้ สุชัชวีร์” เชิญร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายในการจัดตั้ง “องค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ” ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน องค์กรนี้จะสามารถดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยระดับสาธารณะ ได้แก่ การป้องกันการละเมิดสิทธิและความปลอดภัยของประชาชน การจัดการวิกฤตต่าง ๆ ทั้งที่เกิดภัยพิบัติธรรมชาติ และภัยพิบัติที่เกิดจากความประมาท ทั้งสนับสนุนในการดำเนินการของหน่วยงานทางราชการที่เกี่ยวข้อง และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยสาธารณะ

“องค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ จะเป็นองค์กรที่เป็นอิสระ ดูแลเรื่องความปลอดภัยสาธารณะโดยอิสระ ด้วยบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถ หลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับ มาตรฐานความปลอดภัยสาธารณะ มีความเป็นกลาง นำทางด้วยหลักการทางวิชาการ อย่างเคร่งครัด”

โดย ศ.สุชัชวีร์ ระบุอีกว่าอยากจะเชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายจัดตั้ง “องค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ” โดยประชาชนที่สนใจสามารถลงชื่อได้ที่เว็บไซต์ https://suchatvee.com/ โดยขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 973 รายชื่อ

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย

สำหรับการร่วมลงชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายจัดตั้ง “องค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ” นั้น จะเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยสาธารณะโดยอิสระ ด้วยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ หลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานความปลอดภัยสาธารณะ มีความเป็นกลาง นำทางด้วยหลักการทางวิชาการ อย่างเคร่งครัด บทบาท หน้าที่ ดังนี้

  1. ตรวจสอบ และนำเสนอข้อเท็จจริง ด้วยหลักวิชาการ อย่างเป็นกลาง เมื่อเกิดอุบัติเหตุและอุบัติภัย ที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยสาธารณะ
  2. ให้คำปรึกษา ข้อแนะนำ อบรม ให้ความรู้ และดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยสาธารณะ แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
  3. แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการก่อสร้าง และอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของประชาชน
  4. สอดส่อง เร่งรัดพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐให้ปฏิบัติการตามอำนาจและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ตลอดจนเร่งรัดพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินคดีในความผิดที่เกี่ยวกับความปลอดภัยสาธารณะ
  5. เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในความปลอดภัยสาธารณะ และพิจารณาให้ความเห็นในเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยระดับสาธารณะตามที่คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมอบหมาย
  6. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ขององค์กร เราสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างบ้านเมืองที่ปลอดภัย ด้วยความตั้งใจของประชาชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active