เครือข่ายองค์กรชุมชน จ.พังงา ​ยื่นเรื่อง ‘เศรษฐา’ แก้ปัญหาที่ดิน เดินหน้าเลือกตั้งผู้ว่าฯ

สภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดพังงา ​ร้องนายกฯ ให้เร่งสั่งการให้แก้ปัญหาที่ดิน โดยมีตัวแทนจากประชาชน เข้าร่วมเป็นกรรมการ พร้อมเดินหน้า พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กระจายอำนาจให้ อปท. จัดการและรับมือภัยพิบัติที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคต

วันนี้ (26 ส.ค. 2566) เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดพังงา เข้าแสดงความยินดีกับเศรษฐา ทวีสิน ​และขอให้แก้ปัญหา ผลักดันกฎหมาย หนุนจังหวัดพังงาจัดการตนเอง ระหว่างการลงพื้นที่รับฟังข้อเสนอแนะจากตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจและเอกชนใน จ.พังงา


สภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดพังงา ประกอบด้วย เครือข่ายการแก้ปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย เครือข่ายสวัสดิการชุมชน เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เครือข่ายการแก้ปัญหาสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น เครือข่ายภัยพิบัติชุมชน และเครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง ฯลฯ มีสมาชิกมากกว่า 3 หมื่นคน ได้ร่วมกันทำงานแก้ปัญหา และพัฒนาร่วมกับหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน มาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีข้อติดขัดทางนโยบาย และกฎหมาย จึงไม่สามารถแก้ปัญหานำไปสู่การพัฒนา ดังที่คาดหวัง​ทางเครือข่ายจึงมีข้อเสนอ ต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลดังนี้


1. ขอให้สั่งการในกรณี เร่งด่วน ของชุมชนบ้านทับยาง เรื่องการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ รวม 250 ไร่ ให้นำมาแก้ไขปัญหาให้ชุมชน โดยใช้แนวทางตามนโยบายโฉนดชุมชน และให้ดำเนินการเพิกถอนที่ดินที่เอกชนนำไปออกเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยมิชอบทับที่ดินชาวบ้าน 112 ครัวเรือน ในพื้นที่บ้านทับยาง ม.9 ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ซึ่งมีมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.ชาติ) ปี พ.ศ. 2553 ว่าให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยมิชอบ 170 ไร่ ใน พ.ศ.2564 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณะ ที่เอกชนปล่อยทิ้งร้าง ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม มีมติให้กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 เพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยมิชอบ แต่กระบวนการยังไม่คืบหน้า


2. ขอให้นายกรัฐมนตรี สั่งการให้แก้ปัญหาที่ดิน ในพื้นที่จังหวัดพังงา อย่างเร่งด่วน โดยให้มีกรรมการขึ้นในระดับรัฐบาล และจังหวัด โดยให้มีตัวแทนประชาชน เข้าร่วมเป็นกรรมการ จำนวนใกล้เคียงกัน โดยเครือข่ายได้เสนอปัญหานี้ให้กับรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง


3. ขอให้นายกรัฐมนตรี สนับสนุนกฎหมาย (ร่าง) พรบ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ กระทรวงวัฒนธรรมยกร่าง รวมทั้งขอให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรอง(ร่าง) พรบ.ส่งเสริมสิทธิและคุ้มครองวิถีชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่ประชาชนเข้าชื่อ และรอนายกรัฐมนตรีลงนามรับรอง


4. ขอให้นายกรัฐมนตรี ทบทวนและสนับสนุน (ร่าง)พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ประชาชนเข้าชื่อ ผ่านประธานสภาฯ และเสนอให้นายกรัฐมนตรีรับรอง เพื่อให้เกิดกระบวนการส่งเสริมชุมชนในการเตรียมการป้องกัน ภัยพิบัติ และการกระจายอำนาจให้ อปท. จัดการและรับมือภัยพิบัติที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคต


5. ขอให้นายกรัฐมนตรี มีนโยบายการกระจายอำนาจให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ระดับจังหวัด และสนับสนุนให้จังหวัดเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และด้วยจังหวัดพังงาขับเคลื่อนเรื่องนี้มาอย่างยาวนานร่วมกัน กับทุกภาคส่วน มีความพร้อมเลือกตั้งผู้ว่าฯ ขอให้นายกรัฐมนตรี กำหนดจังหวัดพังงาเป็นจังหวัดแรก ๆ เมื่อมีนโยบายและกฎหมายที่ชัดเจน


6. ขอให้นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและกระจาย การถือครองที่ดิน โดยประกาศนโยบายโฉนดชุมชน เป็นสิทธิร่วมของชุมชนที่มีปัญหาทับซ้อนกับรัฐในที่ดินทุกประเภท ซึ่งเครือข่ายประชาชนขับเคลื่อนมาอย่างยาวนาน เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแห่งความยากจนคือ ไร้สิทธิ์ในที่ดิน


7. ขอให้นายกรัฐมนตรี มีนโยบายแก้ปัญหาเรื่องสิทธิสถานะ ให้ประชาชนทุกคน กว่า 9 แสนคนที่ยังไม่มี บัตรประชาชน เพราะปัญหานี้ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเหลื่อมล้ำ และความมั่นคงของมนุษย์ทุกคน ที่ไม่สามารถเข้าถึงการพัฒนาของรัฐได้

ด้านทัศนา นาเวศน์ ตัวแทนผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดพังงา กล่าวว่า จากที่ได้ยื่นเรื่องกับทางนายกรัฐมนตรีเบื้องต้น ได้มอบหมายให้มีการประสานงานในพื้นที่จังหวัดพังงา นายกฯมอบให้คุณ กฤษ ศรีฟ้า เป็นผู้ประสานงานกับขบวนองค์การชุมชนพังงา ​ส่วนกรณี พ.ร.บ.ประชาชนฉบับต่าง ๆ แนวทางการผลักดัน ภาพรวม จะนำเข้าสำนักนายก และหน่วยงานที่รับผิดชอบ มาประชุม และจะรายงานให้ทราบ เพราะเป็นนโยบายของพรรคในการแก้ไขปัญหา และหนุนเสริมขบวนชุมชนอยู่แล้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active