เลื่อนประชุม คกก. แก้ปัญหาเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล

เครือข่ายชาวเล เรียกร้องนายกฯ พิสูจน์ความจริงใจ ต่ออายุ คกก.แก้ปัญหาชุดล่าสุดหลังเดินหน้าคืบไปกว่า 80-90 % เตรียมเพิกถอนเอกสารสิทธิโดยมิชอบ คืนสิทธิชุมชนดั้งเดิม สู่การฟื้นฟูพัฒนาจัดการพื้นที่แบบมีส่วนร่วม

วันนี้ ( 25 ก.ย.66 ) ตามกำหนดเดิมวันนี้ จะมีการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ซึ่งมี พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน  ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เพื่อเป็นการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ รวมถึงประเด็นที่ภาคประชาชน เครือข่ายชาวเลจับตาและตั้งความหวัง ว่าจะได้ความชัดเจนจากกรมที่ดินในการเดินหน้า ตามมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ นส.3 ก เลขที่ 11  ที่มีการร้องเรียนทับที่สาธารณะ รวมถึงเส้นทางสัญจรของโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ ตามที่พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ได้แถลงก่อนหน้านี้ 

แต่การประชุมดังกล่าวต้องถูกยกเลิก เมื่อมีหนังสือจากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่แจ้งมายังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการชุดดังกล่าว ว่าคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ที่แต่งตั้งในรัฐบาลลชุดก่อน ได้สิ้นสุดลงด้วยหลังมีรัฐบาลใหม่  และเห็นควรให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณาทบทวนการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว  รวมถึงสรุปผลการดำเนิงาน แจ้งสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อจะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมถึงรับทราบรายงานการตรวจที่ดินลำรางสาธารณะ บนเกาะหลีเป๊ะ

กรณีดังกล่าว ไมตรี จงไกรจักร  ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทย เปิดเผยกับทาง The Active ว่า การผลักดันการแก้ไขปัญหาเกาะหลีเป๊ะยาวนาน เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งน่าจะผ่านรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีประมาณ 10 คนแล้ว แต่ความคืบหน้าของการแก้ปัญหายังไม่เห็นแนวทาง หรือทางออกที่นำไปสู่การแก้ปัญหา  ที่ผ่านมาเหมือนเป็นเพียงการชะลอ การให้ยาระงับปัญหาไว้ชั่วคราว  แต่พอคณะกรรมการฯ ชุดล่าสุดในรัฐบาลที่ผ่านมาที่ตั้ง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ มานั่งเป็นประธาน ได้เห็นเส้นทางการเดินหน้า ว่ามีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่จะเป็นทางออก เช่น การออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ก็มีแนวทางตามมาตรา 61 ที่จะเอาขึ้นมาพิจารณา  ซึ่งจะเพิกถอนหรือไม่ก็อยู่ที่กระบวนการพิจารณาของหลักฐานพยาน แต่ก็เป็นทางออกที่จะเกิดขึ้นได้ 

ส่วนที่ 2 คือ เมื่อมีทางออกของการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ยังมีทางออกว่าแล้วจะจัดการฟื้นฟูชุมชนอย่างไร  ซึ่งก็มีการตั้งอนุกรรมการแต่ละชุมชน  ซึ่งตนเห็นว่าการเตรียมการข้อมูล การเตรียมการทุกอย่างไว้พร้อมมาถึงขั้นนี้ แต่เนื่องจากตอนนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ชาวเล และเครือข่าย จึงมีข้อกังวลพอสมควรว่า รัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐบมนตรี ที่ยังไม่เคยพูดว่าปัญหาของคนจนจะแก้ยังไง โดยเฉพาะปัญหาของพี่น้องหลีเป๊ะ ที่กำลังรุนแรงขึ้นในทุกมิติ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ สังคม  สิ่งแวดล้อม รวมปัญหาใหญ่ในการเข้าถึงสิทธิความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ที่ทำกินในทะเลด้วย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของคนที่นี่ และเมื่อมาถึงขั้นจุดที่จะตัดสินชี้ขาดว่าจะไปยังไงดี กลับเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลพอดี  ซึ่งเราได้อ่าน มติครม.ว่ากรรมการที่นายกฯเดิมเคยตั้งไว้ทั้งหมดรัฐบาลใหม่ขอทบทวน จึงเป็นเรื่องท้าทายต่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ว่าเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจอย่างไร

“ต้องจับตาว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลนี้ จะต่ออายุของคณะกรรมการฯ แก้ไขปัญหาหลีเป๊ะต่อหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่ามีความคืบหน้าในการดำเนินการมาแล้ว 80-90 %   ผมคิดว่าชาวเล เองก็จะรอดูนายกฯ จะมองเห็นคนจน แบบที่นายกได้พูดไว้หรือเปล่า โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่กลับไม่ได้เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมหรือไม่  ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีควรจะได้รู้ด้วยว่า เกาะหลีเป๊ะเนี่ยชาวเล เป็นผู้ชี้เขตแดน และเราได้เกาะหลีเป๊ะมาเป็นของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2452 ดังนั้น นายกฯควรได้รู้ประวัติศาสตร์เรื่องนี้ การอยู่ร่วมกันของชุมชนชาติพันธุ์ในเกาะ กับการพัฒนาต้องควบคู่กันไปได้ เพราะฉะนั้น เราอยากให้นายกรัฐมนตรี ต่ออายุคณะกรรมการชุดนี้ ให้ได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาต่อเนื่องไปให้ถึงที่สุด”

ไมตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้เดินหน้ามาถึงความคืบหน้าสำคัญ ที่ค้นพยานหลักฐาน มีหลายมุมหลายจุดที่ชี้ว่าเอกสาร โดยเฉพาะแปลงเลขที่ 11 มีแนวโน้มที่จะออกโดยมิชอบตามหลักฐาน และคำสั่งศาลฎีกาก็เคยมีมาแล้วว่า ผู้ที่ฟ้องร้องไม่ได้นำไปสู่การมีสิทธิ์ในที่ดิน เพราะฉะนั้นกระบวนการต่างๆ ชี้ชัดว่าชาวเลจะมีโอกาสคืนสิทธิ์ที่เขาเคยอยู่อาศัยมาดั้งเดิม  เพราะฉะนั้นเมื่อมาถึงจุดนี้ มันเป็นจุดท้าทายของอำนาจรัฐ และความท้าทายของผู้บริหารประเทศว่า มีนโยบายเรื่องการเปลี่ยนผ่านกรรมการ นายกจึงต้องพิจาณาทบทวน เพราะฉะนั้นความคาดหวังของชาวเลที่เคยมีความหวัง ว่าจะได้คืนสิทธิ์ความเป็นมนุษย์และกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิมแบบนี้คณะกรรมการที่ได้ดำเนินการมา และเดิมเคยได้ผลักดันให้กรมที่ดินพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 24 ก.ย. ซึ่งจะครบ 120 วันแล้วในการตรวจสอบตามมาตรา 61 และเดิมจะแถลงวันที่ 25 กันยายน  เพราะฉะนั้นเมื่อนโยบายออกมาแบบนี้ ตนคิดว่า เรื่องนี้ประชาชนหรือชาวบ้านโดยเฉพาะเครือข่ายชาวเล จะต้องจับตาว่านายกรัฐมนตรีเห็นความสำคัญของแก้ปัญหาให้กับประชาชน คนเล็กคนน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในพื้นที่ห่างไกลกลางทะเล ห่างชายฝั่ง 70 กิโลเมตรหรือไม่  นายกรัฐมนตรีจะกล้าให้คณะกรรมการชุดนี้ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อหรือไม่ ทั้งนี้โดยส่วนตัวเชื่อมั่นในคณะกรรมการชุดนี้พอสมควรว่า  จะเดินหน้าแก้ปัญหาให้ชาวเลได้  เพราะฉะนั้นจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมยืนยันว่าประชาชนจะไม่อยู่นิ่งแน่ ถ้าเกิดการดำเนินการที่ชะงักลง เพราะเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

ทั้งนี้ยังมองว่า มีอีกหลายชุมชนหลายพื้นที่ ที่มีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ หรือ มีการออกเอกสารสิทธิ์ทับชุมชนดั้งเดิมที่มีการอยู่อาศัยมาก่อน แต่ที่ผ่านมากระบวนการพิสูจน์สิทธิ์มันใช้หลักฐานไม่ครอบคลุมทุกมิติ ใช้แต่เอกสารทางราชการเท่านั้นในการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินต่างๆ เลยเป็นผลให้เอกสารนั้นออกมาโดยชอบตามกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆของกรมที่ดิน แต่กระบวนการพิสูจน์ของเกาะหลีเป๊ะ ใช้ทั้งประวัติศาสตร์ ภาพถ่ายทางอากาศ ข้อมูลสุสาน ถนนหนทาง ใช้ทุกอย่างมาเป็นองค์ประกอบในการพิสูจน์การอยู่ดั้งเดิมของชุมชน  ถ้าหากกระบวนการเหล่านี้มาเป็นพื้นที่นำร่องและนำไปสู่การเพิกถอนออกเอกสารสิทธิ์  ที่ออกเอกสารสิทธิ์ทับชุมชนดั้งเดิม หรือชุมชนที่อาศัยอยู่มาเก่าแก่มันก็จะสามารถเป็นตัวอย่างนำไปสู่การแก้ไขปัญหาพื้นที่อื่น ๆ ได้  

“อย่างเฉพาะในส่วนของชาวเล ถ้าแก้หลีเป๊ะได้ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกาะพีพีได้ ที่หาดราไวย์ได้ และชุมชนอื่น ๆในประเทศนี้  ซึ่งโมเดลนี้ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบทับซ้อนที่ดินชุมชนในอนาคตได้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active