‘School Governance’ ชวน นร.-ครู ร่วมตรวจสอบความโปร่งใสในโรงเรียน

รับสมัครโรงเรียนนำร่อง ชวนนักเรียน-ครูทำเวิร์กช็อป ร่วมสร้างความโปร่งใสในโรงเรียน ลดทุจริต ให้โรงเรียนเป็นของทุกคน พบหลายโรงเรียนยังขาดกลไก ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง การใช้งบประมาณ การดูแลสวัสดิการนักเรียน ส่งผลให้เกิดความไม่โปร่งใสและการทุจริตในบางกรณี

โครงการ School Governance หรือ ‘โรงเรียนโปร่งใส’ โดยความร่วมมือระหว่าง KRAC Corruption, HAND Social Enterprise และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เตรียมจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป 1 วัน ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมนี้ โดยมุ่งเน้นให้นักเรียน ครู และบุคลากรในโรงเรียนร่วมสร้างสังคมแห่งความโปร่งใสผ่านกระบวนการธรรมาภิบาล (Governance) ที่ดี

ที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาโรงเรียนแบบเดิม ๆ ไม่ตอบโจทย์ เมื่อนักเรียนอยากร่วมแสดงความคิดเห็น หรือคิดพัฒนาโรงเรียน การส่งจดหมายร้องทุกข์ หรือเขียนข้อความไปหย่อนในกล่องรับเรื่องหน้าห้องผู้อำนวยการ คงจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่วิธีการเหล่านั้นไม่ได้สัมฤทธิ์ผลเสมอไป หลายปีที่ผ่านมา นักเรียนหลายโรงเรียน จึงต่างพยายามส่งเสียงของพวกเขาออกไปนอกโรงเรียน เพื่อหวังจะเห็นความเปลี่ยนแปลง

เพราะการมีส่วนร่วมคือกุญแจสำคัญในการพัฒนาโรงเรียน 
นี่จึงเป็นที่มาของ ‘โรงเรียนโปร่งใส’

ปัญหาความโปร่งใสในโรงเรียนกลายเป็นประเด็นสำคัญในสังคมไทย หลายโรงเรียนยังขาดกลไกในการตรวจสอบและติดตามการบริหารจัดการภายใน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง การใช้งบประมาณ หรือการดูแลสวัสดิการนักเรียน ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความไม่โปร่งใสและการทุจริตในบางกรณี ขณะที่นักเรียนมักใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสะท้อนปัญหาที่พบ เช่น อุปกรณ์การเรียนไม่เพียงพอ อาหารกลางวันที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือสุขาชำรุด ดังนั้น ผู้เรียนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและแสดงความคิดเห็น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้น

กิจกรรมเวิร์กช็อปนี้จะจัดขึ้นสำหรับโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนนำร่อง 3 แห่ง โดยจะมีนักเรียนระดับมัธยมปลายเข้าร่วมประมาณ 35 – 40 คน รวมถึงครูและผู้อำนวยการ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นไม่เกิน 5 ท่าน ที่มีบทบาทสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในโรงเรียน และการใช้เครื่องมือออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ schoolgov.actai.co เพื่อประเมินและตรวจสอบคุณภาพของโรงเรียน

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

นักเรียนจะได้รับการฝึกฝนทักษะในการตรวจสอบและรายงานปัญหาภายในโรงเรียน ซึ่งถือเป็นแนวทางที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงแต่นักเรียนจะได้รับประโยชน์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงครู ผู้ปกครอง และสภาพแวดล้อมการเรียนรู้โดยรวมในโรงเรียน

โรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 14-25 ตุลาคม 2567 โดยต้องเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และเปิดการเรียนการสอนระดับมัธยมปลาย และมีตัวแทนหรือผู้ประสานงานหลักของโรงเรียนที่สามารถดูแลการจัดกิจกรรม นัดหมาย และติดตามผลร่วมกับโครงการได้

  • สามารถอ่านรายละเอียดการรับสมัครเพิ่มเติมได้ ที่นี่
  • ลงทะเบียนร่วม Workshop ได้ ที่นี่
อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active