กมธ.สันติภาพ เล็งศึกษากฎหมายคุ้มครองเสียงประชาชน เสนอหนทางดับไฟใต้

“จาตุรนต์” ย้ำ กมธ. พร้อมรับฟังทุกข้อเสนอ รอถกรูปแบบ “กระจายอำนาจ-ปกครองพิเศษ” เชื่อคุยกันได้ ภายใต้รัฐธรรมนูญ เคาะตั้งอนุกรรมาธิการฯ 2 คณะ ลุยเพิ่มประสิทธิผลเจรจาสันติภาพ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ดึงตัวแทนคนพุทธ-มุสลิม ภาคประชาชนชายแดนใต้ นั่งที่ปรึกษา

ภายหลังการประชุม คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กมธ.สันติภาพชายแดนใต้) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา

จาตุรนต์ ฉายแสง ประธาน กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ เปิดเผยความคืบหน้ากับ The Active ระบุว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกัน ถึงกรอบและแนวทางการทำงาน โดย กมธ.ชุดนี้ แบ่งการทำงานเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ศึกษาเพื่อส่งเสริมการสร้างประสิทธิผลของกระบวนการเจรจาสันติภาพ การหาทางออกโดยใช้สันติวิธี โดยถือเป็นงานที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของ กมธ.ชุดนี้ ขณะที่อีกส่วนสำคัญที่นอกเหนือจากการเจรจาสันติภาพ คือ การบริหารจัดการในส่วนที่ไม่ใช่งานเจรจา ทั้งเรื่องความมั่นคง ความปลอดภัย ความยุติธรรม การพัฒนาศักยภาพพื้นที่สังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วม การสร้างความร่วมมือ การยึดหลักธรรมาภิบาล

เห็นชอบตั้งอนุกรรมาธิการฯ “เพิ่มประสิทธิผลเจรจาสันติภาพ-สร้างการมีส่วนร่วม”

ที่ประชุม กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ยังเห็นชอบให้ตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นอีก 2 คณะ ประกอบด้วย

1. คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการเจรจาสันติภาพและข้อเสนอทางออกทางการเมืองในจังหวัดชายแดนใต้ โดยมี สุธรรม แสงประทุม รองประธาน กมธ.คนที่ 1 เป็นประธาน ร่วมด้วยอนุกรรมาธิการฯ ประกอบด้วย รอมฎอน ปันจอร์, จตุรนต์ เอี่ยมโสภา, รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช, อาดิลัน อาลีอิสเอาะ, ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, อาหมัดบูรฮัน ติพอง, เมธัส อนุวัตรอุดม, ชยุต จิตมานะ, วันรพี ขาวสะอาด  

พร้อมด้วยที่ปรึกษา อาทิ พ.อ.พรรษิษฐ์ สุพรรณชนะบุรี ผอ.กองสานใจสู่สันติ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า, พงศ์ศักดิ์ พรหมสิง ประธานสมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้, อับดุลการีม อัสมะแอ จากคณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ ม.ฟาฏอนี เป็นต้น

โดยอนุกรรมาธิการฯ ชุดนี้ ทำหน้าที่ศึกษาความคืบหน้าผลการเจรจาสันติภาพตลอดช่วงที่ผ่านมา ถอดบทเรียน ประสบการณ์ การสร้างสันติภาพจากต่างประเทศ พร้อมทั้งต้องรับฟังฝ่ายต่าง ๆ ว่าจะมีแนวทางส่งเสริมให้เกิดประสิทธิผลต่อการเจรจาในแนวทางใดบ้าง รวมไปถึงการศึกษาแนวทางออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้กระบวนการเจรจาสันติภาพประสบความสำเร็จ

2. คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี เพชรดาว โต๊ะมีนา เป็นประธาน ร่วมด้วยอนุกรรมาธิการฯ ประกอบด้วย นัจมุดดิน อูมา, นันทพงศ์ สุวรรณรัตน์, อัญชนา หีมมิหน๊ะ, อรรถชาญ เชาวน์วานิชย์, ธิษะณา ชุณหะวัณ, รอมซี ดอฆอ, แวรอมลี แวบูละ, อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ, ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์

พร้อมด้วยที่ปรึกษา อาทิ โซรยา จามจุรี ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้, รักชาติ สุวรรณ์ ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้, ปาตีเมาะ เปาะอีแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ, มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ, ผอ.มูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, ยามารุดดิน ทรงศิริ The Patani เป็นต้น  

อนุกรรมาธิการฯ ชุดนี้ จะเน้นการไปรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายทั้งใน และนอกพื้นที่ โดยจำเป็นต้องรับฟังความเห็นประชาชนให้มากที่สุด รับฟังปัญหาทุกด้านเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่นอกเหนือจากเรื่องการเจรจา เพื่อทำเป็นข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้

“อนุกรรมาธิการฯ ทั้ง 2 คณะนี้ จะทำงานตามอำนาจหน้าที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน แล้วไปจบที่ กมธ.วิสามัญ เพื่อเสริมสร้างสันติภาพ และแก้ปัญหาความขัดแย้ง แม้ว่าเงื่อนไขอาจเหลือเวลาอีกไม่ถึง 90 วัน ตามกำหนดของ กมธ.วิสามัญ แต่ทุกคนจะพยายามทำให้ได้ โดยที่ประชุมเสนอให้เชิญองค์กรต่าง ๆ จำนวนมาก ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มาเพื่อสะท้อนบทเรียนการทำงานด้านสันติภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยการลงพื้นที่ กำหนดหัวข้อที่จะรับฟังเสียงสะท้อนจากในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เราอยากให้เสร็จตามกำหนดเวลา แต่ก็อยากได้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยน์ต่อการแก้ปัญหาระยะยาวด้วย จึงต้องทำงานแข่งกับเวลา ช่วงปิดสมัยประชุม ก็ยังประชุมกันทุกสัปดาห์ และจะหาทางลงพื้นที่เร็ว ๆ นี้”

จาตุรนต์ ฉายแสง

เล็งออกกฎหมายคุ้มครองเปิดทางผู้คนแสดงความเห็น หาทางออกดับไฟใต้

ประธาน กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ บอกด้วยว่า ยังมีอีกหลายข้อเสนอที่ถูกพูดถึง และยกให้เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญ คือ ต้องศึกษาดูว่าการส่งเสริมการเจรจาให้มีประสิทธิผล ต้องอาศัยกฎหมายมารองรับหรือไม่ โดยเฉพาะการมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้คนที่มาให้ความคิดเห็น ซึ่งอาจเป็นบุคคลที่มีหมายจับ ตกเป็นจำเลย จะต้องให้การดูแลคนกลุ่มนี้อย่างไร ให้เขาสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่เป็นทางออกต่อสถานการณ์นี้จริง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยกเป็นประเด็นกันไว้แล้ว ต้องช่วยกันคิดเพื่อหาทางออกเรื่องนี้กันต่อไป

อย่ากลัว! “กระจายอำนาจ” ย้ำทุกอย่างอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ส่วนการกระจายอำนาจ ที่นำไปสู่ข้อเสนอเรื่องจังหวัดจัดการตัวเอง หรือ แม้แต่ข้อเสนอเขตปกครองพิเศษนั้น ประธาน กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ยอมรับว่า เรื่องการกระจายอำนาจ รูปแบบการปกครอง ก็เป็นหัวข้อหนึ่งที่ต้องศึกษาแน่ ๆ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไร เพราะทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าปัญหาการไม่กระจายอำนาจเป็นเหมือนกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่ปัญหาของจังหวัดชายแดนใต้ แต่จะกระจายอำนาจอย่างไรให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ก็ต้องมาคุยกัน อย่างพื้นที่ชายแดนใต้ก็ต้องเข้าใจลักษณะพิเศษของพื้นที่ จึงต้องเน้นการสื่อสารกับคนทั้งสังคม เน้นการมีส่วนร่วม ต้องรับฟังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด

“ข้อเสนอของประชาชนชายแดนใต้ ยังไม่มีใครกล้าสรุป แต่เมื่อมีมาแล้วก็ต้องหารือกัน ซึ่งขอให้ทุกฝ่ายสบายใจว่าการจะทำอะไร ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ภายใต้การปกครองที่เป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวไม่แยกแน่นอน แต่รูปแบบการบริหารไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมด เช่น เรามีเมืองพัทยา มี กทม. ดังนั้นไม่ต้องกลัวความต่าง ควรกลัวความเหมือนกันไปหมดแล้วไม่แก้ปัญหา หลักใหญ่คืออยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใครแน่นอน”

จาตุรนต์ ฉายแสง

จาตุรนต์ ย้ำว่า การแก้ปัญหาชายแดนใต้ไม่ฟังคนในพื้นที่ไม่ได้ เช่นเดียวกันถ้าไม่ฟังคนนอกพื้นที่การแก้ปัญหาหลายอย่างก็อาจมีอุปสรรค ดังนั้นการมีฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องนี่น่าจะเป็นผลดี ยิ่งมาดูในเรื่องยุทธศาสตร์ ก็น่าจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหา ดังนั้นการแก้ปัญหาความขัดแย้งทุกฝ่ายต้องเปิดกว้าง ต้องยอมรับข้อเสนอที่มีขึ้นโดยปราศจากอคติ ทำให้เกิดการรับฟังทุกฝ่ายอย่างแท้จริง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหา นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องอาศัยคนทั้งสังคมช่วยกัน การแก้ปัญหาชายแดนใต้ เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ เพราะเสียงบประมาณไปหลายแสนล้านบาท ซึ่งล้วนมาจากภาษีประชาชน ถ้าคนทั้งสังคมช่วยกันติดตามเรื่องนี้เห็นข้อเสนอแล้วช่วยกันผลักดัน สนับสนุนการแก้ปัญหาก็จะดีขึ้นกว่าที่ผ่าน ๆ มา

สำหรับการประชุมครั้งต่อไป (8 พ.ย.66) ที่ประชุม กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ มีกำหนดเชิญผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), กอ.รมน., ศอ.บต. มาพูดคุยถึงประเด็นความมั่นคง การพัฒนาบริหารจัดการในพื้นที่ เพื่อให้ กมธ.เห็นภาพรวมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา จากนั้นการประชุมครั้งถัดไป จะเชิญนักวิชาการ รวมถึงผู้ที่พร้อมจะให้ความเห็นเพื่อประเมิน วิจารณ์การทำงานของหน่วยงรัฐมาให้ข้อมูล ขณะที่ครั้งต่อไป จะเชิญผู้ที่เคยรับผิดชอบการเจรจาสันติภาพมาให้ข้อมูล


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active