ดึงสติทุกฝ่าย ก่อนขัดแย้งร้าวลึก ปมเห็นต่าง ‘นิรโทษกรรม – ม.112’

นักสันติวิธี – สว. – อดีตนักเคลื่อนไหวการเมือง ออกโรงเตือน ขอทุกฝ่ายใจเย็น ๆ อย่าใช้อารมณ์ อย่าใช้กำลังเอาชนะกันทางการเมือง แนะรอจังหวะค่อยพูดถึงนิรโทษกรรม

จากกรณีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง รวมถึงคดีตามมาตรา 112 ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วย และเห็นต่าง จนอาจส่งผลให้นำไปสู่ความขัดแย้งของประชาชนแต่ละกลุ่มบานปลายและทวีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่นั้น

วันนี้ (13 ก.พ. 67) ศ.สุริชัย หวันแก้ว อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ผ่าน จับตาสถานการณ์ Thai PBS โดยย้ำว่า ขึ้นอยู่กับความคิด และอารมณ์ความรู้สึกของทั้ง 2 ฝ่าย เช่น ถ้ามองว่า จะไม่มีทางยอมกันไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม หรือ การกระทำของฝ่ายตรงข้ามถือว่าผิดไปหมด ก็จะเป็นเหมือนการเติมเชื้อไฟให้แรงขึ้น

ศ.สุริชัย หวันแก้ว อดีต ผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กลับกันถ้าให้ทั้ง 2 ฝ่ายมองเรื่องนี้ในแง่ของบริบทของความหลากหลายของคนในสังคม คนต่างวัย ต่างความคิด คนรุ่นเก่ามีความคิดเห็นแบบหนึ่ง คนรุ่นใหม่ก็มีความคิดเห็นอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นแล้วควรหาทางที่จะใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมอย่างไรมากกว่า

“ยิ่งถ้าเราย้อนมองอดีตที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดจากความเห็นต่างของคน 2 กลุ่ม ซึ่งนำมาสู่ความรุนแรงต่าง ๆ ร้ายแรงที่สุดคือเกิดสงคราม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความขัดแย้งนั้นมากมาย ถ้าเราปรับมุมมองของตัวเอง และมีสติย้อนนึกถึงหายนะที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ก็จะเป็นการไม่เติมเชื้อเพลิงเข้าไปในกองไฟที่กำลังเป็นปัญหาคุกรุ่นอยู่ในปัจจุบัน”

ขอสังคมใจเย็น ๆ ก่อน ค่อยว่ากันถึงนิรโทษกรรม

ศ.สุริชัย ยังประเมินแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน โดยเห็นว่า ต้องรีบลดความขัดแย้งลงด้วยวิธีการให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาร่วมพินิจพิจารณาถึงการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมให้ได้ ต้องเกิดการสนทนากันอย่างเปิดใจของคนหลายรุ่น รัฐต้องสร้างสะพานการสื่อสารร่วมกัน สะพานการแลกเปลี่ยนในเรื่องเหล่านี้ โดยต้องปราศจากความรุนแรง และเมื่อสังคมเริ่มใจเย็นลงค่อยว่าถึงกฎหมายนิรโทษกรรม สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรทำ เพราะอาจจะยิ่งยกระดับปัญหานั้นก็คือ การมุ่งเน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมายในทางเดียว ให้เป็นเหมือนการปราบปรามบุคคลที่เห็นต่าง โดยมองข้ามการพูดคุยการแลกเปลี่ยน

“สิ่งที่จะเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้ความเห็นต่างสามารถหาจุดร่วมได้ ก็คือการเปิดพื้นที่พูดคุยอย่างปลอดภัยในหลายระดับด้วยกัน เช่น ในมหาวิทยาลัย ที่จะทำให้ความเห็นต่างของคนรุ่นใหม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในทางสร้างสรรค์ได้ และความคาดหวังสูงสุดก็คือรัฐสภา ที่จะเป็นพื้นที่ที่สามารถให้นักการเมืองสะท้อนภาพความคิดเห็นจากประชาชน แล้วหารือร่วมกันด้วยความเห็นต่างอย่างใจเย็นได้”

มณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา

ย้ำใช้บทเรียนในอดีต หวั่นใช้ความรุนแรง ความขัดแย้งยิ่งร้าวลึก

ขณะที่กรณีการกระทำที่เกี่ยวข้องกับขบวนเสด็จฯ วันนี้ในสภาฯ มณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา หารือเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงในสังคมที่เห็นต่าง และมีความเปราะบางสูง โดยมองว่า แม้มีความเห็นต่างอย่างไรในทางการเมือง ส่วนตัวต้องเคารพสิทธิมนุษยชน และเชื่อว่าแม้เห็นต่างกัน แต่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ และสถาบันฯ อันเป็นที่เทิดทูนสามารถอยู่ควบคู่กับประชาธิปไตยสากลและสิทธิมนุษยชนได้อย่างงดงาม

มณเฑียร ยอมรับว่า มีความไม่สบายใจ และไม่เห็นด้วยกับการกระทำเกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ และรัฐบาลในฐานะผู้บริหารราชการแผ่นดินจะต้องทำหน้าที่เชิงรุกเตือนสังคมไทยรับมือบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจจะนำไปเสี่ยงสู่ความขัดแย้ง ให้เกิดในลักษณะเป็นอารยะที่สุด และการดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามครรรองเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการ แต่ต้องไม่ไปสร้างกระแส หรือเงื่อนไขให้เกิดการตอบโต้รุนแรง ไม่ว่าจะเกิดจากการยั่วยุของฝ่ายใด ซึ่งประเทศไทยเคยมีบทเรียนที่เจ็บปวดมาแล้วจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จึงแนะให้รัฐบาลใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด และสร้างกลไกให้ประชาชนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ใช้กลไกแห่งสันติ ใช้สติใช้หลักเหตุผลในการนำเสนอความคิดที่แตกต่าง

“จะต้องไม่สนับสนุน การใช้ความรุนแรงหรือการกระทำที่ยั่วยุ อันอาจจะทำให้เกิดความเปราะบางและนำไปสู่ความเสี่ยงภและอาจนำมาสู่โศกนาฏกรรมที่ทำให้เกิดแผลร้าวลึกในสังคมไทย พร้อมกับขอวิงวอนให้พี่น้องชาวไทยกลับมาอยู่ในสติ และเราสามารถอยู่ร่วมกันพร้อมกับรับมือ กับความไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมตามครรลองที่ถูกต้องตามหลักการของกฎหมายและความเป็นอารยะชน”

มณเฑียร บุญตัน

‘ณัฐวุฒิ’ ขอสังคมตั้งสติ อย่าใช้กำลังเอาชนะกันทางการเมือง

ขณะที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปช. ให้ความเห็นถึงกรณีเดียวกัน ว่า ข้อเท็จจริงของสังคมวันนี้ คือมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในหลายประเด็น ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมโดยเฉพาะทางการเมืองที่มีความเห็นที่แตกต่างมีการต่อสู้กันทางความคิดมายาวนานในสังคมไทย เพียงแต่ประเด็นคือรูปแบบวิธีการแสดงออก ซึ่งจำเป็นที่จะต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย  จำเป็นที่จะต้องอยู่ภายใต้ข้อเท็จจริงเหตุผลและวุฒิภาวะ 

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปช.

“ทัศนะส่วนตัวมองว่ากรณีที่เกิดขึ้นกับขบวนเสด็จฯ นั้น เป็นเรื่องที่น่าห่วงใย จะบอกว่าเห็นด้วยคงพูดไม่ได้แต่หวังว่าผู้ที่เคลื่อนไหวการต่อสู้ต่าง ๆ ต้องใช้วุฒิภาวะ ศึกษาเรียนรู้เก็บประสบการณ์ เพื่อที่จะทำให้รูปแบบ และวิธีการของแต่ละคน ของแต่ละกลุ่ม เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้สถานการณ์อันไม่พึงประสงค์ ลุกลามบานปลายออกไป”  

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

ณัฐวุฒิ ยังมองว่า การใช้ความรุนแรง ใช้กำลังของทุกฝ่ายเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และต้องเรียกร้องให้ทุกฝ่ายตั้งสติ ใช้เหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ ไม่ใช้กำลังในการแสดงออกหรือเอาชนะกันทางการเมือง เพราะสถานการณ์ดังกล่าวไม่นำผลบวกมาสู่บุคคล องค์กร หรือสถาบันใด ๆ  มีแต่จะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดหรือเลวร้ายลง จึงอยากให้ทุกอย่างเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องของกฎหมายบ้านเมือง และเป็นเรื่องของวุฒิภาวะของผู้คนในสังคมที่จะวิเคราะห์แยกแยะ ทำความเข้าใจกับความคิดเห็นที่แตกต่างในการอยู่ร่วมกันได้ และเชื่อว่าการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยื่นญัตติด่วนเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ จะช่วยให้เกิดการอภิปรายขบคิดหาวิธีการระวังป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้

“ส่วนจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้หรือไม่ เนื่องจากสังคมส่วนใหญ่รับไม่ได้ กับเรื่องที่เกิดขึ้น ก็อย่าให้เป็นถึงขนาดนั้นเพราะประวัติศาสตร์ของชาติไทยเราบอบช้ำกับการเมืองมามากแล้ว แม้กรณีที่เกิดขึ้นจะนำความไม่พอใจมาสู่หลายคนหลายฝ่าย แต่ที่ทราบมีการแสดงออกอย่างสันติในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมองว่ายอมรับได้ สิ่งที่จะต้องป้องกันและระวังยับยั้งไม่เกิดคือการไม่ใช้ความรุนแรง  ตราบใดที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ยังใช้ชีวิตในสังคมได้โดยไม่มีการประทุษร้าย  ความหวังสำหรับการเดินไปข้างหน้าของประชาธิปไตยแม้ว่าจะยากเย็นและยาวนาน”  

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

ส่วนกรณีนักข่าว และช่างภาพอิสระถูกดำเนินคดีฐานสนับสนุนให้มีการกระทำผิดคดี 112 ระหว่างไปทำข่าว ณัฐวุฒิ บอกว่า หลักการ และจุดยืนทุกสังคมเสรีภาพของสื่อมวลชนต้องได้รับการคุ้มครองโดยรัฐ และกลไกของบ้านเมือง ตราบใดก็ตามที่สื่อมวลชนปฎิบัติหน้าที่ พวกเขาไม่ได้มีอภิสิทธิ์ แต่มีสิทธิและเสรีภาพโดยชอบที่จะนำเสนอรายงานข้อเท็จจริง กรณีการควบคุมตัวสื่อมวลชนที่เกิดขึ้น ยังไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร  เหตุผลที่มาที่ไปของการจับกลุ่มเป็นอย่างไร หวังว่าเพื่อให้สังคมคลายความกังวลและลดอุณหภูมิของสถานการณ์ในขณะนี้  เจ้าหน้าที่น่าจะมีคำอธิบายเพิ่มเติมว่ากรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจากอะไร ข้อหาคืออะไรกระบวนการขั้นตอนดำเนินการถูกต้องชอบด้วยหลักนิติธรรมหรือไม่ ตนคิดว่าในเร็ว ๆ นี้ควรจะมีคำอธิบายออกมาเพิ่มเติม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active