ย้ำ ‘ชมรมแพทย์ชนบท’ โพสต์ปมพ้นตำแหน่งเจ้ากระทรวงสาธารณสุข หวั่นสังคมเข้าใจผิด วอนอย่างสร้างความแตกแยก
วันนี้ (1 พ.ค. 67) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์โซเซียลฯ ครั้งแรกหลังพ้นจากตำแแหน่ง รมว.กระทรวงสาธารณสุข โดยขอบคุณ ชมรมแพทย์ชนบท ที่โพสต์ให้กำลังใจ แต่ย้ำว่ามีบางอย่างที่ข้อมูลยังคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะประเด็นถูกปลดออกจากรัฐมนตรี ซึ่งชมรมแพทย์ชนบทไม่ควรใช้สถานการณ์นี้ออกมาสร้างความแตกแยกในกระทรวงฯ อีก ขอให้ยุติการกระทำ
นพ.ชลน่าน ระบุว่า นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้โทรศัพท์มาหา ยอมรับว่าเขียน และให้สัมภาษณ์จากความเห็นของตนเองและคนในกลุ่ม ซึ่งตนได้ติงไปแล้วว่าการพูดจากความเห็นส่วนตัวแทนไม่ใช่ข้อมูลจริงไม่สมควร ซึ่งก็ยอมรับและขอโทษ ตนไม่อยากให้ปัญหาส่วนบุคคล ลุกลามสร้างปัญหาให้ระบบ
ส่วนประเด็นข้าราชการระดับสูงไม่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงนั้น นพ.ชลน่าน ระบุว่า ตนใช้ผลงานเป็นตัววัด ไม่ให้ความสำคัญ กับคำว่า “คนของใคร” ขอให้เป็น “คนของประชาชน” ทำงานเพื่อประชาชน ก็พอ ไม่สนใจว่า “แมวขาวหรือแมวดำ” ขอให้ “จับหนู” ได้ก็พอ
“ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างชมรมแพทย์ชนบท กับผู้บริหารกระทรวงเป็นปัญหาเดิมที่มีมาหลายปี ถ้าจำได้ เรื่องแรก ๆ ที่ผมทำ คือ พยายามสลายความขัดแย้ง เพื่อให้ทำงานไปต่อได้ มีการเชิญทั้งผู้บริหารและน้อง ๆ แพทย์ชนบทมาทานข้าวด้วยกันด้วยซ้ำ ผมพยายามแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับทุกฝ่าย”
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว
ส่วนประเด็นว่าถูกวางยาให้เป็นคู่ขัดแย้งกับ สปสช.นั้น นพ.ชลน่าน ชี้แจงว่า นับตั้งแต่เข้ามาทำงานไม่เคยเป็นคู่ขัดแย้งกับ สปสช. ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. สามารถทำงานกับ เลขาธิการ สปสช. ได้เป็นอย่างดี ทำหน้าที่ในกรอบกฎหมายกำหนด ตอบสนองนโยบายเรือธง “ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ขับเคลื่อนวางงบประมาณรองรับอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะ นวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น รับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน, บริการทันตกรรมที่คลินิกทันตกรรม ที่เข้าร่วมโครงการได้
โดยนโยบายนี้ เริ่มดำเนินการทันที หลังแถลงนโยบาย 7 ม.ค 67 แต่การดำเนินงานจำเป็นต้องนำร่องและขับเคลื่อน เป็นเฟส ทั้งหมด 4 เฟส บนพื้นฐานความพร้อม เชิงระบบเทคโนโลยี ระบบงบประมาณ และมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเฟส 1 นำร่อง 4 จังหวัด เฟส 2 ขยายเพิ่ม อีก 8 จังหวัด ซึ่งจำเป็นต้องขอใช้งบฯ กลาง 1,200 ล้านบาท เพราะนวัตกรรมใหม่ ๆ ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณไว้ จึงให้ใช้งบประมาณในแผนงบประมาณปี 66 ไปพลางก่อน ส่วนเฟส 3 เพิ่ม อีก 33 จังหวัด ตั้งงบประมาณปี 67 รองรับ เริ่มขับเคลื่อน เดือน พ.ค 67 เป็นต้นไปเฟส 4 จังหวัดที่เหลือ ตั้งงบประมาณ ปี 68 รองรับ ขับเคลื่อน เดือน ต.ค 67 เป็นต้นไป
ย้ำไม่เคยเกียร์ว่าง หลายปมเกิดปัญหาเชิงระบบ
ส่วนประเด็นเรื่องเกียร์ว่าง ละเลยปฐมภูมิ แก้ปัญหายาเสพติดสะดุด สาธารณสุขรากฐานไม่ก้าวหน้า กระจายอำนาจสับสน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น นพ.ชลน่าน ยอมรับว่า เกิดจากปัญหาเชิงระบบ ตอนมารับตำแหน่ง ก็ได้เร่งขับเคลื่อนให้มีการจัดทำกฎหมายลูกให้เสร็จเตรียมประกาศเพื่อใช้บังคับ เร่งรัดการขึ้นทะเบียน ผู้รับผู้ให้บริการ การกำหนดพื้นที่ กำหนดหน่วยบริการรับผิดชอบต่อไป
การบำบัดรักษาฟื้นฟูยาเสพติด เป็นอีกงานที่ขับเคลื่อนได้ยาก เพราะไม่มีกฎกระทรวงรองรับ ให้สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา โดยไม่ถูกตีตรา เป็นคดีจะได้ดำรงชีวิตในสังคมได้เหมือนคนปกติ ทั้งที่มีกฎหมายประมวลยาเสพติดตั้งแต่ ปี 2564 โดยพยายามเสนอกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาบ้า เพื่อสันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อเสพ ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก เสนอ 15 เม็ด ไม่ผ่าน ครม. กลับมาทำใหม่ เสนอ 1 เม็ด ก็ไม่ผ่าน ครม. จน มาถึง รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ครม. ให้ความเห็นชอบไม่เกิน 5 เม็ด
“ผมในฐานะรัฐมนตรีสาธารณสุข เป็นผู้ลงนามในกฎกระทรวง ตามกฎหมายกำหนด ได้เร่งรัดใหัมีสถานบำบัด และชุมชนเป็นฐานในการบำบัดรักษา CBTx มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาถึง 70,000 คน”
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว