ระบบเลือกสว. แดนสนธยาที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม

ชาวขอนแก่นมอง ระบบเลือก สว. กติกาซับซ้อน ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เชื่อรอบเลือกไขว้มีปัญหาการฮั้ว ชวนมองเกมยาว ลงประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญต้องยึดโยงประชาชน

วันนี้ (30 พ.ค.67) หลังจากปิดรับสมัครรายชื่อ สว.20 กลุ่มอาชีพไปเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 โดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการตรวจสอบแล้วทั้งสิ้น จำนวน 46,206 คน และ กกต.เปิดเผยว่ายังไม่พบปัญหาอะไรหลังจากการปิดรับสมัคร แต่กระแสการร้องเรียนโดยเฉพาะการเกณฑ์กลุ่มก้อนมาสมัครก็ยังถูกพูดถึง และเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะเกิดความไม่โปร่งใส และไม่ได้สว.ที่มีคุณสมบัติตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ในงานเสวนาฟังเสียงประเทศไทย สรรหา สว.สะท้อนความคาดหวังจากประชาชน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ณ จังหวัดขอนแก่น มีการพูดถึงกรณีดังกล่าวเช่นกัน ตัวแทนหลากหลายอาชีพ ที่เข้าร่วมต่างแสดงความคิดเห็นต่อระบบการเลือกสว.ภายใต้ระเบียบของกกต. ว่าเป็นระบบที่มีกติกาซับซ้อนมากที่สุด ไม่ยึดโยงกับประชาชน และมีกระแสว่ามีการเกณฑ์ผู้สมัครเข้าไป โดยใช้งบสูงถึง 20 ล้านบาท ขณะที่ผู้สมัคร สว.ในจังหวัดขอนแก่น ร่วมสะท้อนว่า กติกา เงื่อนไข เป็นอุปสรรคสกัดกั้นคนเข้าไป ทั้งเรื่องค่าเงินสมัคร 2,500 บาท เอกสารจุกจิก ใบรับรองแพทย์ และยังมีอะไรอีกเยอะมากที่พร้อมสกัดคน

ขณะที่ความเห็นจากอีกหลายคน ทั้งนักศึกษา เกษตรกร ผู้สูงอายุ คนรุ่นใหม่ ในวงเสวนา ล้วนเห็นตรงกันว่า ระบบการเลือก สว.รอบนี้ ลิดรอนสิทธิโดยสมบูรณ์ แม้ผู้ที่เกี่ยวข้องจะพยายามชี้แจงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าต้องการความต่างจากการเลือกแบบ สส.ที่อยู่ภายใต้สังกัดพรคคการเมือง แต่ด้วยระบบเลือก สว.ที่ซับซ้อน โดยเฉพาะในรอบเลือกไขว้ จะเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการฮั้ว เกณฑ์คนไปสมัคร ไม่โปร่งใส และท้ายที่สุดจะนำมาซึ่งเหตุการณ์วุ่นวายเมื่อ สว.ชุดใหม่ที่ได้ไม่สามารถเป็นตัวแทนที่มีคุณสมบัติตามความคาดหวัง สุดท้าย สว.จะกลายเป็นตัวตลกและไม่กล้าเปิดเผย ว่าตัวเอง เป็น สว.ด้วยซ้ำ

แม้จะมีคำถามต่อระบบเลือก สว.ว่าซับซ้อน แต่ก็มีบางคนเห็นว่า การเลือกกันเองแบบกลุ่มอาชีพ เป็นทัศนะที่ดี หากประชาชนสนใจก็ไปรวมกลุ่ม เข้าไปถ่วงดุลในสายงานอาชีพตัวเอง ถ่วงดุลในเรื่องผลประโยบขน์ ซึ่งไม่ใช่แค่ประชาธิปไตย แต่ยังมีสิทธิ อาชีพ แต่การเลือกแบบไขว้อาจจะมีข้อจำกัด เนื่องจากต่างสาขาอาชีพอาจไม่รู้จักกันมาก่อน ซึ่ง กกต.จะทำอย่างไร

ณัฐวุฒิ กรมภักดี ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนฅนไร้บ้านขอนแก่น แสดงความเห็นว่า ภายใต้กติกาในระบบเลือกสว.ประชาชนต้องยอมรับว่าเราทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่อยากให้ภาคประชาชนจับตาและมองไปข้างหน้าที่มากกว่าการเลือกสว. คือเรื่องการลงประชามติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องอาศัยการตื่นตัวจากภาคประชาชน

“ยอมรับหลักการ ที่เขากำหนด ออกแบบภายใต้ คสช. สนามรบไม่เอื้อต่อเรา แต่สนามนี้เราต้องเล่น เล่นอย่างไร เข้าไปแชร์ระบบ คนที่เข้าไปแล้ว เอาเรื่องจากแดนสนธยาออกมาสื่อสารให้มากที่สุด เพื่อแก้เกมยาวคือเรื่อง รธน. คำถามประชามติ สำคัญมาก ถ้าเราไม่ส่งเสียง เพื่อสกัดกติกาแบบนี้ สสร. ไม่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากปชช. ก็ไม่ต้องยอมรับ รธน.

สำหรับเวทีฟังเสียงประเทศไทย สรรหา สว.สะท้อนความคาดหวังจากประชาชน โดยไทยพีบีเอส จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 4 เวที นอกจากการได้เปิดพื้นที่ให้คนในแต่ละภูมิภาคได้แสดงความคิดเห็นแล้วยังมีการจัดกิจกรรมที่ชวนคุย ชวนมองฉากทัศน์ประเทศไทยภายในวงเสวนาอีกด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active