ชาวเหนือสะท้อน ต้องการ สว.ที่ยึดโยงกับปัญหาพื้นที่และประชาชน

เสียงสะท้อนคนเหนือ หวั่น สว.ชุดใหม่ไม่ยึดโยงปัญหาในพื้นที่ และประชาชน แนะระบบเลือกควรดันภาพลักษณ์กลุ่มอาชีพหรือปัญหาของแต่ละจังหวัดสู่ระดับประเทศ ด้านนักวิชาการประเมินโอกาสได้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม ต้องรอดูการเลือก สว.

วันนี้ (8 มิ.ย.2567) เว็บไซด์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่เอกสารระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2567 เพื่อให้มีความชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้อำเภอที่มีผู้สมัครกลุ่มเดียว เข้าสู่กระบวนการเลือก สว.พร้อมกำหนดวิธีการเลื่อน สว.บัญชีสำรอง มีผลก่อนวันเลือกระดับอำเภอ 1 วัน

ขณะที่เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2567 ไทยพีบีเอส ได้จัดเสวนาฟังเสียงประเทศไทย “เลือกตั้ง สว. 2567”เสียงสะท้อนความหวังของประชาชน (ภาคเหนือ) สว. แบบไหนที่คนเหนืออยากเห็น ณ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โดยมีทั้งนักวิชาการ และประชาชนร่วมแลกเปลี่ยนถึงความหวังต่อการเลือก สว.ที่กำลังจะถึง

ครูเเดง เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย และเป็นนักพัฒนาสังคม มองว่า ในกระบวนการเลือกที่เป็นการแบ่งกลุ่มอาชีพ อาจทำให้ผู้แทนของแต่ละจังหวัดเข้าไปไม่ครบ ดังนั้น การยึดโยงกับประชาชนอาจจะห่างไป แต่ละอาชีพอาจกระจุกตัวอยู่ในบางที่ 

เตือนใจ ดีเทศน์ อดีต สว.เชียงราย

และมองว่าการเลือกแต่ละจังหวัดนั้นมีความเป็นธรรม ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง ทุกจังหวัดมีตัวแทนของตัวเอง แต่ต้องมองภาพรวมของประเทศ และเชื่อมโยงกับสากล หลักกฎหมายระหว่างประเทศด้วย ดังนั้น คุณสมบัติของ สว.ในครั้งนี้จะต้องมองภาพกว้าง มองเชื่อมโยงกับทั้งโลก แต่ระบบการเลือกครั้งนี้ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะได้คนที่มีคุณสมบัติ และความสามารถขนาดนี้หรือไม่

“มองว่าเป็นได้หลายฉากทัศน์ ขึ้นอยู่กับว่า สว.ที่ได้มามีคุณสมบัติแบบไหน ถ้าเป็นกลุ่มก้าวหน้าก็จะสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของกฎหมายระดับชาติ”

เนรมิตร จิตรรักษา คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.ราชภัฏเชียงราย

ด้าน เนรมิตร จิตรรักษา อาจารย์ประจำ สังกัดคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มองว่าในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถ้ามองถึงความซับซ้อนในการได้มาซึ่ง สว.ด้วยการแบ่งกลุ่มอาชีพ 

“ถ้าอยากจะให้ยึดโยงพื้นที่ ชั้นแรกต้องมองเจตนาของรัฐธรรมนูญคืออยากให้มีภาพลักษณ์ของอาชีพ ดังนั้น ตัวแทนของจังหวัดน่าจะสะท้อนภาพลักษณ์ด้านอาชีพได้ อย่างเช่น ภาคเหนือมีปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ก็น่าจะมีคนที่เป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพ เช่นกลุ่มสิ่งแวดล้อมในจังหวัด เพราะมีความยึดโยงกับปัญหาด้วย”

แต่ถ้ามองภาพระดับจังหวัดขึ้นไป ถ้าจะให้โดดเด่นในเรื่องกลุ่มอาชีพ ก็ควรจะมีสัก 3-4 กลุ่มอาชีพที่โดนเด่นของแต่ละจังหวัด จึงจะตอบโจททย์ความยึดโยงได้

เสนอทางแก้ว่า ถ้ามองในขั้นสุดท้ายในระดับประเทศ แต่ละจังหวัดในภาคเหนือเองก็ต้องมาช่วยกันมองว่าคนที่เราส่งไปหรือเป็นตัวแทนในจังหวัดมีความโดดเด่นแต่ละอาชีพอย่างไร ต้องช่วยกันฉายภาพให้เห็น เพื่อให้ยึดโยงกับจังหวัดเพื่อไปสู่ระดับประเทศ

รศ.วีระ เลิศสมพร คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา พูดถึงความจำเป็นของการมี สว. มองว่ายังจำเป็นอยู่ที่จะต้องมี สว.แต่ในอนาคตก็อาจมีการปรับเปลี่ยนได้ แต่ตอนนี้ต้องอยู่กับกติกาและความน่าจะเป็นของ สว.ชุดใหม่

รศ.วีระ เลิศสมพร คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.พะเยา

ประเทศไทยผ่านกระบวนการหลายวิธีที่จะได้มาซึ่ง สว.ทั้งเลือกตั้ง และแต่งตั้ง และการเลือก สว.ในครั้งนี้ประเทศกำลังจะมีการทดลองหลายสิ่ง แต่ถามว่าวิธีไหนดีกว่ากัน คงบอกไม่ได้ว่าวิธีไหนดีที่สุด เพราะมีทั้งข้อดี และข้อที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์

“ส่วนการมีรัฐธรรมนูญที่มีส่วนร่วมจากประชาชน ประเมินว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ต้องรอดูผลหลังจากที่ผ่านกระบวนการเลือกสว.แล้ว”

จากที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าแต่ละกลุ่มก้อนการเมือง หรือมีเบื้องหลังเป็นพรรคการเมืองที่พยายามจะผลักดันผู้สมัครเข้าให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด 67 คนขึ้นไปหรือ  1 ใน 3 เพื่อจะได้มีส่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าสมมุติทำสำเร็จ ฝ่ายที่อยากให้มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญไม่ว่าเป็นทั้งฉบับหรือบางมาตราก็เป็นเรื่องของระยะเวลาที่ต้องดูต่อไป 

แต่ถึงแม้จะไม่ได้ สว.ที่มีความหลากหลาย และไม่มีฝ่ายใดอยู่เบื้องหลัง คิดว่าพลังของประชาชนจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งความรู้สึกไปยัง สว.ชุดใหม่ที่เกิดขึ้นว่า ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มไหนก็ตามขอให้ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ ไม่แน่อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงก็ได้

ส่วนผู้ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนคนอื่น ๆ มองว่าอยากให้มี สว.ที่แสดงถึงความเชี่ยวชาญของตัวเองในการร่วมพิจารณาด้านกฎหมาย บางมุมมองก็บอกว่าระบบการเลือกยังไม่แสดงถึงบรรทัดฐานของกลุ่มอาชีพที่ชัดเจน 

ด้านประชาชนคนรุ่นใหม่ก็มองว่า การเลือก สว.ครั้งนี้ไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ อยากให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีประชาชนบอกว่าหากเราได้ สว.ที่ไม่ได้มาจากบุคคลหรือกลุ่มอาชีพของตัวเอง อาจจะได้คนทำงานไม่ทั่วถึง อาจทำให้ไม่สามารถเข้าถึง สว.ได้  แล้วจะเกิดคำถามที่ว่า สว.จะเป็นตัวแทนของประชาชนได้อย่างไร หรืออาจมีการเมืองในกลุ่ม สว.จึงมีการตั้งคำถามว่าประเทศจะเดินหน้าได้อย่างไร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active