ย้ำเหตุผลปรับแก้ไขเพิ่มเติมร่างข้อบังคับฯ ตามสถานการณ์ปัจจุบัน และตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หวังได้รับแรงหนุน เดินหน้าสร้างบทบาทใหม่ สว. คืนความเชื่อมั่นต่อประชาชน
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 67 รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) พร้อมด้วยเพื่อนสมาชิก สว. 22 คน ลงชื่อสนับสนุน แก้ไขข้อบังคับการประชุม สว. พร้อมยื่นต่อวุฒิสภา รศ.ประภาส กล่าวว่า หลักการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 มีรายละเอียดสำคัญ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน องค์ประกอบ ตลอดจนหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการสามัญประจำ และ แก้ไขหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการให้สอดคล้องกับกิจการด้านการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติของวุฒิสภา ตามมาตรา 269 และ 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
รศ.ประภาส ระบุเพิ่มเติมถึงเหตุผลสำคัญของการลงชื่อแก้ไขข้อบังคับการประชุม เนื่องจาก วาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 250 คน ในวาระเริ่มแรกบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติให้วุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ รวมถึงการจัดทำ และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติได้สิ้นสุดลง ตามมาตรา 269 และมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
และตอนนี้ ได้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาขึ้นใหม่ตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 จำนวน 200 คน โดยให้มีการเลือกกันเองของบุคคลผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคมในแต่ละกลุ่มแล้ว
ดังนั้นจึงสมควรที่จะได้มีการปรับปรุงจำนวน องค์ประกอบ ตลอดจนหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา จำนวนคณะอนุกรรมาธิการ จำนวนสมาชิกในคณะกรรมาธิการสามัญและคณะอนุกรรมาธิการ ให้มีความเหมาะสมสอดรับกับจำนวนสมาชิกวุฒิสภา และภารกิจของสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยคำนึงถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน ทำงาน หรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคมวุฒิสภา ตลอดจนให้มีคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำวุฒิสภาขึ้นใหม่ เพื่อให้คณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของวุฒิสภา ทั้งในด้านนิติบัญญัติ ด้านการติดตามตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป
“จากประสบการณ์ทำงานภาคประชาสังคมมาอย่างยาวนาน เข้าใจว่าการมีส่วนร่วม การระดมความเห็นที่หลากหลาย พร้อมกับข้อเสนอแนะของภาคประชาชน และเพื่อน สว. บางส่วน ทำให้ร่างข้อบังคับฉบับนี้ สอดคล้องกับที่มา หน้าที่ อำนาจ สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมปัจจุบันมากที่สุดเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด”
รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง
รศ.ประภาส ยังย้ำว่า การแก้ข้อบังคับจะเป็นการให้เกียรติที่มาของ สว. ทุกคน ให้ได้ทำหน้าที่เหมาะสมกับบทบาท และหวังความร่วมมือของเพื่อน สว. สนับสนุนข้อบังคับฉบับแก้ไขนี้ ถือเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงบทบาท ของ สว. ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อไป