ครบ 1 ปี “รัฐบาลเศรษฐา” สำเร็จกี่นโยบาย?

ใกล้ 1 ปีรัฐบาล นักวิชาการชำแหละทุกนโยบาย ทั้งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพิ่งตั้งไข่ เกรงใจเอกชนที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังไม่คืบ ไร้ยุทธศาสตร์เชิงรุกต่างประเทศ ปิดทางก้าวสู่อำนาจบนเวทีโลก

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2567 สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) จัดวงเสวนา ตรวจการบ้าน 1 ปี รัฐบาลเศรษฐา ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยเป็นการวิเคราะห์จากนักวิชาการถึงนโยบายของรัฐบาล หลังจัดตั้งขึ้นมาใกล้จะครบรอบ 1 ปี ในเดือน ส.ค. 67  ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำและเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี

ยังไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า ไทยกำลังเผชิญปัญหาปรับตัวไม่ทัน นับตั้งแต่ปี 2000-2010 เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 4% ต่อปี และหลังจากนั้นจนถึงปี 2023 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 2.6% ต่ำสุดในอาเซียนอยู่ที่อันดับ 9 ชนะบรูไนที่อยู่อันดับ 10

โดยปัญหาหลักของไทย คือ การปรับตัวไม่ทันในด้านเทคโนโลยี จากยุคอุตสาหกรรมไปสู่ดิจิทัล ถือเป็นเรื่องยาก เพราะระบบการศึกษามีคุณภาพแย่ วัดได้จากวิชาวิทยาศาสตร์ การคำนวณ และการสอนให้คิด ไทยสอบตกทั้งหมด ดังนั้น รัฐบาลจะแก้เรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างไร

ขณะเดียวกัน ไทยยังมีปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ขาดผู้นำเชิงรุกในการบริหารประเทศทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด อีกทั้งปัญหาเสถียรภาพทางการคลัง ที่มีหนี้จำนวนมาก และการทำมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ต้องกู้เงินเพิ่ม ส่งผลให้งบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นเกือบ 5% สูงสุดในรอบ 20 ปี แต่มาตรการนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 1% ในเวลาเพียง 1 ปี หลังจากนั้นจะต้องใช้หนี้เป็นเวลา 2 ปีครึ่ง ดังนั้นรัฐบาลจะต้องมีมาตรการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

อย่างไรก็ตาม ยังมีมาตรการที่รัฐบาลทำได้ดีอยู่แล้ว ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้ ด้วยการพัฒนาเมืองรองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และด้านอาหาร ไทยสามารถสร้างมูลค่าให้เพิ่มขึ้นได้ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องรีบทำ เพราะถือเป็นหัวใจส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน เพียงแต่ยังเพิ่งจะเริ่มต้นอยู่ในซอฟต์พาวเวอร์เท่านั้น

“1 ปีที่รัฐบาลทำอยู่นั้น ในด้านหนึ่งที่ทำได้มากหน่อย แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง รัฐบาลยังเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง และหลายอย่างไม่ใช่ของง่ายนัก เช่น เรื่องพัฒนาเอไอ เรื่องดิจิทัล เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ของง่ายเลย”

รัฐบาลเกรงใจเอกชน หย่อนยานแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด มองว่า นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา หนึ่งในนั้นมีนโยบายเดียวที่ชัดเจนซึ่งเคยหาเสียงไว้คือ การแก้ฝุ่นควัน PM2.5 ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยระบุวิธีการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจทั้งทางบวกและลบในภาคการเกษตร ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อติดตามบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการสร้างความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน สะท้อนได้จากการที่นายกรัฐมนตรีไปเยือนกัมพูชา คาดมีการพูดคุยเรื่องฝุ่นที่ข้ามพรมแดน ก็ถือเป็นความพยายามทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ แต่ต้องรอดูว่าจะได้ผลหรือไม่ เพราะยังไม่ถึงช่วงฤดูฝุ่น และสิ่งที่ต้องจับตา คือ กฎหมายอากาศสะอาด ว่าจะออกมาบังคับใช้ทันสิ้นปีนี้และสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ รวมถึงมีประสิทธิผลอย่างที่คิดไว้ เพราะวิธีการจัดการอาชญากรรมและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของไทยยังมีปัญหา

ตั้งแต่ต้นปี 67 ที่ผ่านมา เรื่องกากแคดเมียมที่ถูกขโมยออกจากหลุมฝังกลบ ก็สะท้อนถึงปัญหาคอร์รัปชันที่เรื้อรังของรัฐในการกำจัดสารพิษ และไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมี 2 แห่งในจังหวัดระยองและพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกัน แม้มีคำสั่งศาลให้บริษัทเอกชนชดใช้ แต่ชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา เพราะบริษัทล้มละลายไปแล้ว อีกทั้งปัญหาปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดอย่างหนัก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนมีบริษัทเอกชนอยู่เบื้องหลัง แต่ยังไม่เห็นการจัดการผู้กระทำผิด การแก้ปัญหา และแผนป้องกันที่ชัดเจนจากรัฐบาล

ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีความเกรงใจเอกชนอยู่ในการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ กล่าวคือ ปล่อยให้เอกชนก่อมลพิษ แล้วค่อยใช้เงินภาษีช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบภายหลัง ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องปรับทัศนคติใหม่ ให้ผู้ที่กระทำผิดจ่ายชดเชยในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่นำเงินภาษีประชาชนไปแก้ปัญหาให้

ไม่จริงใจแก้รัฐธรรมนูญ

รศ.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในนโยบายด้านกฎหมาย รัฐบาลเคยแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในตอนที่จัดตั้งรัฐบาล ว่าจะการแก้รัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุดและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย แต่ความคืบหน้าล่าสุดเพิ่งจะตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ โดยกฎหมายที่ดูจะเป็นผลงานที่เด่นชัดที่สุดคือ กฎหมายส่งเสิรมความเท่าเทียมทางเพศ แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่าจะสำเร็จจริงหรือไม่ ดังนั้นการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนั้น จะมีความสัมพันธ์กับการแก้รัฐธรรมนูญ หากระบบกฎหมายพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย ก็จะไม่สามารถทำอะไรได้ ฉะนั้นการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานก็คือการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญใหม่

นอกจากนี้รัฐบาลไม่ได้มุ่งเน้นการทำกฎหมายที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากเท่าไหร่ เช่น การตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ที่เอื้อนักลงทุนและธุรกิจเป็นหลัก

ขณะเดียวกัน ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาเรื่องนี้เฉพาะเจาะจง มีเพียงวาระนิรโทษกรรมที่ได้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาเพื่อถกกันว่าจะนิรโทษกรรมเรื่องอะไรบ้าง

ทั้งนี้รัฐบาลต้องจริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะปัจจุบันคนที่มีอำนาจไม่สามารถบริหารงานได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากติดปัญหาองค์กรอิสระ ที่มีกลไกเปิดกว้างให้ใครก็ได้สามารถร้องเรียนและตรวจสอบรัฐบาลได้ เช่น การร้องเรียนนายกรัฐมนตรีต่อศาลรัฐธรรมนูญ อาจทำให้รัฐบาลทำงานได้ไม่ราบรื่น

อย่างไรก็ตาม หากโครงสร้างทางกฎหมายยังเป็นแบบนี้ จะไม่มีรัฐบาลไหนสามารถบริหารแผ่นดินได้อย่างที่ตั้งใจไว้ แต่อีกด้านหนึ่งส่วนตัวมองว่า การที่รัฐบาลยังขาดความกระตือรือร้นแก้กฎหมาย เพราะอาจจะกลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อตัวรัฐบาลเอง แต่ตนเชื่อว่าหากรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหาที่ทุกคนมองว่าเป็นเรื่องร้ายแรงที่สุด ต่อให้ตายในสนามรบ ทุกคนก็ยังเลือกรัฐบาลอยู่ดี

ไร้นโยบายเชิงรุกต่างประเทศ บันไดก้าวขึ้นเวทีโลก

รศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลยังไม่มีความเด่นชัดในด้านยุทธศาสตร์ระดับชาติ มีเพียงการค้าระหว่างประเทศเท่านั้น แม้ในอดีต ทักษิณ ชินวัตร จะโดดเด่นในการเดินหน้านโยบายต่างประเทศเชิงรุก จนทำให้ไทยเป็นที่จับตาของชาวโลกได้ แต่ในสถานะปัจจุบันทักษิณไม่สามารถคิดและให้รัฐบาลทำตามเหมือนสมัยก่อนได้ ดังนั้นจึงทำให้การขับเคลื่อนโยบายเชิงรุกในปัจจุบันของรัฐบาลมีปัญหา

การที่ไทยจะเป็นรัฐที่มีอำนาจมากขึ้นได้ ต้องนิยามตนเองใหม่ จะเป็นประเทศตั้งรับต่อไปหรือไม่ เพราะยังไม่เห็นแผนวิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์ที่จะก้าวขึ้นเป็นประเทศชนชั้นนำได้ อย่างน้อยก็ระดับในอาเซียน หรือเป็นประเทศที่มีอำนาจระดับปานกลางอย่างเกาหลีใต้ประเทศอำนาจด้านซอฟต์พาวเวอร์ก็ได้ ซึ่งหากไม่มีความคิดในลักษณะแบบนี้ ก็ไม่อาจก้าวขึ้นไปอยู่บนเวทีโลกได้

ทั้งนี้ ตนขอเสนอยุทธศาสตร์ 4 ลู่ 2 แกน ได้แก่

ลู่ที่ 1 การติดต่อรัฐบาลต่างประเทศระหว่างเมืองหลวง เช่น กรุงเทพฯ-พนมเปญ กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ กรุงเทพฯ-วอชิงตันดีซี เป็นต้น

ลู่ที่ 2 สแกนดูในพื้นที่ชายแดนที่มีลักษณะพิเศษ เช่น การบริหารชายแดนไทย-เมียนมา จะต้องติดต่อทั้งรัฐบาลเมียนมา ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมา และกลุ่มชาติพันธุ์

ลู่ที่ 3 การทำข้อตกลงกับมหาอำนาจการเมืองโลก อย่าง จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และสหประชาชาติ จะใช้วิธีการถ่วงดุลอำนาจแนวไหน ซึ่งตนเสนอใช้วิธีเป็นการแบบยืดหยุ่น เช่น เรื่องที่ถูกต้องในมุมมองประชาคมโลกก็ควรเข้าข้างในสิ่งนั้น แต่บางเรื่องแม้จะถูกต้อง แต่ถ้ามีอำนาจอีกประเทศค้ำคอก็ไม่ควรว่ากล่าวประเทศนั้น แต่อาจจะใช้วิธีละมุนละม่อมมากขึ้น แต่ก็กดดันประเทศนั้นเป็นนัย ๆ บ้าง ขึ้นกับสถานการณ์ เป็นต้น

ลู่ที่ 4 การทำข้อตกลงกับกลุ่มประเทศอาเซียน

ส่วนอีก 2 แกนทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้แก่

แกนที่ 1 อณาเขตขวานทองของไทย ต้องรักษาเขตแดนให้ดี และรับมือกับภัยคุกคามทุกรูปแบบให้รอบด้าน

แกนที่ 2 ไทยควรรุกไปนอกประเทศ เพื่อดูว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่อิทธิพลของไทย โดยตนได้วาดแผนผังไว้ คือ ทิศเหนือสุดที่รัฐฉาน เมียนมา ทิศตะวันตกไปสู่มหาสมุทรอินเดียและชายแดนเมียนมา ทิศใต้ติดกับเขตแดนไทย, อินเดีย, อินโดนีเซีย ส่วนทิศตะวันออกไปสุดทะเลจีนใต้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแกนทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทย ซึ่งเต็มไปด้วยภัยคุกคาม โอกาส และความท้าทาย โดยไทยควรจะต้องเดินหน้าการทูตเชิงรุก เข้าไปตั้งเวทีแลกเปลี่ยนในพื้นที่ ๆ อยู่นอกประเทศให้แข็งแรงมากขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active