‘โฆษกกลาโหมฝ่ายการเมือง’ แจงช่วย องค์การเภสัชกรรม ผลิตยาใช้ในยามวิกฤต ขณะที่ ‘พรรคประชาชน’ ตั้งคำถามผลิตยาควรเป็นหน้าที่กองทัพหรือไม่ ? ยืนยัน ความมั่นคงทางยา ควรอยู่ในมือ กระทรวงสาธารณสุข
จากกรณี สส.พรรคประชาชน อภิปรายตัดงบฯ กระทรวงกลาโหม ในส่วนของการสร้าง โรงงานเภสัชกรรมทหารแห่งใหม่ ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มูลค่า 938 ล้านบาท โดย ตั้งคำถามเกี่ยวกับ ยาซูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine)หรือยาที่เรียกกันว่า ยาเสียตัว ซึ่งยาชนิดนี้ไม่ค่อยมีจำหน่ายเพราะเป็นสารตั้งต้นยาบ้า ยาไอซ์ พร้อมตั้งข้อสังเกตุว่าไทยส่งออกยาไอซ์สูงสุดอันดับ 1
ล่าสุด วันนี้ (5 ก.ย. 67) จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมฝ่ายการเมือง พรรคเพื่อไทย บอกว่า แทบทั้งโลกเลิกผลิตซูโดอีฟีดรีนแล้ว ไปใช้ยาตัวอื่นนั้น ไม่เป็นความจริง วันนี้ยังมีการผลิตยาดังกล่าวเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาล เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ซึ่งเรื่องนี้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ หน่วยงานใดเป็นผู้ผลิต แต่ที่ผ่านมาคือการควบคุมการใช้ยา โดยปัจจุบัน ยาชนิดนี้ถูกจัดให้อยู่กลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 (วจ.2) การใช้ต้องขออนุญาตทุกครั้งและจำกัดการใช้ ในทางการแพทย์ ยาทั้ง 2 ตัว เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มที่ใช้รักษาภาวะอาการเดียวกัน ทั้งหมดจึงเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย
ส่วนวาทกรรมที่ว่า “การผลิตยาไม่ใช่ภารกิจของกองทัพ” และ “กองทัพทำงานที่ไม่ใช่ธุระ” พร้อมไล่เรียงเนื้อหาเพื่อเข้าสู่ปลายทางการตัดงบฯ สร้างโรงงานเภสัชกรรมทหารแห่งใหม่ที่ จ.ราชบุรีนั้น โฆษกกระทรวงกลาโหมฝ่ายการเมือง ชี้แจงข้อเท็จจริง คือ โรงงานเภสัชกรรมทหาร เกิดขึ้น พ.ศ. 2484 – 2488 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงที่การผลิตยาเพื่อช่วยเหลือประชาชน และ ทหารในภาวะสงคราม จนปัจจุบันยังอยู่ในสังกัดปลัดกระทรวงกลาโหม ผลิตยาเพื่อใช้ในกองทัพ และที่ผ่านมาโรงงานเภสัชกรรมทหาร ช่วย GPO องค์การเภสัชกรรม ภายใต้กำกับของกระทรวงสาธารณสุข ผลิตยาใช้ในยามวิกฤต เช่น ช่วงสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 ที่องค์การเภสัชกรรมผลิตยาไม่ทัน เช่นกัน
ส่วนการอภิปรายเชิงประชดประชันว่า “ทหารเป็นหวัดคัดจมูกกันเยอะขนาดนั้นเลยเหรอ” ทั้งที่โรงงานเภสัชกรรมทหาร ผลิตยาป้อนเข้าโรงพยาบาลอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้ยานี้ได้ เนื่องจากเป็นยาที่ควบคุมการผลิต จำเป็นที่จะต้องควบคุมการผลิต และส่งให้กับโรงพยาบาลเพื่อรักษาคนไข้ การยกเอาฤทธิ์ของยาที่ถูกจำกัดการใช้ และนำเหตุผลว่ายานั้นเป็นสารตั้งต้นของยาเสพติดขึ้นมาอภิปราย เพื่อ สร้างความกลัว ให้กับสังคม ทำให้เข้าใจผิดคิดว่า ยานี้ให้โทษมากกว่าให้คุณ เป็นสิ่งที่ผู้ที่เป็นแพทย์ ไม่สมควรทำ และ พรรคการเมืองเองก็ไม่สมควรที่จะเผยแพร่ข้อมูลด้านเดียวให้ประชาชนเข้าใจผิด
2 โรงงานยาของรัฐ กินส่วนแบ่งการตลาด 50%
ทั้งนี้ข้อมูลจากจาก ศูนย์วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ปัจจุบันมูลค่าอุตสาหกรรมยาไทย ปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท เป็นยานำเข้า 70% และผลิตในประเทศ 30%
สำหรับยาที่ผลิตในประเทศมาจากหน่วยงานรัฐ 2 หน่วยงาน คือ องค์การเภสัชกรรม (GPO) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข กับ โรงงานเภสัชกรรมทหาร สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กินส่วนแบ่งการตลาด 50%
ส่วนที่เหลืออีก 50% เป็นยาที่ผลิตจากโรงงานยาบริษัทเอกชน โดยไทยนำเข้าวัตถุดิบยา 90% ของปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยาสำเร็จรูป และยาที่ผลิตในไทย 90% ใช้ในประเทศ อีก 10% ส่งออก
ความมั่นคงทางยา ควรอยู่ในมือ กระทรวงสาธารณสุข ?
ขณะที่เพจ พรรคประชาชน โพสต์ระบุ ขอแก้ไขเนื้อหา กรณีโรงงานเภสัชกรรมทหารเพื่อความถูกต้องครบถ้วน และขออภัยประชาชนสำหรับความคลาดเคลื่อนในเนื้อหาก่อนหน้านี้
โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงการผลิตยาและเวชภัณฑ์เพื่อใช้ภายในประเทศ คนทั่วไปย่อมนึกถึงองค์การเภสัชกรรม (GPO) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีอีกหน่วยงานรัฐที่คุณอาจไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะทำภารกิจนี้ด้วย นั่นคือ โรงงานเภสัชกรรมทหาร สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ทุกปีจะได้รับจัดสรรงบประมาณจากรัฐเพื่อทำงานเดียวกันกับหน่วยงานสาธารณสุข
กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ยกเรื่องนี้มาอภิปรายในการพิจารณางบประมาณ 2568 วาระ 2-3 เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมาตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติในคำของบประมาณก่อสร้างโรงงานเภสัชกรรมทหารแห่งใหม่ ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มูลค่า 938 ล้านบาท
แรกเริ่มเดิมที โรงงานเภสัชกรรมทหารนั้นมีอยู่แล้ว แต่เหตุผลที่มีการของบประมาณ 938 ล้านบาทเพื่อสร้างโรงงานแห่งที่ 2 นี้ขึ้นมา สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า เป็นเพราะเหตุผลด้านความมั่นคง ต้องการขยายกำลังการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลตัวเองของประเทศ ยามเกิดภัยสงครามจะได้มียาใช้อย่างเพียงพอ
โดยจากการชี้แจงของตัวแทนกองทัพ ปัจจุบัน โรงงานเภสัชกรรมทหารผลิตยาได้ 20 รายการ และหากมีการสร้างโรงงานใหม่จะเพิ่มเป็น 35 รายการ แต่ทว่าในแคตาล็อกของโรงงานกลับระบุว่า ปัจจุบันมีการผลิตและจำหน่ายยาไปแล้ว 63 รายการ
ผู้ชี้แจง ยังระบุอีกว่า การก่อสร้างเพื่อขยายกำลังการผลิตโรงงานแห่งที่ 2 ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จะทำให้มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าตัวจาก 1,032 ตารางเมตรเป็น 2,400 ตารางเมตร และจะมีกำลังผลิตยามากขึ้นถึง 3.3 เท่าตัว จากที่ผลิตได้ 180 ล้านเม็ดต่อปี เพิ่มเป็น 600 ล้านเม็ดต่อปี
แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลดังกล่าวประกอบกับข้อมูลด้านการเงินที่ทางหน่วยงานชี้แจงมา จะพบข้อผิดสังเกตทันที เพราะที่ผ่านมากำไรจากการขายยาโดยโรงงานเภสัชกรรมทหาร มีเพียง 3-5 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น แต่การชี้แจงกลับระบุว่า หากสร้างโรงงานเพิ่มขึ้นแล้ว จะมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 50 ล้านบาทต่อปี หมายความว่ากำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 3.3 เท่าตัว แต่กำไรจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าตัว อย่างนั้นหรือ
สำหรับประเด็นสำคัญที่ กัลยพัชร ชี้ให้เห็น คือ เรื่องการจัดสรรทรัพยากร โดยเฉพาะงบประมาณภายใต้กระทรวงกลาโหม ในสัดส่วนนี้ ซึ่งตั้งคำถามได้ว่า ซ้ำซ้อนกับงบประมาณกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ ? ประเทศไทยควรพิจารณาถ่ายโอนธุรกิจ หรือกิจการนี้ของกองทัพ ให้ไปอยู่กับหน่วยงานด้านสาธารณสุข ความมั่นคงทางยาควรอยู่ในมือขององค์กรที่รับผิดชอบภารกิจโดยตรง ในที่นี้คือองค์การเภสัชกรรม
สุดท้าย กัลยพัชร ขอปรับลดงบประมาณในการสร้างโรงงานเภสัชกรรมทหารแห่งที่ 2 ลงทั้งหมด จำนวน 938 ล้านบาท เพื่อลดความซ้ำซ้อนของภารกิจซึ่งส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ การผลิตยาไม่ควรเป็นภารกิจของกองทัพ แต่ควรถูกถ่ายโอนให้หน่วยงานหลักอย่างองค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข
สำหรับ ยาที่ผลิตน้อย บริษัทเอกชนผลิตไม่คุ้มค่า แต่ยังจำเป็นต้องใช้ในการทหาร ก็สามารถใช้จ้างผลิตได้ กองทัพไม่จำเป็นต้องตั้งโรงงานผลิตเอง ซึ่งจะเป็นภาระงบประมาณของประเทศโดยไม่จำเป็น
กรณีโรงงานเภสัชกรรมทหารนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของกิจการกองทัพที่พรรคประชาชนเห็นว่าควรมีการพิจารณาถ่ายโอนไปยังหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้รับผิดชอบหลัก เช่นเดียวกับกิจการสถานีบริการน้ำมัน, สนามกอล์ฟ, ธุรกิจตลาดนัด, กิจการสโมสร, โรงแรม สนามมวย, สนามม้า, กิจการผลิตไฟฟ้า ที่สภาผู้แทนราษฎรเองได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาถ่ายโอนไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลักเช่นกัน
ดูเพิ่มเติมรายละเอียด โครงการก่อสร้างโรงงานของกองทัพ