อย่าให้เงียบ! คืบหน้าข้อพิพาทที่ดิน ‘เกาะหลีเป๊ะ’ จี้ นายกฯ เร่งสางปัญหาให้จบ

ล่าสุด สคทช. รุดลงพื้นที่ อ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ เดินหน้าแก้ปัญหาตามมาตรา 61 ประมวลกฎหมายที่ดิน ขณะที่ กสม. ชี้ กรมที่ดิน เพิกถอนเอกสารสิทธิทับที่ชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ ล่าช้า สะท้อนการละเมิดสิทธิ แนะเร่งแก้ไข

วันนี้ (16 ก.ย. 67) รศ.ธนพร ศรียากูล ในฐานะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เปิดเผยกับ The Active ว่า ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการนโยบายทื่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ซึ่งได้รับมอบหมายจาก คณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ซึ่งมี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เป็นประธานก่อนพ้นตำแหน่ง มีความคืบหน้าของการแก้ปัญหา เพราะในสัปดาห์นี้ สคทช. พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการลงพื้นทื่ เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เพื่อประชุมเชิงปฏิบัติการแก้ปัญหาพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ และดำเนินการกลั่นกรองผลการอ่านภาพถ่ายทางอากาศทั้งเกาะหลีเป๊ะ จากกรณีปัญหาข้อพิพาทที่ดิน ออกเอกสารสิทธิที่ดินคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงแล้วละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย มายาวนานกว่า  30 ปี

โดยในรอบนี้ หลักฐานสำคัญคือ การอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ โดยจะทำให้ตัวเอกสารต่าง ๆ ที่มีถูกพิสูจน์ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำโดย สคทช. จะเดินพื้นที่จริง พร้อมกับการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ที่เกาะหลีเป๊ะ ดังนั้นปฏิบัติตลอดทั้งสัปดาห์นี้ จึงเป็นปฏิบัติการที่สำคัญมาก เพราะเป็นการอ่านเปรียบเทียบกับภาพถ่ายทางอากาศหลาย ๆ ปี ซึ่งผลการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศจะต้องแล้วเสร็จภายใน 30 ก.ย.นี้ เพราะว่าเป็นคำสั่งจากฝ่ายนโยบาย คือ นายกรัฐมนตรี ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุค เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งผลการอ่านแปลออกมาเป็นอย่างไร กรมที่ดินในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบตามมาตรา 61 ประมวลกฎหมายที่ดิน ต้องเอาผลการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศรอบนี้ไปพิจารณา ดำเนินการให้เป็นไปตามผลการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ

รศ.ธนพร ศรียากูล กรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวกับชุมชนชาวเล
เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล 

“คือพูดตรง ๆ ว่า ที่ผ่านมาการทำงานของคณะกรรมการตามมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่ได้มีการนำผลการแปลภาพถ่ายทางอากาศเข้าไปประกอบการพิจาณา เพราะฉะนั้นที่มีการสั่งการให้สคทช.อ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ จึงเป็นหลักฐานสำคัญ ที่ทำให้การทำงานของคณะกรรมการตามมาตรา 61 ดิ้นไม่ได้ เพราะว่า จะขัดแย้งกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้  เพราะหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ได้  ขณะที่ผ่านมากรรมการตามมาตรา 61 ท่านก็อาจเชื่อในหลักฐานของท่าน เช่นหลักฐานเอกสารอะไรต่างๆ  ซึ่งก็เป็นที่น่าสงสัยอยู่ ว่าเอกสารเหล่านั้น  มันมีความน่าเชื่อถือ มันมีข้อพิรุธมากมาย ดังนั้นการใช้ผลการอ่านแปลถาพถ่ายทาอากาศจึงเป็นข้อยุติสำหรับทุกฝ่าย  ”

รศ.ธนพร ศรียากูล

รศ.ธนพร กล่าวต่อว่า ถ้าผลอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศออกมาแล้ว คณะกรรมการตามมาตรา 61 ยังไม่ดำเนินการ ให้เป็นไปตามผลอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ คณะกรรมการตามมาตร 61 มีความเสี่ยงที่จะต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะกรรมการทุกท่าน ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำในอดีต เพราะฉะนั้นแล้ว ก็ย้ำว่าทุกฝ่ายที่สนใจเรื่องนี้ควรส่งกำลังใจไปให้พี่น้องชาวเล และคณะกรรมการ ที่จะทำงานกันที่้กาะหลีเป๊ะ

เสนอ นายกฯ อุ๊งอิ๊ง ตั้ง คกก.สานต่อ สางปมเกาะหลีเป๊ะให้จบ!

รศ.ธนพร ยังชี้ว่า อีกส่วนที่สำคัญมาก ที่จะทำให้การทำงานครั้งนี้เดินหน้าโดยไม่สะดุด คือ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจเต็มแล้วหลังแถลงนโยบาย ควรต้องเร่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ซึ่งครั้งนี้เสนอ ชาญเชาว์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน เพื่อเป็นการสานต่อการทำงานจากรัฐบาลชุดที่แล้ว

คราวนี้อยู่ที่ตัวรัฐบาล ว่าจะสร้างผลงานเป็นรูปธรรมไหม  โดยเฉพาะการแก้ปัญหาคนจนคนชายขอบ เพราะว่านายกฯบอกเองว่า คนไทยต้องมีกิน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี สร้างโอกาสเศรษฐกิจให้คนเปราะบาง  ดังนั้นเพื่อเป็นการทดสอบคำพูดของท่านนายกฯ ก็คิดว่าต้องเริ่มจากงานที่หลีเป๊ะก่อนก็ได้ เกาะเล็กๆเกาะเดียว ระดับท่านนายกฯ หรือนายน้อย ก็น่าจะแก้ปัญหาให้จบได้   

“ผมเรียนว่าถ้าไม่ทำ ก็แปลว่าที่พูดว่า มีกินมีใช้  มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มันไม่จริง พื้นที่เกาะหลีเป๊ะมีนิดเดียว แล้วในทางนโยบาย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เดินหน้าต่อได้ทันที เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง เข้าสู่กระบวนการของหน่วยงานตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว พูดกันง่าย ๆ ว่าโครงสร้างคณะกรรมการฯ ที่เดิมบิ๊กโจ๊กทำไว้ ตอนนี้ได้มีการเสนอผู้มาทำหน้าที่แทน ท่านนายกฯ ก็เพียงแต่สานต่องานของกรรมการชุดนี้ งานเรื่องคืนความเป็นธรรมให้พี่น้องชาวเล ก็จะสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง ผมยังมองในแง่ดี ว่าทางทีมงานท่านนายกฯ มีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหา แต่อย่างไรก็ตามรอท่านนายฯลงนามคำสั่งตั้งคณะกรรมการฯ เพราะเมื่อมีการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศเสร็จแล้ว คณะกรรมการฯ ชุดนี้ ก็จะทำหน้าที่เสนอนายกฯถึงผลการอ่านแปล แล้วก็จะให้ท่านนายกฯ ได้มีบัญชาให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิต่าง ๆ ตามมาตรา 61 ประมวลกฎหมายที่ดิน ก็พูดกันง่าย ๆ ว่าเหลืออีกนิดเดียว จึงอยากย้ำว่าการลงพื้นที่สัปดาห์นี้ จึงมีความสำคัญกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาล และพี่น้องชาวเลเอง”

รศ.ธนพร ศรียากูล

รศ.ธนพร ยังขอให้สังคมร่วมจับตาติดตามเรื่องนี้ ซึ่งหากมีการแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินเกาะหลีเป๊ะที่ยืดเยื้อเป็นมหากาพย์ยาวนานนี้ได้ ก็จะเป็นบทพิสูจน์สำคัญความจริงใจของรัฐบาล และจะเป็นแบบอย่างการแก้ปัญหาให้ประชาชนที่เผชิญปัญหาที่ดินลักษณะเดียวกันทั่วทั้งประเทศ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ชาวบ้าน

กสม. ชี้ กรมที่ดิน เพิกถอนเอกสารสิทธิทับที่ชาวเลล่าช้า ถือเป็นการละเมิดสิทธิ

ก่อนหน้านี้ วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย จำนวน 5 คำร้อง ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 – ธันวาคม 2565 

โดยประสบปัญหาจากกรณี มีบุคคลอ้างสิทธิในที่ดินรวมจำนวน 3 แปลง ซึ่งทับซ้อนกับที่ดินของชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ที่ยืนยันอยู่มาแต่ดั้งเดิม ก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จึงทำให้เกิดข้อพิพาทในพื้นที่ เช่น มีการดำเนินคดีเพื่อไล่รื้อที่อยู่อาศัยของชาวเลให้ออกจากที่ดิน มีการถมหนองน้ำที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกันและปิดกั้นทางสาธารณประโยชน์สำหรับเดินทางไปโรงเรียน โรงพยาบาล สุสาน รวมถึงทางสัญจรของนักท่องเที่ยว ทั้งยังมีการออกเอกสารสิทธิทับซ้อนสุสานซึ่งเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ส่งผลให้ผู้ร้องและชาวเลในชุมชนประมาณ 150 หลังคาเรือน หรือกว่า 500 คน ได้รับความเดือดร้อน โดยปัญหาดังกล่าวมีมาอย่างยาวนาน และยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชน โดยรัฐมีหน้าที่ต้องส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) ที่รับรองสิทธิในการมีที่อยู่อาศัย และมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว

วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

โดยกรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 3 ประเด็น

  • ประเด็นที่ 1 ชุมชนชาวเลอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะ ควรได้รับการคุ้มครองในการอนุรักษ์ บริหารจัดการ และใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ และได้รับการส่งเสริมให้สามารถดำรงชีวิตตามวิถีชีวิตดั้งเดิมจากหน่วยงานของรัฐ หรือไม่ เห็นว่า ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่อาศัยบนเกาะหลีเป๊ะมาตั้งแต่ปี 2440 จนกระทั่งตั้งเป็นชุมชน มีจำนวน 320 ครอบครัว จึงต้องได้รับการส่งเสริม ให้ความคุ้มครอง และควรได้รับสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข สอดคล้องกับการที่ชุมชนชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ-เกาะอาดัง ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  ตามแนวทางของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล

  • ประเด็นที่ 2 การที่กรมที่ดิน (ผู้ถูกร้องที่ 1) ไม่ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนกรณีมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยคลาดเคลื่อน ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อเพิกถอนหรือแก้ไขเอกสารสิทธิในที่ดินทั้ง 3 แปลงซึ่งทับซ้อนที่ดินอันเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เห็นว่า เอกชนผู้อ้างเอกสารสิทธิในที่ดินเดิมคือ ส.ค. 1 (ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน) แปลงเลขที่ 10 และเลขที่ 11 รวมจำนวน 2 แปลง ยื่นขอออก น.ส. 3 (หนังสือรับรองการทำประโยชน์) โดยระบุเนื้อที่เพิ่มมากขึ้นจากหลักฐานเดิมและจากภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งปรากฏให้เห็นว่า ที่ดินทั้งสองแปลงรุกล้ำที่ดินของชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ มีเจตนาที่จะนำที่ดินที่ชุมชนชาวเลอยู่อาศัย รวมถึงที่ดินสำหรับใช้ประโยชน์ร่วมกันของชาวเลเกาะหลีเป๊ะมาเป็นของตน และผลจากการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อน ทำให้ที่ดินทั้งสองแปลงรุกล้ำที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนเป็นเหตุให้มีการฟ้องขับไล่ชาวเลอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะ มีการกีดกันการใช้ประโยชน์ของที่ดิน และมีการปิดกั้นทางเดินสาธารณะซึ่งทำให้ประชาชนทั่วไปที่ใช้ทางเดินสาธารณะได้รับความเดือดร้อนด้วย


    ส่วนที่ดินอีก 1 แปลง คือ ส.ค. 1 แปลงเลขที่ 7 แม้จะยังไม่ได้ขอออก น.ส. 3 แต่พบว่ามีการครอบครองที่ดินเกินกว่าที่ระบุใน ส.ค. 1 และเมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายทางอากาศปรากฏว่าทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชน นอกจากนี้ยังพบว่าเอกชนผู้อ้างเอกสารสิทธิทั้ง 3 แปลง ครอบครองที่ดินเนื้อที่เกินจากหลักฐาน จนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตาด้วย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่ดินทั้ง 3 แปลง เป็นการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อน แต่กรมที่ดินไม่ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยคลาดเคลื่อน ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชร้องขอ ตั้งแต่ความปรากฏครั้งแรกในปี 2557 เพื่อพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขเอกสารสิทธิแปลงพิพาทให้ถูกต้อง ส่งผลให้ชาวเลที่อยู่อาศัยบนเกาะหลีเป๊ะได้รับความเดือดร้อน จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ยและชาวเลที่อยู่บนเกาะหลีเป๊ะ

  • ประเด็นที่ 3 กรณีเอกชน (ผู้ถูกร้องที่ 2) ปิดกั้นทางสาธารณประโยชน์ เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งอ้างการครอบครองที่ดิน น.ส. 3 แปลงเลขที่ 11 ปิดกั้นทางเดินสาธารณะ ส่งผลให้ชาวเลอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะรวมถึงประชาชนรายอื่นที่ใช้ประโยชน์ทางเดินสาธารณะได้รับความเดือดร้อน เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องและชาวเลอูรักลาโว้ยที่อยู่บนเกาะหลีเป๊ะ แต่อย่างไรก็ตามอำเภอเมืองสตูลได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ผู้ถูกร้องที่ 2 รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่ปิดกั้นทางสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อเปิดเส้นทางแล้ว แต่การดำเนินคดีเพื่อเปิดเส้นทางเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาซึ่งใช้ระยะเวลานาน จึงยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนบนเกาะหลีเป๊ะได้ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่ออำเภอเมืองสตูลเพื่อดำเนินการต่อไป
แผนที่ชุมชนเกาะหลีเป๊ะ

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา จึงมีข้อเสนอแนะให้กรมที่ดิน (ผู้ถูกร้องที่ 1) เร่งรัดสอบสวนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยคลาดเคลื่อน ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งสำรวจการถือครองและการทำประโยชน์ของชาวเลเกาะหลีเป๊ะทุกครัวเรือน ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้สอดคล้องกับประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล

นอกจากนี้ ให้อำเภอเมืองสตูลเร่งแก้ไขปัญหาการปิดกั้นทางเดินสาธารณะให้แก่ประชาชนบนเกาะหลีเป๊ะ และให้ร่วมกับจังหวัดสตูลตรวจสอบพื้นที่ลำรางสาธารณะ พื้นที่สาธารณะภายในชุมชนเกาะหลีเป๊ะ ได้แก่ ทางสัญจรสาธารณะ สุสานบรรพบุรุษ และจุดจอดเรือหน้าหาดเพื่อการประมง รวมทั้งให้จังหวัดสตูลและสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสตูล จัดให้มีผังเมืองเกาะหลีเป๊ะ เพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์และการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่เกิดขึ้นโดยสภาพหรือจากการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active