Policy Forum เปิดกระบวนการสร้างนโยบายดี แนะมี หน่วยงาน GSR : Government Social Researcher กวาดสัญญาณ, งานวิจัย สู่ การทำนโยบายที่ประชาชนต้องการ
วันนี้ (18 ก.ย. 67) Policy Forum ครั้งที่ 19 “การเมืองสะดุด ต้องไม่ฉุดนโยบายดี” พูดถึงการส่งไม้ต่อจากรัฐบาล “เศรษฐา” สู่ “แพทองธาร” แม้พรรคเพื่อไทยจะยังคงเป็นแกนนำรัฐบาล แต่การเปลี่ยนแปลงการเมืองอาจทำให้หลายนโยบายต้องถูกปรับเปลี่ยน หรือสะดุดหยุดลง เช่น นโยบายเรือธงอย่าง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่ถูกเปลี่ยนรูปไป และอาจกลายเป็นผลกระทบมากกว่าประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ
“อรุชิตา อุตมะโภคิน บรรณาธิการ The Active” ระบุ การปรับเปลี่ยนในช่วงเปลี่ยนผ่าน ส่งผลให้คนทำข่าวติดตามนโยบาย ทำหน้าที่ยาก จึงมองว่าคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียอาจได้รับผลกระทบที่ยากกว่า และมองว่า หลายนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา มักเป็นนโยบายเร่งด่วน เห็นผลไว และหวังผลในทางการเมือง ทำให้หลายนโยบายมีความไม่แน่นอน
ซึ่งกลไกการทำนโยบายไม่ได้อยู่แค่การเมือง แต่อยู่ในรัฐราชการ จึงควรมีกลไกบางอย่างที่ทำให้ “นโยบายสำคัญยังคงอยู่ไม่หายไปไหน” โดยนึกถึงนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค, เรียนฟรี, เบี้ยยังชีพ ซึ่งเป็น 3 นโยบายสำคัญที่ไม่เคยเปลี่ยน แม้จะเปลี่ยนผ่านไปกี่รัฐบาล
การทำนโยบายออกแบบจากปัญหา แต่ประชาชนเข้าถึงยาก ทั้งที่นโยบายเป็นเรื่องในทุกช่วงชีวิตของผู้คน พร้อมย้ำ “นโยบายควรเกิดได้ โดยไม่ต้องรอวิกฤต ประชาชน อยากจะมีส่วนร่วม แต่อาจไม่รู้ว่าต้องมีส่วนร่วมช่องทางไหนได้บ้าง” เป็นโจทย์ใหญ่ที่สื่อสารมวลชนต้องทำหน้าที่ต่อเพื่อให้นโยบายเหล่านี้เข้าถึงและประชาชนสามารถติดตามตรวจสอบได้ง่ายเช่นกัน
ขณะที่ภาคประชาชน “นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่าย We Fair” ระบุ การเลือกตั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา มีการแข่งขันเชิงนโยบายที่ค่อนข้างสูง ขณะที่ เครือข่าย We Fair ผลักดันทั้งหมด 9 ข้อเสนอนโยบาย และมีประเด็นย่อย 30 เรื่องโดยเน้นการขับเคลื่อนงานผ่าน 3 สนาม ประกอบด้วย พรรคการเมือง, ภาครัฐ, นิติบัญญัติ
เช่น การทำงานร่วมกับภาครัฐ ที่ผ่านมา ทำงานร่วมกับ เครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) มีการตั้งคณะทำงานจนในที่สุดผ่านมติสำคัญเรื่องการยกระดับ “สวัสดิการ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และคนพิการ” รวมแล้วใช้งบประมาณ 59,000 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้นำเข้า ครม. บางประเด็นมีการระบุชัดในปีงบประมาณ 68 แต่ปรากฎว่าไม่สามารถผลักดันได้ทันในปีงบประมาณ 68 สะท้อนชัดว่า แม้จะมีมติ ครม.ชัด แต่พอเปลี่ยนรัฐบาล คณะทำงานก็อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
รัฐธรรมนูญ มีผลต่อ “นโยบาย” นักวิชาการ แนะ ออกแบบกติกาที่ประชาชนรู้สึกเป็น “เจ้าของนโยบาย”
“ณัชปกร นามเมือง เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ” ชี้ รัฐธรรมนูญ เป็นส่วนสำคัญในการสร้าง ยุทธศาสตร์ชาติ และ แผนปฏิรูปนโยบาย แต่ รัฐธรรมนูญ 60 ไม่ได้มาจากฐานคิดประชาชน ผ่านประชามติแบบมัดมือชก และออกแบบมาจากคน 3 กลุ่ม คือ “กลุ่มนายทุน ขุนศึก ศักดินา” ทำให้แผนผูกมัดทุกรัฐบาล แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตอบโจทย์รัฐราชการ แต่ไม่ตอบโจทย์ประชาชน ในทางกลับกันสิ่งที่ควรเกิดขึ้น คือ แผนต้องมีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม จนบอกได้ว่า นี่เป็นแผนที่ประชาชนต้องการจนรัฐบาลปฏิเสธไม่ได้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะวางเพียงโครงสร้างไม่พอ ต้องตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลก ขณะที่ คีย์สำคัญ คือ ความต่อเนื่องของนโยบาย ที่ไม่ใช่แค่ การตั้งคณะกรรมการศึกษา ทุกครั้งที่ต้องการแก้ปัญหา
รัฐธรรมนูญ 60 ออกแบบมาจากคน 3 กลุ่ม คือ “กลุ่มนายทุน ขุนศึก ศักดินา” แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตอบโจทย์รัฐราชการ แต่ไม่ตอบโจทย์ประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะวางเพียงโครงสร้างไม่พอ ต้องตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลก
ณัชปกร นามเมือง เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ
ขณะที่ “สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า” ชี้ การก่อรูปนโยบายเริ่มต้นที่พรรคการเมือง เพื่อนำออกมาสู่การเลือกตั้ง จึงควรออกแบบกติกาให้เกิดการนำเสนอเชิงนโยบายตั้งแต่ต้น โดยไม่ตาม Tracking นโยบายเพียงอย่างเดียว พร้อมตั้งคำถาม
จะดีกว่าหรือไม่หากนโยบายผ่านมาจากการรวบรวมความเห็นของประชาชนตั้งแต่ต้น เพื่อให้ประชาชนรับรู้ และรู้สึกเป็นเจ้าของ ?
สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
เสนอมีหน่วยงาน GSR : Government Social Researcher กวาดสัญญาณ, งานวิจัย สู่ การทำนโยบายที่ประชาชนต้องการ
“ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล ภาควิชาการสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” ชี้ การเมืองสะดุดทำให้นโยบายดีเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะต้องคิดทั้งระบบ ไม่ใช่แค่การทำแผน แต่ไทยมีระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน โดยหลักการสำคัญประกอบด้วย 7 กระบวนการ คือ
- ความสนใจของประชาชน
- ความคาดหวังประชาชน
- การกวาดสัญญาณ ความสนใจประชาชน
- ตัวกลาง พรรคการเมือง การเลือกตั้ง
- สู่การกำหนดนโยบายของ “นักการเมือง”
- การดำเนินนโยบายโดย “ราชการ”
- ออกมาเป็น ผลผลิต “นโยบาย กฎหมาย แผน ฯลฯ”
อาจารย์ย้ำว่า ในความเป็นวิถีประชาธิปไตยตัวแทน บทบาทสำคัญที่จะเปลี่ยน “ความคาดหวังประชาชน” สู่นโยบาย โดยผู้กำหนดนโยบายที่ถืออำนาจรัฐให้ได้ เป็นพันธะสัญญาที่หน่วยงานรัฐต้องแสดงความพร้อมสะท้อนสัญญาณเสียงสะท้อนจากประชาชน แต่ในความเป็นจริง ไม่เป็นแบบนั้น การทำนโยบายหลายจุดสะดุดหยุดลง หน้าที่สำคัญคือการมีกลไกที่ทำให้ “เส้นตัวแทนเข้มแข็ง สะท้อนเสียงสัญญาณของประชาชน”
ยกตัวอย่าง หน่วยงาน GSR : Government Social Researcher ในต่างประเทศ มีบทบาทสำคัญในการ “กวาดสัญญาณความต้องการของประชาชน งานวิจัย เพื่อแปลงสิ่งเหล่านี้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย” คนทำงานนวัตกรรมเชิงนโยบาย ต้องใช้เครื่องมือ กวาดหาสัญญาณ เอาข้อมูลมาวิเคราะห์เทรนด์ แนวโน้ม วิเคราะห์ภูเขาน้ำแข็ง ให้เจอกับรากปัญหาที่แท้จริง เพื่อแปลงความสนใจของประชาชนสู่ความหวังในการทำนโยบาย
วงเสวนายังได้ทิ้งท้าย 4 ประตูการตรวจสอบรัฐบาล โดยประชาชน ประกอบด้วย
- ประตูที่ 1 รัฐธรรมนูญ สร้างกลไกให้พรรคการเมืองนำเสนอนโยบาย และให้ กกต.ตรวจสอบ แต่ที่ผ่านมามักมีข้ออ้างเรื่อง “ไม่ได้รัฐบาล และมีพรรคร่วมรัฐบาลทำให้สานต่อนโยบายไม่สะดวก” เรียกว่ามีกลไกให้ตรวจสอบ แต่ในทางปฏิบัติตรวจสอบได้ยาก
- ประตูที่ 2 การแถลงนโยบาย การบอกแหล่งที่มาของงบประมาณ เป็นการเปิดช่องตรวจสอบได้
- ประตูที่ 3 ช่องทางกฎหมาย สู่ การปฏิบัติงานของสภาฯ แม้ข้อมูลจะรวดเร็ว มีเยอะ แต่ค่อนข้างหายาก
- ประตูที่ 4 มติ ครม. เน้นการแถลงผ่าน ครม.ทุกวันอังคาร 3-6 เดือน และ 1 ปี ก็เป็นอีกช่องทางที่ตรวจสอบได้
รวมถึงช่องทางที่หลากหลายอย่างแพลตฟอร์มออนไลน์ จากเครือข่ายภาคประชาชนที่หลากหลาย เช่น WeVis, Policy watch ฯลฯ ด้าน “ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง WeVis” ที่ติดตามการเมืองมาตลอด ระบุ ผ่านมาแล้ว 1 ปี รัฐบาลเศรษฐาผ่านกฎหมายเพียง 2 ฉบับ เท่านั้น เวลานี้กำลังทำข้อมูลด้านงบประมาณต่อเนื่อง เพราะ “งบประมาณ” สะท้อนถึงความตั้งใจและการให้ความสำคัญของนโยบาย ยืนยันจะทำข้อมูลต่อเพื่อกระตุ้นให้รัฐทำหน้า และปกป้องสิทธิ์ให้กับประชาชน ซึ่งพบว่าประชาชนให้ความสนใจ ติดตามข้อมูลกับ WeVis เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าเวลานี้มีหลายหน่วยงานที่พยายามทำงาน เพียงแต่ไม่มีกลไกเชื่อมประสานกันเท่านั้น