อีก 8 วัน!! ก่อน ‘คดีตากใบ’ หมดอายุความ ห่วงสถานการณ์ส่อเค้าตึงเครียด ส่งผลต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพชายแดนใต้ หวั่นเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลใหญ่ที่สุดในความขัดแย้ง
วันที่ (17 ต.ค. 67) พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กมธ.สันติภาพชายแดนใต้) แถลงระบุว่า ตามที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา กรรมาธิการฯ หลายท่าน ทั้งที่เป็นฝ่ายวิชาการ ตัวแทนเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึง สส. ในพื้นที่ แสดงความกังวลตรงกันว่า ขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียง 8 วัน ก่อนคดีตากใบหมดอายุความ แต่ตำรวจยังไม่สามารถติดตามนำตัวจำเลยมาส่งศาลได้แม้แต่คนเดียว ซึ่งคดีนี้เป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจติดตามทั่วประเทศ มีการรายงานข่าวทุกวัน และประชาชนในพื้นที่เองก็สอบถาม สส. ตลอดเวลาว่าเมื่อไหร่จะจับกุมตัวจำเลยได้ โดยทุกฝ่ายมีข้อกังวลตรงกันว่าคดีจะหมดอายุความลงในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ โดยไม่สามารถนำตัวจำเลยมาขึ้นศาลได้
หากสถานการณ์เป็นไปตามที่คาด คณะกรรมาธิการฯ เชื่อว่าจะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสถานการณ์และกระบวนการสันติภาพในชายแดนใต้ ทั้งการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในพื้นที่ และการเจรจาสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ เนื่องจากคดีนี้เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลใหญ่ที่สุดแผลหนึ่งในความขัดแย้ง และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากนานาชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC
คณะกรรมาธิการฯ จึงมีมติให้เชิญ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, ฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ พล.ท. ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 มาร่วมหารือกับคณะกรรมาธิการฯ ในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ เพื่อประเมินผลกระทบจากคดีตากใบที่จะหมดอายุความ และหารือเพื่อออกแนวทางการรับมือที่เหมาะสม เพื่อธำรงกระบวนการสร้างสันติภาพและความปรองดองสมานฉันท์ในพื้นที่ชายแดนใต้ต่อไป
พรรณิการ์ ยังนระบุถึงการลาออก จากสมาชิกพรรคเพื่อไทยของ พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ไม่เกี่ยวข้องกับสถานะจำเลยในคดีตากใบ ซึ่งสถานะจำเลยยังคงอยู่ และเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลการแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่มากพอในการนำตัวผู้ถูกกล่าวหาและผู้ถูกออกหมายจับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้
ส่วนข้อคิดเห็นว่าคดีตากใบได้รับการเยียวยาและควรที่จะจบได้แล้วนั้น การเยียวยาเป็นเรื่องที่ดีเป็นการแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่การรับเงินเยียวยานั้นเป็นคนละเรื่องกับการดำเนินการทางอาญา ซึ่งในคดีตากใบไม่มีญาติพี่น้องคนใดที่ได้รับเงินเยียวยาไปแล้วเซ็นเอกสารยินยอมว่าจะไม่ดำเนินคดีอาญา
“การจ่ายเงินเยียวยาไม่ได้หมายความว่านำมาซึ่งการปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริงได้ ไม่ได้หมายหมายความว่ารับเงินแล้วจบ ถ้ารับเงินแล้วจบดิฉันคิดว่าต้องกลับมาตั้งคำถามกับคดีสลายการชุมนุมเสื้อแดงว่าคดีเสื้อแดงรับเงินไปแล้วก็ต้องจบเหมือนกันหรือไม่”
พรรณิการ์ วานิช
โฆษก กมธ.สันติภาพฯ บอกด้วยว่า ในฐานะนักการเมือง การเตรียมรับมือกับคดีตากใบ ไม่ต้องการให้คำนึงถึงเรื่องคะแนนเสียงในพื้นที่ แต่ทุกพรรคการเมืองมีหน้าที่รับใช้ประชาชนไม่ว่าอยู่พรรคการเมืองใด โดยเชื่อว่าประชาชนทั้งประเทศเห็นตรงกันว่าผู้เสียชีวิตไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ จากการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ประมาท และการสลายการชุมนุมที่ใช้อาวุธหนัก หน้าที่ของรัฐบาลคือทำให้ประชาชนกลับมาไว้เนื้อเชื่อใจรัฐบาล ซึ่งเป็นรากฐานนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้