‘เครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานี’ เชื่อฤดูฝนใต้ปีนี้หนักแน่ เสนอเชื่อมประสานข้อมูล การทำงานฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ครอบคลุมการจัดการภัยพิบัติทุกมิติ ให้ทันสถานการณ์ที่นับวันรุนแรงมากขึ้น
ผศ.สมพร ช่วยอารีย์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะหัวหน้าโครงการพีบีวอทช์ เครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานี เปิดเผยกับ The Active ย้ำว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลระบบติดตามการรายงานสภาพอากาศ ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการแจ้งข้อมูลจากเครือข่ายประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยต่าง ๆ ประเมินว่าสถานการณ์น้ำในภาคใต้ที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูฝนต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ จะหนักกว่าปีที่ผ่านมา
เพราะปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในแต่ละปีของพื้นที่ภาคใต้จะมีราว 1,700 มิลลิเมตร ซึ่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาฝนได้ตกไปเพียง 800 มิลลิเมตร ยังเหลืออีกราว 900 มิลลิเมตร ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าฝนจะมาตกหนักในช่วง 2-3 เดือนในช่วงหน้าฝน ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงแรงได้ในภาคใต้
ทั้งนี้มองว่า เป็นเรื่องดีที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเริ่มตื่นตัว ทั้งการตั้งกลไก ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ที่ จ.ยะลา เป็นครั้งแรก และการตั้งกลไกของจังหวัดในการป้องกันและยับยั้งภัยพิบัติ เช่นที่ จ.ปัตตานี รวมไปถึงการดึงกองทัพอากาศเข้ามามีส่วนร่วม นำเทคโนโลยีมาเฝ้าระวังอุทกภัยทางอากาศ ที่ทำให้เห็นสภาพพื้นที่และข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่สุด หากนำมาใช้กับงานวิชาการ เช่น เครื่องมือการวิเคราะห์ที่ทำอยู่ ก็จะทำให้การวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำ น้ำท่วม ดินโคลนถล่มแม่นยำมากขึ้น
นอกจากนี้ยังเห็นว่าปัจจุบัน มีข้อมูลวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัยในการจัดการภัยพิบัติที่หลากหลายมิติ ไม่ใช่แค่การวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำท่วมเท่านั้น แต่ยังรวบรวมข้อมูลจุดเสี่ยงภัย ความเสียหาย ผลกระทบภัยพิบัติต่อความยากจน และผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
ผศ.สมพร ระบุด้วยว่า หากข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ ถูกนำมาใช้ หรือทำงานเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ จะสามารถวางนโยบายรับมือแก้ไขภัยพิบัติได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นเห็นว่าต้องตั้งศูนย์ข้อมูลวิชาการเพื่อการจัดการภัยพิบัติ เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเชื่อมประสานการทำงานของฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ครอบคลุมการจัดการภัยพิบัติทุกมิติ
“ผมเห็นด้วยกับกระบวนการแบบนี้ คือ ต้องการให้วิชาการเชื่อมโยงกันทั้งหมด ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัย จะเป็นสายเทคนิค อาชีวะด้วย หรือแม้แต่โรงเรียน ที่มีพลังในการศึกษาข้อมูลเรื่องการจัดการภัยพิบัติมิติต่าง ๆ บางครั้งมีนักเรียน นักศึกษา ที่เขาสนใจจะได้ไปนำใช้ในพื้นที่ตัวเอง หลังจากที่มาเรียนรู้วิทยาการเพื่อไปใช้จัดการภัยพิบัติในบ้านตัวเอง คือมีเป้าหมายมาพัฒนาบ้านตนเองด้วย สามารถจะสร้างเครือข่ายทั้งประเทศเลย เพราะความเชี่ยวชาญของนักวิชาการแตกต่างกันตามบริบทพื้นที่ ภาคเหนือภัยพิบัติแบบหนึ่ง ใต้ก็อีกแบบหนึ่ง ความเชี่ยวชาญจะสามารถส่งถึงกัน เป็นพี่เลี้ยงระหว่างกัน”
ผศ.สมพร ช่วยอารีย์