เครือข่ายประชาสังคมอัด รธน. 60 ละเลยสิทธิชุมชน จี้ รัฐบาลเร่งตั้ง สสร.

ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ผลักดัน 5 ข้อเสนอ มุ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สำเร็จในสภาชุดปัจจุบัน ชี้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย แต่เป็นอุปสรรคทางการเมือง 

วันนี้ (22 พ.ย. 2567) ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักการเมืองจากทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน องค์กรภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ที่มีเป้าหมายสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และเรียกร้องการจัดตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง จัดการประชุมครั้งที่ 2/2567 พร้อมข้อสรุปและข้อเรียกร้องสำคัญ ดังนี้

1. จัดตั้ง สสร. ให้เสร็จในรัฐบาลปัจจุบัน

ภาคีฯ เรียกร้องให้มีการจัดตั้ง สสร. ภายในอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ เพื่อเดินหน้าสู่การปรับปรุงรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

2. แก้รัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิประชาชน

ระหว่างรอการจัดตั้ง สสร. ภาคีฯ สนับสนุนการแก้ไขหมวดที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ การไม่เลือกปฏิบัติ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รวมถึงการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นในปี 2568

3. แก้ไขมาตรา 256 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เสนอให้รัฐบาลแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อวางกรอบและเปิดทางให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา

4. สนับสนุนการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน

รัฐบาลควรสนับสนุนงานวิชาการและรณรงค์สร้างความเข้าใจให้สาธารณชนเห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

5. เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย

ภาคีฯ จะยื่นหนังสือถึงพรรคการเมืองและวุฒิสภา เพื่อขอความคิดเห็นและสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หวัง รธน.ใหม่ เน้นสิทธิเสรีภาพ-กระจายอำนาจ

สมบูรณ์ คำแหง

สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ชี้ว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีข้อจำกัดมาก โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ การกระจายอำนาจ และกลไกทางการเมือง เช่น ระบบการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เป็นปัญหา ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหาทางกฎหมาย แต่เป็นอุปสรรคทางการเมือง โดยเฉพาะจากพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลและ ส.ว.

สมบูรณ์ กล่าวถึงความจำเป็นในการแก้ไขหมวดกระจายอำนาจเพื่อให้การปกครองท้องถิ่นเกิดผลอย่างแท้จริง และชี้ว่าหากไม่มีการจัดตั้ง สสร. ก่อนยุบสภา รัฐบาลชุดต่อไปจะต้องเริ่มต้นใหม่ ซึ่งอาจทำให้กระบวนการล่าช้า

อังคณา นีละไพจิตร

ด้าน อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา และอดีตสมาชิก สสร. ปี 2550 กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ให้ความสำคัญกับความมั่นคงมาก แต่ละเลยสิทธิกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และชุมชนท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงให้ครอบคลุม

“เรื่องของสิทธิชุมชม คำว่าชุมชนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิม หายไปจาก รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งๆที่เคยปรากฎใน รัฐธรรมนุญ 2540 และ 2550 นี้ ทั้งที่ เป็นสิ่งที่ประชาชน จะได้ใช้อ้างสิทธิ ปกป้องทรัพยากร” อังคณา กล่าว

อังคณา ยังตั้งข้อสังเกตว่า ในส่วนของ สว. ชุดนี้ ก็ถูกสังคมตั้งข้อสังเกต มีใครหนุนหลังหรือไม่ เวลาโหวตก็จะเห็นการลงเสียงที่หนาแนนในคนกลุ่มหนึ่ง สว. ที่ได้ชื่อว่าเป็น สว. ประชาชน ก็ต้องพิสูจน์ความอิสระ สิ่งที่เป็นประโยชน์ สว. ก็ควรสนับสนุน และแม้ว่าพรรคการเมืองจะหาเสียงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งกลับไม่มีความคืบหน้า

ภาคีฯ มองว่าการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นกระบวนการสำคัญที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แม้ที่ผ่านมาเสียงจากภาคประชาชนอาจถูกมองข้าม แต่ยังคงมีความหวังว่าพรรคการเมืองและผู้มีอำนาจจะรับฟังและตอบสนองความต้องการของสังคมต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active